มองต่างมุมกรณี"คนนอก"ในแพทยสภา
"..การแก้ไขปัญหาต่างๆ..ที่อยู่ "นอก"อำนาจแพทยสภา ย่อมเป็นไปได้ยาก วันนี้เราพยายามแก้ไขปัญหาในอำนาจหน้าที่เป็นหลัก และทำไปได้มาก หลายอย่างที่ไปไม่ได้ เพราะติดกฎหมายรอแก้ไข.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา นำบทความ ของ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง"เรื่องจริงของแพทยสภาประเทศอื่น" อ้างคำพูดของ ศ.นพ.ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับข้อเขียนของน.ส.สารีอ๋อง สมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่อง"อ่านแล้วจะตอบคำถามได้ว่า ทำไมแพทยสภาต้องมีคนนอก " มานำเสนอทั้ง 2 บทความ ในเวทีทัศน์ เรื่อง วิวาทะ"นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขาVSสารี อ๋องสมหวัง" ว่าด้วย "คนนอก"ในแพทยสภา
(อ่านประกอบ : วิวาทะ"นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขาVSสารี อ๋องสมหวัง" ว่าด้วย "คนนอก"ในแพทยสภา)
ล่าสุด พล.อ.ต. นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า “Ittaporn Kanacharoen" นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง ในชื่อว่า "มองต่างมุม"
ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้
"มองต่างมุม"
..ไม่ว่ามุมใดข้อเท็จจริงก็ยังเป็นความจริง..
บางเรื่องใช่ บางเรื่องไม่ใช่ ..บางเรื่องมองได้ทั้งสองมุม..
ต้องทำความเข้าใจดีๆ
จริงๆแล้วแพทยสภามีคนนอก ใน อนุกรรมการด้านจริยธรรม เหมือน อังกฤษ อยู่แล้วครับ แต่ไม่ได้เข้ามาในหน้าที่ จัดระบบการศึกษา ปริญญาตรีแพทยศาสตร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 81 สาขา และ ราชวิทยาลัยต่างๆ ที่ดูวิชาการ ความก้าวหน้า และมาตรฐาน การแพทย์
แพทยสภาไทยจึงต่างจากประเทศในเครือจักรภพ เพราะเรามีกลไกหลักในการสร้าง"หมอ"เองแทบทั้งหมด ผ่าน สกอ. และ คณะแพทย์ ตามแนวทางตั้งแต่สมัยพระราชบิดา ขณะที่อังกฤษไม่เน้นสร้างแต่ import หมอจากข้างนอกเข้ามา เน้นคุมมาตรฐาน ตัดสินคดี ลงโทษ
กลไกหลักจึงต่างกัน กลไกหลักของเขา อยู่ในกลไกรองของเรา
กรรมการแพทยสภาไทยชุดใหญ่ ซึ่งมีคณบดีคณะแพทย์ 21 คน เจ้ากรมแพทย์ทหาร 3เหล่าทัพ และตำรวจ ปลัด สธ.และอีก 2 อธิบดี ที่รวมกับกรรมการจากการเลือกตั้งจำนวนเท่ากันจึงเป็นการ บาลานซ์ ภาครัฐ และ ภาคเสียงจากสมาชิก อย่างพอดี
กรรมการใหญ่นี้จึงมีหน้าที่ หลากหลาย ครอบคลุม ตั้งแต่นักศึกษาแพทย์ ถึง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ราชวิทยาลัย และเชื่อมโยง นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ ครอบคลุมทั้งรัฐ เอกชน ประสานงานระบบสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ เทียบแล้ว ทำงานได้ครบวงจรมากกว่าประเทศในเครือจักรภพอังกฤษมาก ตามโครงสร้าง
เพราะเหตุกลไกคนละแบบ กรรมการจึงต่างกัน ในภาคใหญ่ ...
แต่ภาคจริยธรรมของเรา ทุกวันนี้ ก็้มีคนนอกเหมือนกันกับเครือจักรภพอยู่แล้ว.. สรุปที่ขอให้เหมือนอังกฤษ จริงๆคือมีคล้ายๆกันอยู่แล้วครับ โดยคนนอกที่มีความรู้จริงทางกฎหมาย อัยการ อดีตผู้พิพากษา มาให้ความเป็นธรรมประชาชน ในชุดจริยธรรม
ส่วนกลไกควบคุมราคาที่มักพูดถึงแพทยสภา เรียนว่าเหนืออำนาจแพทยสภา ..อาจเกี่ยวตรงค่าแพทย์ ที่แพทยสภาทำมาตรฐานบังคับไว้แล้ว ..ค่าอื่นๆ เราก็รอดูการแก้ไขปัญหาโดย ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือ สบส. กระทรวงสาธารณสุขครับ ที่มีหน้าที่ดูแลสถานพยาบาลเอกชน และมีอำนาจจัดการได้ ตาม พรบ.สถานพยาบาล สั่งเปิด-ปิด รพ.ได้ ลงโทษได้ หากทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง ฉ้อโกง ราคาแพง (ไม่ใช่อำนาจของ พรบ.วิชาชีพเวชกรรม นะครับ)
เรื่องเวลาการพิจารณาคดีที่ช้าเป็นเพราะวงจรกฎหมายตามข้อบังคับ และ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมที่วางไว้ เลียนแบบระบบเดียวกับศาลยุติธรรม ที่ใช้เวลามากเหมือนๆกัน 1 คดี ผ่านกรรมการ 6 ชุด และปรึกษา 14 ราชวิทยาลัย และสมาคมอีกราว 100 กว่า สมาคม เป็นหลัก..ช้าแต่พลาดไม่ได้และต้องแม่นยำ คดีหนึ่งๆ กรรมการ 6 ชุดลงโทษ มีคนเกี่ยวข้อง เกือบร้อยกว่าคน เยอะมากครับ ..
