CLMV กับชายแดนไทยจันทบุรีและตราด
จันทบุรี-ตราด "สองเมืองหลวงเศรษฐกิจ" ของ CLMV อย่างรวดเร็วและสะดวกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ประเทศไทยยังมีอนาคตแน่นอนครับ เป็นอนาคตที่เชื่อมโยงเข้ากับ CLMV ที่ยังจะขยายตัวเติบใหญ่ไปอีกนาน จันทบุรีกับตราดจะเป็นสะพานเชื่อมเข้ากับอนาคตนั้นอย่างสำคัญ ถ้าทำเป็นนะครับ ขอเพียงให้ทำเป็น
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง CLMV กับชายแดนไทยจันทบุรีและตราด
----
C คือ กัมพูชา หรือ Cambodia
L คือ ลาว หรือ Laos
M คือ พม่า หรือ Myanmar
V คือ เวียดนาม หรือ Vietnam
เดิมสี่ประเทศนี้ ซึ่งเราเรียกรวมๆว่า CLMV ค่อนข้างยากจน ค่อนข้างล้าหลังกว่าไทยและประเทศอื่นๆที่เหลือในกลุ่มอาเซียน แต่ปัจจุบัน ประเทศกลุ่มนี้กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก
ในขณะที่บ้านเราเศรษฐกิจโตช้า ราว 1-3 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่ CLMV เฉลี่ยแล้วเติบโตไม่ต่ำกว่า 7 เปอร์เซนต์ ต่อปี โตเร็วกว่าไทยมาก และเร็วยิ่งกว่าจีนเสียอีก ในขณะนี้
CLMV มีประชากรถึงเกือบ 170 ล้านเปรียบเทียบกับไทยมีเพียง 66 ล้านในการค้าขายของไทยกับ CLMV นั้น ปรากฏว่าสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปยัง CLMV มีมูลค่าสูงรองจากส่งออกของจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น เท่าๆกับส่งออกของอเมริกาหรือยุโรปทีเดียว
สินค้าไทยถือเป็นสินค้าชั้นดีในความเห็นของผู้บริโภค CLMV แม้ในโฮจิมินห์ก็เห็นกันอย่างนั้น ซึ่งเมืองนี้ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดใน CLMV มีขนาดของประชากรเท่าๆ กับกรุงเทพฯ มีระดับความเจริญตามหลังไม่มากนัก คงสัก 10-15 ปี และในกรุงพนมเปญ ซึ่งก็มีประชากรราว 2-3 ล้าน และมีระดับความเจริญช้ากว่าเราราว 15-20 ปี ก็รู้สึกคล้ายกันอย่างนั้น ซึ่งพนมเปญนั้นมีโอกาสใช้สินค้าจีน เวียดนาม และไทย ได้เท่าๆกัน แต่ก็มักจะลงความเห็นกันว่าสินค้าไทยนั้น "ดี" ที่สุด และ "คุ้มค่าเงิน" ที่สุด
สินค้าไทยนั้นหมายรวมตั้งแต่ข้าวสาร บะหมี่สำเร็จรูป ผงซักฟอก แชมพู สบู่ยาสีฟัน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า หยูกยา เวชภัณฑ์ ของใช้กับของเล่นของเด็ก ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ และรถเก๋ง รถบรรทุก รวมกระทั่งถึงอาหารไทย การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลในประเทศไทย
การค้าขายไทยกับ CLMV นั้น เวลานึ้สำคัญพอๆกับการค้าที่ทำกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งผ่านต่อไปสิงคโปร์ด้วย แล้ว และผู้ใช้แรงงานของ CLMV ก็เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายล้านคน แม้ชาวเวียดนามซึ่งไม่ได้อยู่ชิดติดไทยก็ยังเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ภาคอีสานและในกรุงเทพฯไม่น้อย
กล่าวโดยทั่วไป พี่น้อง CLMV ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ นักท่องเที่ยวผ่านทาง นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวล้วนรู้สึกกันว่าเมืองไทย คนไทย สินค้าไทย บริการไทย นั้น ล้วน"ดี"
การค้าขายและเดินทางผ่านชายแดนของไทยเรากับ CLMV ก็สำคัญมาก และเราได้เปรียบดุลการค้า ดุลการท่องเที่ยวและดุลบริการกับทุกประเทศใน CLMV นี้ ในบรรดาเมืองชายแดนของเรานั้น มีแม่สาย แม่สอด ค้าขายกับพม่ามาก มีเชียงแสน เชียงของ กับ หนองคาย อุดร มุกดาหาร ที่ค้าขายมากกับลาว มีสระแก้ว จันทบุรี ตราด ค้ามากกับเขมร นี่เลือกกล่าวถึงเฉพาะจุดที่สำคัญมาก ๆ เท่านั้น
