วิวาทะ"นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขาVSสารี อ๋องสมหวัง" ว่าด้วย "คนนอก"ในแพทยสภา
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภาได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง"เรื่องจริงของแพทยสภาประเทศอื่น" อ้างคำพูดของ ศ.นพ.ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับข้อเขียนของน.ส.สารีอ๋อง สมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่อง"อ่านแล้วจะตอบคำถามได้ว่า ทำไมแพทยสภาต้องมีคนนอก " สำนักข่าวอิศรา" จึงนำบทความของทั้งสองฝ่ายมานำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านพิจารณา
"เรื่องจริงของแพทยสภาประเทศอื่น"
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
25 ก.ย. ผมพบกับกรรมการแพทยสภาของสิงคโปร์เมื่อสักครู่นี้ที่ไซง่อนมาประชุม AEC
ผมถามเรื่องการมีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาเกือบ 50%ที่ NGO เขียน ปรากฎว่าในกรรมการแพทยสภา 25 คน เป็นแพทย์ทุกคน เลือกตั้งครึ่งหนึ่งเหมือนของไทย คนนอกวิชาชีพมีแต่อนุกรรมการจริยธรรม. ไม่ใช่กรรมการแพทยสภา (เหมือนไทย)ของมาเลเฃีย 19 คนต้องเป็นหมอทุกคน.
ในสหภาพยุโรปทั้งหมด มีประเทศอังกฤษประเทศเดียวที่มีคนไม่ใช่แพทย์เป็นกรรมการ 6 คนใน 12 คน แต่เดิมอังกฤษมีแต่แพทย์และมีการเลือกตั้ง ปัจจุบันแต่งตั้งทั้งหมด ทำหน้าที่เหมือนกองประกอบโรคศิลป ไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาหรือการฝึกอบรมให้วุฒิบัตร คนที่ไม่ใช่แพทย์ก็เป็นพวกขุนนางชั้นสูง ไม่ได้เอาชาวบ้านมาเป็น อังกฤษมีแพทย์ต่างชาติขึ้นทะเบียนเกินร้อยละ 30 ของแพทย์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอินเดีย ปากีสถานและไนจีเรีย ถ้าเลือกตั้งมีหวังโดนต่างชาติยึดอำนาจ
ประเทศอื่นไม่มีใครเอาเพราะไม่มีปัญหาแพทย์ต่างชาติ เยอรมันนีมีแพทย์ต่างชาติเพียงร้อยละหนึ่งและเป็นพวกยุโรปด้วยกัน.
เรื่องที่ NGO เขียนเป็นเรื่องเหลวไหลทั่งสิ้น
เช่น เรื่องคดีหมดอายุความเพราะแพทยสภาตัดสินช้า ไม่เห็นเกี่ยวกับการฟ้องศาลตรงไหน เพราะศาลไม่ได้บังคับว่าต้องให้แพทยสภาตัดสินก่อนจึงฟ้องได้ (คนละเส้นทางฟ้องได้เลยไม่ว่าตำรวจจะรับแจ้งความหรือไม่ สามารถฟ้องตรงได้ไม่ต้องรอแพทยสภาอยู่แล้ว)
เรื่องค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแพทยสภา (เพราะกำกับโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับดูแลสถานพยาบาล อนุญาตเปิด จนถึงสั่งปิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ)
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
อ่านแล้วจะตอบคำถามได้ว่าทำไมแพทยสภาต้องมีคนนอก
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สถานการณ์ปัญหา
- ความไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาตัดสินปัญหาด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลและจริยธรรมของแพทยสภา
- ความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทำให้คดีหมดอายุความ
- ผู้ป่วย ญาติสาธารณะขาดความไว้วางใจ ถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการของแพทยสภา
- ผู้ป่วยใช้การฟ้องร้องต่อศาลก่อนคำวินิจฉัยของแพทยสภา
- การไม่ร้องเรียนต่อแพทยสภา แต่ใช้ช่องทางของกระบวนการยุติธรรม
- ถูกตั้งคำถาม ครหาว่า ทำหน้าที่ในฐานะแพทยสมาคมมากกว่าแพทยสภา
- การคุ้มครองสิทธิแพทย์มากกว่าผู้ป่วยหรือประชาชน เช่นกรณีการออกประกาศสิทธิแพทย์ การผลักดันการออกพระราชกฤษฎีกาตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
- การคัดค้านการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทั้งที่มีเป้าหมายสำคัญคือลดการฟ้องร้องแพทย์โดยมีการจ่ายเงินเพื่อรับผิดแทนแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพ
- การสนับสนุนให้เพิ่มความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ เช่น มาตรการสนับสนุนด้านการดำเนินคดีกับผู้บริโภค
- กดดันกระบวนการยุติธรรม เช่น การทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การจัดประชุมร่วมกับผู้พิพากษา อัยการจังหวัด เป็นต้น
- ความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อสาธารณะ เช่น การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องกับสมาชิก เช่น การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ(CL)
ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการวินิจฉัยข้อร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษาและจริยธรรมจากแพทยสภา ในหลายกรณีเช่น
- ดอกรัก เพชรประเสริฐ
- ศิริมาศ คงจันทร์
- ศิริพร นุรารักษ์
- ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
- วิลาวัลย์ ทีระฆัง
- ฯลฯ
ภารกิจของแพทยสภาที่แตกต่างจากแพทยสมาคม
- คุ้มครองผลประโยชน์ประชาชนมากกว่าผลประโยชน์วิชาชีพ
- สร้างความมั่นใจเกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
- ได้รับการยอมรับจากประชาชนเพิ่มขึ้น
- ความคืบหน้าและความตื่นตัวของเรื่องนี้ในต่างประเทศที่ เช่น คณะกรรมการแพทยสภามีองค์ประกอบจากบุคคลภายนอกในหลาย ๆ ประเทศ และพบว่า สามารถลดความขัดแย้ง ได้รับการยอมรับ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือจากประชาชนและผู้บริโภค
หลายประเทศมีบุคคลภายนอกในคณะกรรมการแพทยสภา เช่น
- ประเทศอังกฤษมีบุคคลภายนอกหรือ laymanมากถึง 50%
- ออสเตรเลีย มีอาจารย์สาขาอื่นที่ไม่ใช่แพทย์จำนวน 4 คน จากกรรมการทั้งหมด 7 คน
- สิงคโปร์ มีคนนอกเกือบ 50% จำนวน 9 คน จาก19 คน
- อินโดนีเซีย มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคจำนวน 3 คนจาก 17 คน
- ฮ่องกง จำนวน 4 คน จาก 28 คน
- มาลาวี จำนวน 2-3 คน จาก14 คน
- นิวซีแลนด์ จำนวน 3 คน จาก11 คน
- แคนาดา จำนวน 3 คน จาก 48 คน
- ไอซ์แลนด์ จำนวน 4 คน จาก 24 คนเป็นต้น
ข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการแพทยสภา ให้มีบุคคลภายนอก นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส การยอมรับของประชาชน และความเป็นธรรมในการดำเนินการของแพทยสภาที่มีภารกิจในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
- กำหนดให้นายกแพทยสภา อุปนายกแพทยสภา เลขาธิการ และรองเลขาธิการ ต้องไม่เป็นผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินการที่อาจขัดแย้งต่อการทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนตามวัตถุประสงค์ของแพทยสภา
- การเพิ่มเติมการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย ในการออกนโยบาย มาตรการ ประกาศ ข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนตาม พรบ.นี้
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค