ไทยร่วงอันดับ 34 ดัชนีเศรษฐกิจโลก นักวิชาการจุฬาฯ แนะรัฐเร่งพัฒนานวัตกรรม-ทักษะแรงงาน
คณะพาณิชย์ฯ จุฬา เผยรายงานดัชนีความสามารถด้านเศรษฐกิจในระดับโลก พบไทยร่วงอยู่อันดับ 34 ขณะที่ทักษะด้านการศึกษาไทย อยู่อันดับ 84 ทักษะของแรงงานอยู่อันดับ 83 ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์
วันที่ 28 กันยายน 2559 ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ประจำปี 2016 ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 138 ประเทศทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ด้วยคะแนน 4.6 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 32 และมีคะแนน 4.6 เท่ากัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 27 เป็น 13 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากในแง่ของ สมดุลในงบประมาณรัฐบาล (Government Budget Balance) สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Saving, %GDP) ที่สูงขึ้น และ สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Government Debt, %GDP) ที่ลดต่ำลง
นอกจากนี้ ในด้านของนวัตกรรม (Innovation) ที่ได้รับคะแนนเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ได้รับอันดับที่ดีขึ้นจาก 57 เป็น 54
รศ.ดร.พสุ กล่าวเปรียบเทียบประเทศไทยกับภาพรวมของการจัดอันดับทั้งโลก ปรากฏว่า ดัชนีชี้วัดที่น่าสนใจของประเทศไทย ที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกนั้น ประกอบด้วย สมดุลในงบประมาณรัฐบาล (Government Budget Balance) และ สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 138 ประเทศ (ดีขึ้นอย่างมากจากอันดับในปีที่แล้ว คือ อันดับที่ 46 และ 26 ตามลำดับ)
ส่วนขนาดของตลาดทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ (Foreign and Domestic Market Size) นั้น ได้รับการจัดอันดับที่ 13 และ 22 ตามลำดับ รวมถึง สัดส่วนของการส่งออกต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ก็ได้รับการจัดอันดับที่ 18 นับเป็นอันดับที่สูงมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางด้าน บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ (ได้รับอันดับที่ 23) ปัจจัยด้านการตลาด (ได้รับอันดับที่ 24) และ ระดับการมุ่งเน้นลูกค้า (ได้รับอันดับที่ 26) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าว ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในระดับโลก
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างสูงนั้น รศ.ดร.พสุ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน โดยดัชนีชี้วัดของไทยที่โดดเด่นในกรณีนี้ ประกอบไปด้วย ความน่าดึงดูดใจของทรัพย์สินทางธรรมชาติ (Attractiveness of Natural Assets) ที่ได้รับอันดับที่หนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN+3 เลยทีเดียว และการให้ความสำคัญของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง ที่ได้รับอันดับ 2 เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น นับว่า สร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างสูง ตามมาด้วย การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Extent of Virtual Social Networks Use) ที่ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เช่นกัน อีกทั้ง ในแง่ของ ความแข็งแกร่งของธนาคาร และ การเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศ (Local Capital Market Access) ได้รับอันดับ 3 เป็นรองเพียงประเทศ สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น เท่านั้น
รวมถึงปัจจัยทางการด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ประสิทธิผลในการใช้การตลาดและแบรนด์ดิ้ง (Effectiveness of Marketing and Branding) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้รับอันดับที่ 3 เช่นกันทั้งสองประเด็น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใน ASEAN+3 นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ ทั้งทางด้านการเงินและการตลาดในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้รศ.ดร.พสุ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อแนะนำต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) นั้น World Economic Forum ได้ให้ข้อแนะนำว่า ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เป็นพิเศษ นอกจากนี้เพื่อเตรียมรองรับต่อการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 (Fourth Industrial Revolution) ประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับทักษะของบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอนาคตการพัฒนาของภาคธุรกิจ และความสามารถทางด้านนวัตกรรม เพราะเมื่อดูตามผลการสำรวจพบว่า ทักษะด้านการศึกษาไทยยังอยู่ในอันดับ 84 และทักษะของแรงงานในปัจจุบันที่อยู่ที่อันดับ 83 ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนการสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย WEF (World Economic Forum) หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเฝ้ารอและจับตาดู นอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งในประเทศไทย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวประกอบไปด้วยรายละเอียด 3 กลุ่มปัจจัย แบ่งเป็น 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ได้แก่
กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ทางด้านสภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านสุขภาพและการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education)
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ซึ่งจะนำสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency) ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านพัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ขนาดของตลาด (Market Size)
กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา (Innovation and Sophistication) ซึ่งมุ่งเน้นการการผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านนวัตกรรม (Innovation)