ในบรรดาเมืองชายแดนทั้งหลายนั้น "จันทบุรีและตราด" ดูจะน่าสนใจเป็นพิเศษ จันทบุรีนั้นหากเราออกจากด่านชายแดน"บ้านแหลม" ต เทพนิมิตร อ โป่งนำ้ร้อน จะเข้าไปถึง "พระตะบอง" โดยใช้เวลาเดินรถเพียงชั่วโมงเศษ (98 กม) และออกจากพระตะบองนั่งรถไปอีกราวหนึ่งชั่วโมงก็จะมาถึงยัง "เสียมเรียบ" เมืองในฝันของนักท่องเที่ยวฝรั่งญี่ปุ่นและจีน ส่วนพระตะบองเองก็สำคัญ ถ้านับเฉพาะในเขตเมืองประชากรมีมากกว่าสองแสน ส่วนตัวจังหวัดนั้นประชากรราวหนึ่งล้านคน ปลูกข้าวดีมาก รายได้และฐานะผู้คนจัดว่าดีทีเดียว จาก อ.โป่งน้ำร้อนของจันทบุรียังเข้าถึงพนมเปญได้สะดวก ใช้เวลาขับรถราวสี่ชั่วโมง (297 กม.) เท่านั้น และจากพนมเปญขับรถหรือนั่งรถบัสไปโฮจิมินห์ต่ออีกก็ราวกว่า 200 กม. เท่านั้น
ส่วนตราดนั้นเข้าไปถึงเกาะกงได้โดยง่าย จากนั้นลงใต้ไป "สีหนุวิลล์" และเข้า "แหลมญวน" ดินแดนใต้สุดของเวียดนามก็ได้ หรือจะไปพนมเปญต่อก็สะดวกและต่อไปจนถึงโฮจิมินห์ก็ย่อมได้
จันทบุรีและตราดจึงต่อติดทางบกได้สะดวกทั้งกับเขมรทั้งกับเวียดนาม ต่อได้กับสามเมืองสำคัญของกัมพูชาและเวียดนาม ได้แก่ หนึ่ง คือ เสียมเรียบ อันเป็นที่ตั้งแห่งนครวัดและนครธมโบราณสถานนามกระเดื่องโลก สอง คือ พนมเปญ นครที่ใหญ่ที่สุด เจริญที่สุด ในบรรดาเมืองของทุกประเทศที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง พนมเปญเป็นเมืองหลวงของกัมพูชาที่เศรษฐกิจโตเร็วมากและโตอย่างไม่มีทีท่าจะหยุดยั้ง ประชากรจำนวน 2-3 ล้านคน และสาม มหานครโฮจิมินห์ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า กทม เสียอีก มีขนาดประชากรพอๆ กับ กทม และเจริญเร็วเหมือนกรุงเทพฯ เมื่อครั้งยังเฟื่องฟู
จันทบุรีและตราดยังมีข้อโดดเด่นทางภูมิศาสตร์อีกอย่างคือ "อยู่ติดอ่าวไทย" สามารถเชื่อมโยง"ทางทะเล" กับกัมพูชาและเวียดนามได้อีก จึงจัดว่าเป็นเพียง"สองจังหวัด" ที่ต่อกับสองประเทศนั้นได้ "ทั้งทางบกและทางทะเล" ส่วนการเดินทางทางอากาศนั้นก็บินถึงพนมเปญและโฮจิมินห์ได้โดยใช้เวลาไม่กี่สิบนาทีเท่านั้นเอง
ในทุกวันนี้ ก็ด้วยความสะดวกเช่นนี้ บรรดาผู้มีอันจะกินและเหล่าคนชั้นกลางของพนมเปญจึงพากันเดินทางด้วยรถยนต์เข้ามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนของจันทบุรีจนเป็นเรื่อง "ปกติ" ไปแล้ว
จันทบุรีและตราดที่ฝรั่งเศสยึดไปและอยากจะครอบครองถาวรให้ได้ แต่ เดชะบุญที่รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงยินยอมให้หลุดไปจากสยามเป็นอันขาด ที่สุดทรงเอาคืนมาได้ ทรงยกเอานครวัดนครธม เสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ ไปให้ฝรั่งเศสแทน มีอะไรดีจริงๆ นะครับ ตามที่เล่ามา สมแล้วที่บุรพกษัตริย์และบรรพชนไม่ยอมให้หลุดแยกออกไปจากราชอาณาจักรสยาม
ความสำคัญของจันทบุรีและตราดจะยิ่งทบเท่าทวีขึ้นไปอีกในอนาคตใกล้ๆเพราะในอินโดจีนทั้งหมดนั้น บริเวณที่คนอยู่หนาแน่นที่สุด เป็นเมืองที่สุด เจริญที่สุด สำคัญต่อประเทศของเขาเองมากที่สุด ก็คือ พนมเปญ และโฮจิมินห์ นั่นเอง จันทบุรีและตราดจะทำหน้าที่เชื่อมร้อย "ภาคตะวันออก" ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในไทยและยังเชือมโยงทางบกระหว่างกรุงเทพฯ "เมืองหลวง" ทางเศรษฐกิจของ AEC ทั้งหมดในภาคพื้นทวีป กับ พนมเปญและโฮจิมินห์ ซึ่งจัดว่าเป็น "สองเมืองหลวงเศรษฐกิจ" ของ CLMV อย่างรวดเร็วและสะดวกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยยังมีอนาคตแน่นอนครับ เป็นอนาคตที่เชื่อมโยงเข้ากับ CLMV ที่ยังจะขยายตัวเติบใหญ่ไปอีกนาน จันทบุรีกับตราดจะเป็นสะพานเชื่อมเข้ากับอนาคตนั้นอย่างสำคัญ ถ้าทำเป็นนะครับ ขอเพียงให้ทำเป็น