แพทยสภากำลังขอแก้กฎหมายลดขั้นตอนโดยไม่ให้เสียความเป็นธรรมลงครึ่งหนึ่ง ถ้าทำได้ เวลาจะรวดเร็วขึ้นมากครับ ลุ้นๆ
หากกลัวหมดอายุความ..ฟ้องศาลได้เลยครับ กลไกการฟ้องศาลทุกวันนี้ ฟ้องตรงได้ไม่ต้องรอแพทยสภาอยู่แล้วครับ ตามสิทธิของผู้ป่วยไม่ต้องกังวล และมีพยาน
คนกลางที่ไม่ต้องผ่านแพทยสภาหรือหน่วยงานใดๆ น่าจะดำรงความยุติธรรมได้มาก พยานที่ศาลร่วมกับแพทยสภาอบรมไปแล้วครับ และยังมีคดีผู้บริโภคที่ฟ้อง ง่าย ฟรี สะดวก ไว้รับรองอีก จนหมอๆกลัวกันเพราะฟ้องง่ายไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่เพราะฟ้องยาก! และมี สคบ.ให้ฟ้องได้อีกที่ หลากหลายมากครับ
ขณะนี้แพทยสภา ผลิตแพทย์ปีละเกือบ 3,000 คน จาก 21 คณะแพทยศาสตร์ ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 81 สาขา ปีละ ราว 1,800 คนไปรักษาคนไข้ปีละกว่า 200 ล้านครั้ง มีปัญหาราว ร้อยกว่าราย คือ หนึ่งต่อล้าน การจัดการมาตรฐานถือว่าคณะแพทยศาสตร์ และ ราชวิทยาลัย ทำได้ดีมาก เข้าข่ายระดับ นานาชาติ ... แต่ไม่สามารถลดความขัดแย้งเหลือศูนย์ได้ ซึ่งเป็นตามธรรมชาติ เพียงทำให้ลดน้อยที่สุด
...คดีที่เครือข่ายยกตัวอย่างมา เป็นเรื่องรวมในรอบหลายปีรวมกัน รายเดิมที่คุ้นเคย แม้ไม่มาก แต่เราทุกคนเสียใจ และ พยายามไม่ให้เกิดขึ้น อีก โดยความร่วมมือสร้างมาตรฐานสารพัด ทั้งแนวทางการรักษา มาตรฐาน รพ. โดย สรพ. HA JCI ISO ด้วยซ้ำเพื่อผู้ป่วยของเรา วันนี้คดีก็ลดลงเยอะมากแล้ว เว้นแต่รูรั่วเรื่องคดีความงาม ที่ทุกฝ่ายพยายามระดมสมองช่วยกันแก้ครับ
การแก้ไขปัญหาต่างๆ..ที่อยู่ "นอก"อำนาจแพทยสภา ย่อมเป็นไปได้ยาก วันนี้เราพยายามแก้ไขปัญหาในอำนาจหน้าที่เป็นหลัก และทำไปได้มาก หลายอย่างที่ไปไม่ได้ เพราะติดกฎหมายรอแก้ไข
การเติมคนนอก ในกระบวนการยุติธรรม วันนี้มีเรียบร้อยแล้ว แต่เติมในวงใหญ่ที่มีระบบการศึกษา การปรึกษาแนะนำ รัฐบาล การออก กฎ ระเบียบ กฎหมาย ซึ่งนอกจากจะไม่ตรง แก้อะไรไม่ได้เพราะอยู่คนละโหมดหน้าที่แล้ว ยังอาจเกิดปัญหาใหม่มากกว่าครับ
ทุกอย่างหากมีโอกาสเปิดใจ เปิดข้อมูลคุยกันจริงๆ และใช้เหตุผล น่าจะแก้ปัญหาได้มากกว่าการสื่อสารผ่านสื่อนะครับ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ทั้งหมอ และ เครือข่าย ต่างทำเพราะรัก และหวังดีต่อคนไข้ และประชาชน ด้วยกันทั้งคู่ ..ในที่สุดเชื่อว่าเมื่อหันมาเข้าใจกัน น่าจะจบด้วยดีนะครับ
หมออิทธพร
26.09.2559