คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
"การสร้างบ้าน คนจะนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเปลี่ยนแปลงก็ควรคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ถึงต้องรื้อประชาชนก็รับได้ แต่การที่คุณรื้อ มันเท่ากับคุณรื้อชุมชนและประวัติศาสตร์" ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนดั้งเดิม รวมไปถึงความกังวลเรื่องผลกระทบทางระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ทำให้หลายฝ่ายต้องออกมาโต้แย้ง เสนอแนวคิด เพื่อให้เห็นมุมมองหลาย ๆ ด้าน ก่อนเริ่มตัดสินใจดำเนินการต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา "ผู้คน ชุมชม เจ้าพระยา : ข้อมูลและมุมมองทางวัฒนธรรม” ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการที่ทางคณะยอมถูกต่อว่ามานาน หลังที่เข้าร่วมโครงการฯ ถึงส่วนตัวไม่อยากเห็นด้วยกับการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่แรก แต่มีเหตุผลอยากเข้าให้ข้อมูลของชุมชนได้เป็นประโยชน์กับทางโครงการฯ ได้นำเป็นข้อมูลจากการตัดสินใจที่จะดำเนินการไปใช้เกิดประโยชน์จริง
ทั้งนี้ การเข้าร่วมของคณะคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สลจ.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้นำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่
ผศ.ชวลิต เล่าว่า แม้ครั้งแรกจะไม่เห็นด้วยกับรูปแบบและจะเชิญเข้าร่วมทำไม แต่เมื่อทาง สจล.ติดต่อมาว่า อย่าให้ความคิดอื่นมาครอบงำ จึงอยากเชิญคณะโบราณคดีให้ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา เพื่อเป็นฐานข้อมูลใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ จากการเห็นถึงกระบวนการทำงานที่มีจุดอ่อน คือ การขาดข้อมูลด้านโบราณขาดข้อมูลด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา ที่เป็นเรื่องราวของผู้คน จึงตัดสินใจเข้าร่วม แต่ยืนยันว่าถ้าเป็นการนำข้อมูลไปศึกษาเพื่อบังหน้า ทางคณะฯ จะขอถอนตัวออกทันที
ด้านผศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา แสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ทางเลียบเจ้าพระยา โดยให้เหตุผลว่าตัวแบบของโครงการฯ เป็นการตัดขาดวิถีชีวิตผู้คนของชุมชน แต่เมื่อถูกเชิญให้เข้ามาร่วมทีม ก็ได้รับมอบหมายเป็นการให้ดำเนินการของพื้นที่ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวม 14 กิโลเมตร โดยใช้วิธีการศึกษาจากแผนที่ หนังสือเก่า เอกสารการวิจัย และภาพถ่ายดาวเทียม มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมโบราณ และเส้นทางน้ำ ลำคลองต่างๆ รวมถึงการพูดคุยกับชุมชน เชื่อมโยงตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน
“ถ้าไม่เข้าใจอดีต เท่ากับการตัดขาดรากของตัวเองด้วยความไม่เข้าใจ”ผศ.ดร.กรรณิการ์ กล่าว
ทางด้าน นางสาวศศิธร ศิลป์วุฒยา อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนว่า ทำให้เห็นร่องรอยประวัติศาสตร์ชุมชนริมเจ้าพระยา จากการเลือกชุมชนมิตตคามและชุมชนสามเสน ที่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงแม่น้ำ จึงสอบถามคนในชุมชน ลงพื้นที่สังเกตการณ์ ดูข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัย ทำให้พบความกลมกลืนของชาวโปรตุเกสและเขมร
"อย่างการเรียกญาติพี่น้องเป็นภาษาโปรตุเกสของผู้ใหญ่ในชุมชน แสดงให้เห็นว่า ยังมีการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ ส่วนการติดต่อชุมชนญวนที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3 ของชุมขนสามเสน จัดเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ คลองสามเสนมีการเชื่อมระหว่างแม่น้ำกับชุมชนจนเกิดตลาด เป็นแหล่งค้าปลีกสำคัญ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจากการพัฒนาเขื่อนริมน้ำ ทำให้อาชีพเปลี่ยนตาม ผู้คนจำนวนหนึ่งของชุมชนจึงต้องย้ายออก"
