นพ.วิโรจน์ วีรชัย หนุนมาตรการบำบัดรักษาผู้เสพ แทนโทษอาญา กันคน 1.5 ล้านเดินผ่านคุก
ผจก.ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา ชี้กม.ยาเสพติดไทยมีช่องโหว่ ยันในทางการแพทย์การระบุให้พืชประเภทใดเป็นพืชเสพติดในประเภท 4 หรือ 5 ไว้ในครอบครองเกิน 10 กก.ขึ้นไป ไม่ถือว่า เข้าข่ายมีไว้เพื่อจำหน่าย หนุนยกเลิกกระท่อม-กัญชาจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
วันที่ 26 กันยายน คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย (คปก.) ชุดที่หนึ่ง จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด" ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัส แวนด้าแกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการ คปก. กล่าวถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดอยู่ในขั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ผ่านมา คปก.ชุดที่หนึ่งได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดไปแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง หลักการในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 2. แนวทางการปฎิรูปกฎหมายเพื่อการพัฒนาระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพและผู้ติดยาเสพ 3. การดำเนินคดีที่เป็นธรรม:กรณีการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และ4. กฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ซึ่งความเห็นทั้งหมด ภายใต้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน การมีส่วนร่วม และคุ้มครองสิทธิของประชาชน
ด้านนายสมชาย หอมลออ กรรมการปฎิรูปกฎหมายชุดที่หนึ่ง กล่าวถึงหลักการและแนวทางการปฎิรูปกฎหมายยาเสพติด พร้อมสรุปบทเรียนจากประเทศต่างๆ โดยเห็นว่า การใช้มาตรการกับผู้เสพยาต้องแยกให้ชัดเจน รวมถึงผู้ผลิตก็มีทั้งรายใหญ่ รายย่อย ผู้เสพยาเสพติดที่มีไว้ในครอบครอง มีจำหน่ายไว้เพื่อเสพ ดังนั้นปัญหายาเสพติดจึงไม่ใช่แค่ขาวกับดำเท่านั้น แต่ยังมีสีเทาๆ ด้วย
“การมองปัญหายาเสพต้องมองตามความเป็นจริงว่า มีสีเทาๆ ฉะนั้นต้องใช้มาตรการกับผู้เสพยาอย่างจำแนก คัดกรอง และการลดอันตรายจากการใช้ยา (Harm Reductiin) ซึ่งในทางหลักการได้รับการยอมรับ แต่แนวทางปฏิบัติกลับยังไม่ชัดเจน” กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าว และว่า เราคงไม่ถึงขั้นทำให้ยาเสพติดบางประเภทถูกกฎหมาย แต่เราต้องจำแนก เหยื่อ อาชญกรรมยาเสพติด และลดทอนความเป็นอาชญากรรมลง (Decriminalization) เช่น กัญชา และพืชกระท่อม ผู้เสพผู้ครอบครองเพื่อเสพ ที่ผ่านมาก็มีการเสนอไม่ควรใช้มาตรการทางอาญาในการลงโทษ
"ส่วนตัวมองว่า ผู้เสพ ผู้ครอบครองผู้เสพไม่ควรใช้มาตรการทางอาญาและควรใช้มาตรการที่เหมาะสมกับผู้ค้าเพื่อเสพ ผู้ค้ารายย่อย ผู้รับจ้างขนยาเสพติด และผู้เสพรายบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมยาเสพติด ซึ่งตรงนี้ต้องชัดเจน และไม่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการสาธารณสุขที่มองผู้เสพเป็ยผู้ป่วยและต้อง ส่งเข้ารับการบำบัดรักษา "นายสมชาย กล่าว
