คณบดีโบราณคดี ม.ศิลปากร ลั่นถอนตัว ถ้าแลนมาร์คเจ้าพระยา ทิ้งข้อมูลรับฟังชาวบ้าน
คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร แจงเข้าร่วมโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา อยากให้มีการนำข้อมูลจากชุมชน ไปตัดสินใจดำเนินโครงการ ยันหากใช้ข้อมูลที่ศึกษาไป แค่บังหน้าลั่นจะถอนตัว
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนา "ผู้คน ชุมชม เจ้าพระยา : ข้อมูลและมุมมองทางวัฒนธรรม" เพื่อเสนอแนวคิด กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญที่ไม่ควรละเลย ณ หอประชุม ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผศ.ชวลิต ขาวเขียวคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ทางคณะยอมถูกต่อว่ามานาน หลังที่เข้าร่วมโครงการฯ แม้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เหตุผลเข้าร่วมเพราะอยากเข้าไปรับรู้ถึงกระบวนการทำงานและต้องการให้ทางโครงการฯได้นำข้อมูลของชุมชนจากการลงพื้นที่ ไปตัดสินใจที่จะดำเนินการได้นำไปใช้ประโยชน์จริง แต่หากนำข้อมูลที่ศึกษาไป ทำแบบบังหน้า ทางคณะจะของถอนตัวทันที
“แบบที่มี พญานาค ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่แม่น้ำโขงและการคิดแบบนี้ถือเป็นการขาดรากความเป็นคนไทย” ผศ.ชวลิต กล่าว และว่า แบบที่ควรสร้างให้ตรงกับความหมายสถานที่ที่แท้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวถึงการพัฒนาที่ผิดจะส่งผลถึงชุมชน เมืองไทยพัฒนาเห็นแต่สถานที่ แต่ไม่ย้อนมองประวัติศาสตร์ที่มีผู้คน ทำให้ชุมชนถูกละเลย ทั้งที่งานข้อมูลจากด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีเป็นงานศึกษาที่ทำให้เห็นชีวิตและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้อง
ส่วนนายภราเดช พยัฆวิเชียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวผ่านวีดิทัศน์สัมภาษณ์ ว่า ไม่แน่ใจว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีการศึกษาในด้านต่าง ๆ และมีข้อเสนอแนะในบริบทก่อนจะทำแผนแม่บททางกายภาพหรือไม่ รวมถึงกระบวนการสรุปเป็นผังแม่บททางกายภาพรวดเร็วเกินไป ด้วยเวลาศึกษาแค่ 7 เดือน ถือว่าเป็นไปได้ยากและอาจทำได้ก็ไม่ครบถ้วน
“ในฐานะสถาปนิก ผมมองว่าต้องอาศัยความเป็นวิชาการนำไปประกอบ โดยใช้ความคิดชุมชนมาเป็นส่วนร่วม”
นายภราเดช กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องเริ่มจากการถามชุมชนว่าอะไรควรหรือไม่ควร เพื่อเป็นแนวทางของการทำงาน จะได้ไม่เกิดเป็นปัญหาการออกแบบมา แล้วค่อยมาถกเถียงที่หลังว่า ชอบ ไม่ชอบ
ทั้งนี้ การจัดงานเสวนา วัตถุประสงค์ เพื่อให้เห็นความสำคัญความเป็นรากฐาน การมีส่วนร่วมของชุมชน และการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามในชุมชนให้คงอยู่ต่อไป.