ผู้บริหารเอสซีจี หนุนมหาวิทยาลัยไทย จับมือร่วมสร้างนวัตกรรม
คณะกรรมการสานพลังประชารัฐชี้สังคมต้องกล้าที่จะยอมรับความล้มเหลวเพื่อปูทางสู่ความสำเร็จ 'กานต์ ตระกูลฮุน' ยันสังคมนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ระบุชัด ไอเดียบนโลกนี้มีเป็นล้านไอเดีย มีแค่ 5% เท่านั้น ที่สามารถนำมาเป็นธุรกิจได้
วันที่ 27 กันยายน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU INNOVATION HUB : OPEN HOUSE จัดงานเสวนา "การปฎิรูปสังคมไทยสู่สังคมนวัตกรรม" ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย 6 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงนวัตกรรมหลายคนคงนึกถึงการผลิตสิ่งของไว้ใช้ แต่ความจริงแล้วนวัตกรรมมีหลายรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึงคน หรือ รูปแบบความคิดที่จะเอาไปใช้ในสังคม เพราะฉะนั้นมุมมองของนวัตกรรมคือต้องมีการนำไปใช้งาน สิ่งประดิษฐ์คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาไม่ได้หวังว่าจะมีคนใช้หรือไม่ แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมเราคาดหวังว่าจะต้องมีคนใช้งาน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีการใช้งาน
ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีนวัตกรรมเรื่องของความบันเทิงเยอะ เช่น โฆษณาใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งเด็กไทยมีความสามารถแต่ขาดเวที ดังนั้นบทบาทของจุฬาฯคือเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ ให้กับคนเก่ง ดี และมีไฟมาร่วมกันทำนวัตกรรมออกสู่สังคมไทย และจะขยายไปสู่สังคมอาเซียนและสังคมโลกได้ และอยากจะเปลี่ยนสังคมไทยที่เน้นความบันเทิงมาเป็นสังคมที่มีสติปัญญา อยากให้สังคมอุดมปัญญาควบคู่ไปกับสังคมแห่งการสร้างสรรค์ หากเราไม่เปิดหูเปิดตารับรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอก ก็จะไม่มีการเปิดใจ เมื่อไม่เปิดใจก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
"ความจริงย้อนกลับไปตอนผมเป็นนิสิตก็มีนวัตกรรมแล้วนะ อย่างนวัตกรรมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในตอนนั้นก็มีวงเฉลียง"
นายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องของการมีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างถึงขั้นที่เราสามารถยอมรับความล้มเหลวได้ ซึ่งวัฒนธรรมบ้านเราไม่ค่อยยอมรับ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้คนจะต้องกล้าคิดทำเรื่องใหม่พอกล้าที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ก็ทำให้ความล้มเหลวนั้นเป็นศูนย์
นายศุภชัย กล่าวว่า การที่บริษัทมีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงได้อย่างดี กล้ายอมรับความล้มเหลวและมองว่าความล้มเหลวเป็นจุดเริ่มต้นของการประสบความสำเร็จเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญมากๆ ตรงนี้ต้องมองย้อนกลับไปถึงระบบการศึกษาบ้านเรา คือเรามีบุคคลากรที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะประเทศไทยเปิดกว้างในเรื่องของวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีการรวมกันของวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ว่ากระบวนการศึกษาบ้านเราอาจจะยังไม่ยอมรับความล้มเหลว การที่เด็กคิดค้นสิ่งใหม่ให้เรามองว่า นั้นคือความสำเร็จ แต่อยากให้มองว่า ความล้มเหลวของเด็กคือความสำเร็จในอนาคต ถ้าเปิดกว้างมุมมองตรงนี้ได้ก็เหมือนองค์กรมองเด็กรุ่นใหม่ๆ ความล้มเหลวคือความสำเร็จ ถ้ามีการเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น ประเทศต้องยอมลงทุนและรับความเสี่ยงเพื่อให้เกิดการลงทุนในสิ่งใหม่ๆ
"ถ้าเด็กเกิดความล้มเหลวสังคมไทยชอบไปซ้ำเติม แต่หากว่าเราช่วยกันให้กำลังใจและเดี๋ยวเราไปต่อ อันนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องไปยังการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ"