ทุกตารางเมตรของชุมชน คือโบราณสถาน
เมื่อการดำเนินโครงการฯ ต้องกระทบหลายชุมชนทั้งการรื้อบ้าน สถานที่ต่าง ๆของชุมชนนั้น แต่ลืมไปแล้วหรืออย่างไรว่า ทุกตารางเมตร ทุกพื้นที่ในชุมชนเป็นพื้นที่เก็บวัฒนธรรม วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ที่สำคัญไว้มากมาย เรื่องนี้ นายวโรภาส วงศ์จตุภัทร นักภูมิสถาปนิก กองโบราณคดี กรมศิลปากร เล่าวว่า ได้ถูกเชิญให้เป็นผู้แทนร่วมในส่วนของผู้ว่าจ้าง เป็นอนุกรรมการของกรรมการชุดออกแบบและภูมิสถาปัตย์จากการที่มีทีมงานสจล.บางส่วนเห็นความสำคัญเรื่องวัฒนธรรม จึงติดต่อกรมศิลป์ ให้เข้าไปกำหนดแนวทางเชิงอนุรักษ์กับพื้นที่ ซึ่งพูดกันตามความจริงโครงการฯ นี้จัดว่า เป็นโครงการเชิงอนุรักษ์ ไม่ใช่การพัฒนาอย่างเดียว
เขาเห็นว่าโครงการฯ เริ่มแปลกไปของการออกแบบ จึงกล่าวให้ทราบว่า หากยึดตามความหมายในพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ พื้นที่ทุกตารางเมตรของโครงการฯ เป็นโบราณสถาน แหล่งชุมชนที่จัดว่า เป็นชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยา ถือได้ว่า เป็นแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติที่สำคัญสูงสุด ทั้งนี้พื้นที่ในโครงการฯ มีโบราณสถานขึ้นทะเบียนประมาณ 20 แห่ง และที่เตรียมขึ้นทะเบียนมีกว่า 20 แห่ง กระบวนการใดๆ ต้องดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.ด้วย การจะทำอะไร ควรคิดไตร่ตรองว่าอะไรสมควรทำ หรือ ไม่สมควรทำ
วโรภาส กล่าวด้วยว่า หากดูการออกแบบที่ผ่านมาพบว่า ไม่ได้มีการนำข้อมูลไปใช้ เพราะการออกแบบและข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน แต่เหมือนเป็นการตั้งธงว่าจะทำทางเลียบแม่น้ำ ซึ่งผิดมาตั้งแต่แรก เกิดคำถามมากมายว่า ยังจำเป็นหรือไม่กับความคิดการทำทางเลียบเพื่อลดการจราจร เพราะสุดท้ายในแบบ TOR ยังไม่ทิ้งเส้นทาง ทั้งยังระบุให้เป็นทางของจักรยานและทางเท้า ไม่ทราบเช่นกัน ทำไมต้องระบุ
"สุดท้ายก็ภาวนาอย่าให้เกิด เหตุคิดว่า การมีทางเลียบฯ คุณค่าทางวัฒนธรรมคงเสื่อมลง แต่คงต้องยอมรับสภาพถ้าเกิดขึ้น” วโรภาส แสดงความเห็น
การพัฒนาต้องควบคู่กับชุมชน
ชุมชนจะรู้ดีว่าอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับแหล่งชุมชนที่อาศัย วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขา อย่าพัฒนาโดยการทำลายวัฒนธรรมและสิ่งต่างๆ ที่ควรอนุรักษ์ให้สูญหาย อย่าทำให้เรื่องการพัฒนาเป็นเรื่องน่ากลัวแก่ชุมชน
ศาตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์อาวุโสชื่อดัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า พอมีเรื่องราวก็ขับไล่คน และค่อยเก็บสถานที่ แต่ไม่เก็บคน ผิดกับต่างประเทศทางยุโรปที่เก็บทั้งชุมชนและสถานที่ การพัฒนาที่น่ากลัว คือการรื้อวัด รื้อวัง บ่งบอกชัดว่า เป็นการทำลายโบราณสถาน หากจะสร้างก็ควรดูว่าสิ่งที่บอกอะไรกับตรงนั้น การสื่อความหมายต้องชัดเจนกับชุมชน
“การสร้างบ้าน คนจะนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเปลี่ยนแปลงก็ควรคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ถึงต้องรื้อประชาชนก็รับได้ แต่การที่คุณรื้อ มันเท่ากับคุณรื้อชุมชนและประวัติศาสตร์ ตะเข้ เป็นสัญลักษณ์เจ้าพระยา เจ้าพระยาไม่มีพญานาค แต่ถ้าพญานาคต้องคู่กับแม่น้ำโขง”
แผนแม่บท ต้องมาก่อน แผนกายภาพ
