“คนรักหลักประกันสุขภาพ” ไม่หวั่น สผพท.ฟ้องหมิ่นล้มบัตรทอง
“หมอมงคล” เชียร์บัตรทอง ค้านเก็บ 30 บาท แนะ 3 ระบบประกันสุขภาพไม่ต้องรวมกองทุน แต่เข้าถึงบริการเท่าเทียม สผพท.เตรียมฟ้อง“คนรักหลักประกันสุขภาพ” หมิ่นประมาทล้มบัตรทอง
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดรัฐบาลที่จะกลับมาจัดเก็บค่ารักษา 30 บาทจากผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) เพื่อนำเงินจำนวนนี้ประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อปีไปพัฒนาระบบบริการ เนื่องจากไม่คุ้มค่าและทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยจะเป็นการเพิ่มภาระงานด้านการเงินการบัญชีให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งมีอยู่น้อย ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
อดีต รมว.สธ. ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้มีมาตรฐานการรักษาเดียวกันทั้งประเทศนั้น ตนเห็นว่าทิศทางของหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นระบบที่มีความเสมอภาค ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยอาจไม่จำเป็นต้องรวมทั้ง 3 กองทุนเข้าด้วยกัน เนื่องจากแต่ละกองทุนมีกฎหมายรองรับและมีที่มาแตกต่างกัน
ส่วนกระแสข่าวการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นั้น นพ.มงคล กล่าวเพียงว่าบัตรทองเป็นระบบที่ก้าวหน้าและได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ ซึ่งในบรรดาประเทศกำลังพัฒนามีเพียงระเทศไทยเท่านั้นที่สามารถทำได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันพัฒนาระบบนี้ให้ดีขึ้น
ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) กล่าวว่า สผพท.จะฟ้องคดีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นประมาทที่กล่าวหาว่าตนและเครือข่ายพยายามล้มบัตรทอง เพื่อเข้าไปหาประโยชน์จากงบประมาณส่วนนี้
นอกจากนี้จะฟ้องนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)ในฐานะเป็นผู้กำกับงาน สปสช. แต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และผู้เกี่ยวข้องตามที่สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ประเด็นความผิดที่ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสียหาย คือขาดงบประมาณดูแลรักษาประชาชนตามมาตรฐาน รวมทั้งการดำเนินการที่ไม่ชอบ เช่น การให้บริการสาธารณสุขเชิงรุก (Vertical program)
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธาน สผพท. กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ทำโครงการ Vertical program เช่น การผ่าตัดต้อกระจก โดยให้หน่วยบริการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุก จ่ายค่าตอบแทนบุคลากร 1,200บาท ตั้งค่าตอบแทนในอัตรา 7,000 บาทต่อการผ่าตัดตา 1 ข้าง และถ้ามีโรคแทรกซ้อนจ่าย 9,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต้องจ่ายผ่านเงินบำรุงของสถานบริการ แต่การผ่าตัดดังกล่าวเป็นการผ่าตัดในเวลาราชการ ซึ่งเป็นงานประจำที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว การจ่ายของ สปสช. จึงผิดระเบียบ
ด้าน นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าทางกลุ่มไม่กังวลที่จะมีการฟ้องศาล และพร้อมจะนำหลักฐานสู้คดี ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะสิ่งที่ทางกลุ่มดำเนินการนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง .
ที่มาภาพ : http://www.learners.in.th/blogs/posts/159253