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ กล่าวถึงมุมองสังคมนวัตกรรมว่า สังคมนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน มีส่วนทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ เกิดการสร้างมูลค่าแก่สินค้าได้ และจะต้องมีลูกค้าซื้อไม่ใช่มีแค่ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าดูจากข้อมูลจะพบว่า ไอเดียที่มีบนโลกนี้เป็นล้านไอเดียแต่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถนำมาเป็นธุรกิจได้
“ส่วนตัวทำเรื่องนวัตกรรมให้กับเอสซีจีมา 10 กว่าปี มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องยอมรับตามตรงว่า ในมหาวิทยาลัยเดียวกันคณะต่างๆยังไม่มีการร่วมมือกันมากเท่าที่ควร ยิ่งต่างมหาวิทยาลัยยิ่งไม่มีความร่วมมือกันเข้าไปใหญ่ กลายเป็นมหาวิทยาลัยไทยต้องไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพราะฉะนั้นคิดว่า ต้องเปลี่ยนแนวคิดตรงนี้ อยากให้ภายในหน่วยงานเดียวกันต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น”
นายกานต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะสนับสนุนมาตลอดคือนวัตกรรม สังคมนวัตกรรมต้องการการแลกเปลี่ยนกัน โดยสังคมไทยอาจจะเริ่มจากสังคมครอบครัวพ่อแม่ต้องยอมให้ลูกเห็นต่างได้ หรือลูกศิษย์ต้องเถียงอาจารย์ได้ ซึ่งผลของการเอาชนะท้าทายกันตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์
ขณะที่นายสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาเครือเนชั่นกรุ๊ป กล่าวว่า การจะมีนวัตกรรมใหม่ต้องเริ่มจากตัวเรา ถ้าจะมีอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงก็คือวัฒนธรรมไทย หากไม่เปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นไปไม่เลยที่จะมีนวัตกรรมเพราะในบริษัทต่างๆก็ยังมีคำว่าพี่ๆน้องๆอยู่ทำให้เกิดความเกรงใจ ฉะนั้นการจะปรับจะแก้อะไรก็จะต้องเกรงใจกันมาก
“หากคนรุ่นใหม่ๆที่กล้าเสี่ยงก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและจะนำไปสู่พลวัต และอยู่รอด ถ้าเชื่อว่านวัตกรรมจะทำให้องค์กรนั้นอยู่รอดได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเราก็จะต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน และเมื่อมันเกิดขึ้น งบประมาณส่วนใหญ่จะต้องทุ่มที่ตรงนั้น ไม่ใช่แบ่งเพื่อให้ทุกคนพอใจ”
นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมากนัก เทคโนโลยีในสังคมไทยที่ใช้ในการทำงานยังช้ามากๆ สิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับเริ่มต้นต้องตั้งเป้าเลยว่า จะต้องชนะสิงคโปร์ให้ได้ กำหนดเวลาไว้ให้ตัวเอง 10 ปี ถ้าวัดเรื่องความรู้ประสบการณ์เชื่อว่า ไม่แพ้สิงคโปร แต่ทำไมพอวัดผลแล้วกลับแพ้ ที่แพ้ไม่ใช่เพราะความสารถไม่พอหรือความรู้ไม่พอ แต่เราแพ้เพราะอึดไม่พอ แพ้เพราะกลัวความล้มเหลว
“นวัตกรรมต้องสร้างสังคมที่กล้าตั้งคำถามที่กล้าทำสิ่งที่ไม่เคยทำและต้องให้ความสำคัญกับวิธีคิดและวิธีการทำงานอย่างสตาร์ทอัพ คิดว่าองค์กรใหญ่ๆจะไปไม่รอดไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากี่สิบปี มาถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนโลกได้ภายในไม่กี่ปี เห็นชัดเจนในวงการสื่อที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเปลี่ยนแปลงใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี
ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราจะไปไม่ถึงไหน เพราะ ประเทศไทยล่าช้าและแพ้เพื่อนบ้าน เอาสิงคโปร์เป็นหลัก แพ้เขาเกือบทุกเรื่อง ฉะนั้นไม่มีทางที่เราจะทำทีละเล็กทีละน้อยแล้วเราจะก้าวไปได้ทัน เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ไขหลายๆเรื่องเราต้องแก้ไขปัจจุบันทันด่วน"