ส่วนการดำเนินคดียาเสพติด นายสมชาย กล่าวว่า มีการปฎิบัติอย่างไม่สอดคล้อง เช่น การบังคับบำบัดมีตั้งเป้าทุกปี แต่ไม่เคยตั้งคำถามปีต่อๆ ไปควรลดลงหรือไม่ ตั้งคำถามถึงมาตรการปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผล จึงมองว่า การตั้งเป้าบังคับบำบัดเป็นเพียงการโฆษณาการทางการเมืองมากกว่าการนำไปปฎิบัติอย่างจริงจัง
ด้านนายวีระพันธ์ งามมี กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิโอโซน กล่าวถึงการทำให้โลกปลอดยาเสพติด เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นโลกในอุดมคติ ฉะนั้น จำเป็นที่เราต้องเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ โดยยอมรับเราสามารถทำให้ปัญหายาเสพติดคลี่คลายลงได้ โดยไม่ต้องรอให้คนเลิกยา เพียงแต่ช่วยให้เขาเหล่านั้นจัดการเรื่องการใช้ยาของตนเองได้ เช่น ลด ละ ให้มีการใช้ยาอย่างปลอดภัย ไม่อันตรายต่อคนรอบข้าง ไม่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จนเลิกใช้ยาในที่สุด
นายวีรชัย กล่าวถึงการให้องค์ความรู้กับสังคมลดอันตรายจากการใช้ยา ให้เหมือนการรณรงค์เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น HIV พร้อมเสนอให้ศูนย์บริการสาธารณสุขควรเป็นศูนย์คัดกรองผู้เสพ ผู้ครอบครองยาเสพติด แทนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับปัสสาวะ
ด้านนายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวถึงทัศนคติต่อผู้เสพยาเสพติดในอดีตว่า การเสพยาเป็นความผิด แต่พอทำไปๆ ปัญหายาเสพติดไม่ได้ลดน้อยลง ทั้งผู้ใช้ยาเสพติดกลับเพิ่มขึ้น ราคายาบ้าแพงมากขึ้น ผู้ค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ป่วยระบบบังคับบำบัดเพิ่มขึ้น
“ความสมดุลของแนวคิดกับการปฎิบัติ ผู้ใช้ยาเสพติดเป็นผู้ป่วยจริงหรือไม่ เป็นการเจ็บป่วยที่รัฐควรดูแลเพียงใด การดูแลแบบลงโทษบังคับบำบัดลดปัญหา หรือเพิ่มปัญหา ที่เป็นปัญหาในบ้านเรา คือ การนำเอาคนผ่านเรือนจำ 1.5 ล้านคน เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราหวังดีแต่ทำอันตราย Do No Harm”
นพ.วิโรจน์ กล่าวถึงข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า งบประมาณของกรมราชทัณฑ์เป็นงบครึ่งหนึ่งของกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่คุ้มค่า และในทางการแพทย์
“ธรรมาภิบาลกับความคุ้มค่า นำคนเข้าคุก ทั้งๆ ที่ค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน เราสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจตรงนี้ไป จับคนเข้าคุกกลายเป็นขาดทุน สร้างอาชญากรเพิ่มขึ้น ดังนั้นโทษอาญาคดียาเสพติด ขนาดไหนถึงเหมาะกับบ้านเรา”
นพ.วิโรจน์ กล่าวถึงการติดยาเสพติดอีกว่า เป็นโรคชนิดถึง ยิ่งวัยเด็กยิ่งติดง่าย แต่สามารถรักษาได้ และสมองสามารถกลับมาปกติได้ ดูผลวิจัยชี้ชัดให้เปรียบเทียบจากสมองที่ติดยาและเลิกยาได้ในเวลาต่อมา
“ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขพร้อมส่งเสริมป้องกัน การรักษา การเข้าถึงและเน้นดูและกลุ่มผู้ใช้แมทเอมเฟตามีน รวมทั้งการลดอันตรายเน้นในเรื่องกลุ่มที่ใช้ยาฉีดที่ยาเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเอดส์ และไวรัสตับอักเสบซีเป็นต้น และเปลี่ยนจากยาฉีดเป็นยากิน”
