ฉบับเต็ม! ผลสอบ ก.ทรัพย์ฯ มัด'เทศบาลศรีราชา'สร้างเขื่อนริมทะเล ทั้งที่ยังไม่ได้อนุมัติ
"...จากสภาพพื้นที่และแบบก่อสร้าง กำหนดให้มีการถมเพื่อปรับสภาพพื้นที่ตลอดแนว จากบริเวณหลังเขื่อนจนถึงระยะแนวชายฝั่ง ความกว้างประมาณ 16 เมตร ปริมาตรถมดิน/ทรายประมาณ 750 ลบ.ม. ซึ่งลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายการจัดทำ EIA ที่กำหนดให้การถมดินในทะเลทุกขนาด ต้องจัดทำ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายงานสรุปผลการตรวจสอบกรณีการร้องเรียนขบวนการสร้างเขื่อนฮุบที่ดินริมทะเลศรีราชา จ.ชลบุรี เอื้อกลุ่มทุน ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทำจดหมายเปิดเผยร้องเรียนไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของ 'สุมิตรา จันทร์เงา' สื่อมวลชนและนักเขียนอิสระ ให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาการฮุบที่ดินชายฝั่งทะเลของเมืองศรีราชา โดยระบุการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายของการทำโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ที่ยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการก่อสร้างคอนโด และมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ยินยอมให้ตึกหลังนี้ผ่าน EIA ได้
---------------------
รายงานสรุปผลการตรวจสอบกรณีเรื่องร้องเรียนขบวนการสร้างเขื่อนฮุบที่ดินริมทะเลศรีราชา จ.ชลบุรี เอื้อกลุ่มทุน
1. ความเป็นมา
สืบเนื่องจากกรณีเว็บไซต์ 'สำนักข่าวอิศรา' นำเสนอจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี( พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ) เรื่อง ขอให้สอบสวนขบวนการสร้างเขื่อนยุบที่ดินริมทะเลศรีราชาเอื้อกลุ่มทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ได้สั่งการผ่านไลน์กลุ่มผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศคส.ทส) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ข้อเท็จจริง
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล มีความยาว 180 เมตร เป็นโครงการตามแผนพัฒนา 3 ปี (2556-2558) ของ เทศบาลเมืองศรีราชา โดยได้รับจัดสรรงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี มี บริษัท เอเจเอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างในวงเงิน 17,801,800 บาท (สิบเจ็ดล้านแปดแสนหนึ่งพันแปดร้อยบาทถ้วน) ตามสัญญาเลขที่ ยผจ.3/2557 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ระยะเวลาดำเนินการ 600 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและตรวจรับผลงานงวดสุดท้ายแล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558
3. สรุปผลการตรวจสอบ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้รองอธิบดี (นายโสภณ ทองดี) พร้อมคณะประชุมหารือและตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับ ผอ. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี และผู้แทน ทสจ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 โดยมีผลการตรวจสอบ ข้อมูล และข้อสังเกต ดังนี้
3.1 โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล มีความยาว 180 เมตร ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
อย่างไรก็ตาม จากสภาพพื้นที่และแบบก่อสร้าง กำหนดให้มีการถมเพื่อปรับสภาพพื้นที่ตลอดแนว จากบริเวณหลังเขื่อนจนถึงระยะแนวชายฝั่ง ความกว้างประมาณ 16 เมตร ปริมาตรถมดิน/ทรายประมาณ 750 ลบ.ม. ซึ่งลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายการจัดทำ EIA ที่กำหนดให้การถมดินในทะเลทุกขนาด ต้องจัดทำ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.2 การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ต้องขออนุญาตกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อกรมเจ้าท่าตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 พ.ศ. 2537 ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือขออนุญาตทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ยื่นต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรีแล้ว แต่ทั้งนี้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรีให้ข้อมูลแก่คณะตรวจสอบว่า โครงการการดังกล่าวยังมีการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งมีการปรับแบบก่อสร้างโดยลดความสูงของเขื่อนลงจากเดิม จึงยังไม่อนุญาตกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
3.3 ผลการศึกษาแนวทางการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2547-2557 พบว่าจากแนวชายฝั่ง 3,148 กิโลเมตร มีระยะทางกัดเซาะ 830 กิโลเมตร โดยในจังหวัดชลบุรีมีระยะทางกัดเซาะ 17.6 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่เทศบาลเมืองศรีราชา อำเภอศรีราชา จังชลบุรี มิได้เป็นพื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งตามผการศึกษาทั้งในระดับวิกฤต ระดับเร่งด่วน และระดับเฝ้าระวังแต่อย่างใด
3.4 แนวทางการจัดทำงบประมาณการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 เห็นชอบกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหากรกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 – 2559 ประกอบด้วย 933 โครงการ วงเงิน 19,580 ล้านบาท โดยมีกลไกการพิจารณาโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการการกัดเซาะชายฝั่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะทำงานฯจำนวน 125 โครงการ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ไม่พบว่าผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะทำงานการบูรณาการแผนงบประมาณการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และอนุกรรมการฯ ข้างต้นแต่อย่างใด
4.ความเห็นและข้อสังเกต
4.1 ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการอนุญาตตามกฎหมาย
4.1.1 ลักษณะการดำเนินงานเข้าข่ายต้องจัดทำ FIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้มีการถมปรับสภาพพื้นที่ตลอดเวลา จากพลังเขื่อนจนถึงแนวชายฝั่ง ความกว้างประมาณ 16 เมตร ปริมาตรถมดิน/ทรายประมาณ 750 ลบ.ม.
4.1.2 ยังไม่ได้รับอนุญาตทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี ตามกฎหมายกระทรวงฉบับที่ 63 พ.ศ.2537
4.2 ไม่เป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะตามผลการศึกษาการก่อสร้างโครงการในพื้นที่ที่ไม่มีผลการศึกษารองรับว่าชายฝั่งบริเวณนั้นถูกกัดเซาะอยู่ในระดับใดเลยนั้น ควรให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีการจัดลำดับความสำคัญการดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างไร รวมทั้งมีชุมชน/ประชาชน/พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวนเท่าใด
4.3 ขาดการนำเสนอโครงการและงบประมาณตามกลไกของกรอบแผนบูรณาการฯ
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 และ คณะอนุกรรมการบูรณาการจัดการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้มีกลไกการพิจารณาโครงการและงบประมาณ โดยผ่านคณะทำงานการบูรณาการแผนงบประมาณการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ดังนั้น หน่วยงานรับผิดชอบของโครงการ ควรนำเสนอผ่านกลไกดังกล่าวเพื่อช่วยกลั่นกรองตรวจสอบให้การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีประสิทธิภาพที่เหมาะสม ไม่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น ๆ และการจัดการชายฝั่งในระยะยาวต่อไป (ดูรายงานฉบับเต็มประกอบ)
อ่านประกอบ:
ชีวิตมีอันตราย-ส.ว.ตามหาตัว! 'สุมิตรา'โพสต์FBหลังเปิดโปงนายทุนฮุบที่ศรีราชา
เปิดจม.2 ฉบับ ถึง"บิ๊กตู่" ช่วยชาวบ้านด้วย 'คนมีสี-นายทุน' ฮุบที่ดินชายฝั่งศรีราชา
ข้อมูลอีกด้านจาก ผจก.Marina Bay Front Sriracha ปมฮุบที่ชายฝั่งศรีราชา
บันทึกสุดท้ายจาก 'สุมิตรา จันทร์เงา' - 'บิ๊กตู่' ทราบเรื่องฮุบที่ศรีราชาแล้ว
กลิ่นเอื้อนายทุนชัด! ก.ทรัพย์ฯ สรุปเทศบาลศรีราชาสร้างเขื่อนริมทะเลก่อนได้รับอนุมัติ