แผนแม่บท คือ ตัวการศึกษาข้อมูล การลงเก็บพื้นที่ การได้เห็นความละเอียดและใส่ใจในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงไปสู่แผนกายภาพ แต่ถ้าเริ่มเพียงทำแผนแม่บทขึ้นมาเพื่อบังหน้า แต่มีแบบร่างล่วงหน้า ความเหมาะสมกับพื้นที่และความสมควรทำหรือไม่ทำ จะวัดจากตรงไหน
นายภราเดช พยัฆวิเชียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวถึงในฐานะที่เป็นนักวางแผน การทำงาน 7 เดือนไม่สามารถทำให้ครบบริบทได้ เหตุจากระยะเวลาที่สั้นเกิน การศึกษาด้านแม่บทจะช่วยด้านการจัดการในแต่ละพื้นที่ว่าอะไรเหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้นหรืออะไรไม่ควรทำ เพื่อเป็นภาพร่างของการทำงานด้านกายภาพ การสร้าง การออกแบบต้องมีข้อมูลเชื่อมต่อกันอย่างสมเหตุสมผล
กระบวนการมีส่วนร่วม สำคัญไฉน
การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง หรือการที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมกับสิ่งนั้น ย่อมมีความผูกผันมากกว่า การยอมถูกบังคับให้รักในสิ่งที่เราไม่ได้แม้แต่จะมีส่วนร่วมของความคิดในการทำสิ่งนั้น
ในกระบวนการมีส่วนร่วม นายภราเดช กล่าวว่าต้องเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนจากแหล่งชุมชนต่างๆ เก็บข้อมูลจากพวกเขาเพื่อจะได้รู้ว่าอะไรทำแล้วเหมาะสม อะไรที่ควรเลี่ยงหนีออกไป ตามข้อ (1) การสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างแบบ ต้องคำนึงถึงว่าเมืองเคยเป็นอย่างไร (2)ควรทำให้ชุมชนเขารู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งที่จะสร้าง เพราะเขาจะได้ดูแลรักษาจากใจ แต่ไม่ใช่จากการบังคับให้รักษา (3)ให้ทุกส่วนได้มีการเข้าถึงทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ภราเดช กล่าวถึงกระบวนการทำงานที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยเพราะการดำเนินงาน เพราะแต่ละขั้นตอนดูไม่เหมาะสม เมื่อผิดก็ควรหยุดแก้ไขก่อนที่จะเป็นปัญหางวงกว้างแบบนี้
“หากรู้ว่ากลัดกระดุมผิดตั้งแต่แรก ก็ควรแก้ไขให้มันถูกตั้งแต่ตอนนั้น”
ด้านนายอดุลย์ โยธาสมุทร เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดบางอ้อ และอดีตประธานสภาเขตบางพลัด ผู้ใช้ชีวิตริมเจ้าพระยามาทั้งชีวิต มองว่า หากจะสร้างอะไรขึ้นมา ให้มองวัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน ถึงแม้โครงการฯ จะมีด้านบวก แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีด้านลบที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชน
“กรุณา อย่าสั่งให้คนในชุมชนทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ แต่ควรให้เขาทำในสิ่งที่เขาภูมิใจในสิ่งนั้น” อดุลย์ กล่าวด้วยความห่วงใย และแสดงความเห็นทิ้งท้าย การดำเนินงานของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระบวนการทำงานต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงชุมชน วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่และการให้ความมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้ชุมชนรู้สึกความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ลูกน้องที่ต้องทำหน้าที่รักษาดูแล สิ่งที่ไม่ได้ร่วมสร้างและรู้สึกอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ท้ายที่สุด สิ่งที่นักพัฒนาทั้งหลายต้องใส่ใจคือการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับชุมชน ต้องดูความเหมาะสมว่าควรหรือไม่ควบคู่พื้นที่ชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำ อย่าแยกสิ่งเหล่านี้ออกเพื่อบอกว่าเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้น ถ้าชุมชนยังเหมือนถูกความพัฒนาทำลายวัฒนธรรมของพวกเขา สิ่งที่ควรอนุรักษ์เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์จะสูญหายไปอย่างที่ผ่านมา