ด้านผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ รองผู้อำนวยการหลักสูตร นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งอยู่ในชั้นกฤษฎีกา ผู้เสพ ครอบครองเพื่อเสพ หรือซื้อหาเพื่อเสพยังมีโทษทางอาญาอยู่ ทั้งที่ๆ มีความพยายามนำเสนอให้ปลดล็อกตรงนี้ และแม้ว่าที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข ก็ขานรับแนวคิดผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย จะง่ายมากหากตัดบทบัญญัตินี้ออกไปตั้งแต่ชั้น ป.ป.ส.เสนอ
“การเปลี่ยนตัวบทกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนยาก ที่ยาก คือ การเปลี่ยนชุดความคิด โดยเฉพาะกระแสสังคมที่เกี่ยวกับยาเสพติด ยังเห็นว่า เรื่องนี้ยังร้ายแรงอยู่”
ผศ.ดร.ธานี กล่าวด้วยว่า การออกแบบกฎหมายทางนิติบัญญัติด้านยาเสพติดของบ้านเราเสี่ยงสูงมาก ไม่ต่างจากเดิม อาจปรับโทษนิดหน่อย ขณะที่การทำงานด้านสาธารณสุขก็ทำงานไม่เต็มที่ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดควรมีเรื่องป้องกัน บำบัดด้านสาธารณสุข ที่ตลกมากประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกมีประมวลกฎหมายยาเสพติด ทะลึ่งมีป.วิญา มีความผิดอาญาเสียบเข้าไปด้วย มหัศจรรย์แห่งโลก
สุดท้ายผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวถึงพืชเสพติดกับมิติการรักษาโรคว่า ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ระบุให้กระท่อม กัญชา เห็ดขี้ควาย กัญชง เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 5 ทั้งๆที่พืชเหล่านี้ถือเป็นพืชเสพติด เป็นสมุนไพร ตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่ของการตีความในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เพราะในทางการแพทย์การระบุให้พืชประเภทใดเป็นพืชเสพติดในประเภท 4 หรือ 5 ไว้ในครอบครองเกิน 10 กิโลกรัมขึ้นไปไม่ได้ถือว่า เข้าข่ายมีไว้เพื่อจำหน่าย ในกรณีที่เป็นพืชสมุนไพรที่ผ่านการสกัดเป็นตัวยาแล้วก็ยังมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถพัฒนายาต่อยอดในประเทศได้แล้ว ขณะที่พืชไทยหลายชนิดถูกต่างประเทศวิจัยแล้วจดสิทธิบัตร จึงอยากเสนอให้มีการยกเลิกกระท่อมและกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในประเภท 5 และให้ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมเป็นอย่างอื่น
"เราจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเคลื่อนเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เวลาเราเทียบตัวชี้วัดว่าพืชเสพติดต่างๆเช่น กระท่อม กัญชา อยู่ในลำดับเท่าไหร่หากเทียบกับเฮโรอีน ที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งตอนนี้ในต่างประเทศมีการจดสิทธิบัตรสารสังเคราะห์ที่สกัดมาจากกระท่อมและกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาแล้ว ขณะที่ทางไทยยังไม่รู้จะทำอย่างไรดี กับพืชเสพติดดังกล่าว "เภสัชกรนิยดา กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวด้วยว่า ยาแผนโบราณของทางเอเซียส่วนใหญ่ใช้พืชสมุนไพรเป็นผสม ในอดีตไม่เคยมีการขึ้นบัญชีกระท่อมเป็นพืชเสพติด กระท่อมเวลาจดสิทธิบัตรจะใช้ชื่อ kratom โดยมีการจด 2 ครั้ง ในปี 2009 และ 2012 โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ยื่นจดแบบ PCTและมีการระบุว่าพบพืชกระท่อมในอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย พบว่ากระท่อมของไทยมีคุณสมบัติสูงมาก มีสรรพคุณระงับการปวดดีกว่ามอร์ฟีน 17 เท่า