กฤษฎีกายัน ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลผิดวินัย หลัง ขรก.อ้างคำพิพากษาศาล ปค.สู้
กฤษฎีกายัน ป.ป.ช. มีอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงได้ หลังปลัด อบต.พะวอ-ตาก ยกคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสู้ อุทธรณ์คำสั่ง ก.อบต.ตาก ไล่ออกราชการ ชี้ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย กรณีที่นายวีระ นาถวีระนันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลพะวอ จ.ตาก ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เคยวินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานอื่นได้ นอกจากกรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ทางคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบล (ก.อบต.) ตาก อ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ที่เคยวินิจฉัยเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้ส่งเรื่องหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา
ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) ผู้แทนสำนักงานศาลปกครอง และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่ ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับคำร้องไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลปกครอง นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการพิจาณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นทางกฏหมายตามประเด็นข้อหารือนี้ได้
อย่างไรก็ดีกรณีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น นอกจากการทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีสาระสำคัญว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และชี้มูลความผิดทางวินัย หรือมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 19 (3) แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้
ดังนั้นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ดังกล่าว จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ยื่นศาล รธน.ตีความอำนาจฟัน จนท.ผิดวินัยร้ายแรง หลังศาล ปค.ชี้ทำไม่ได้
ป.ป.ช.ถกปมศาล ปค.ชี้ไร้อำนาจฟันผิดคนทำราชการเสียหาย-ประพฤติชั่วร้ายแรง
ป.ป.ช.ค้านศาล ปค.! ยันมีอำนาจฟันผิดฐานทำราชการเสียหาย-ชงศาล รธน.ชี้ขาด