เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี :“ถ้าบอก Chao Phraya for All ควรจะเปิดรับความเห็นให้มากกว่านี้”
"เมื่อโครงการนี้ไม่ได้เปิดโอกาส ไม่ว่าจะภาคประชาชนหรือภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหรือส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ถ้าหากบอกว่า Chao Phraya for All เจ้าพระยาเป็นของทุกคนจริง ก็ควรจะเปิดรับความคิดเห็นให้มากกว่านี้"
จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครตั้งใจมอบของขวัญชิ้นโบแดงให้กับชาวกรุงเทพฯ โดยการสร้าง“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่น ปั่นจักรยานเป็นระยะทางกว่า 14 กิโลเมตร และยังมีวิมานพระอินทร์เป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกหนึ่งแห่ง แต่ก็มีกระแสเรื่องงบประมาณที่สูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาทและแบบวิมานพระอินทร์ที่รูปทรงคล้ายกับของThe Crystal Island ประเทศรัสเซียจนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์
อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลป์ สถาปัตยกรรม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นแสดงความเห็นด้วยกับการที่จะปรับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ว่าแนวทางการปรับปรุงต้องศึกษาและต้องให้เหมาะสม คือ ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ แต่ต้องทำให้ถูกวิธี รับฟังความคิดเห็น และต้องไม่ใช้งบประมาณที่มากมายขนาดนี้
“ผมคิดว่าการพัฒนามีความจำเป็น เพราะขณะนี้สภาพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ทรุดโทรม เนื่องจากเกิดความมักง่ายของคนที่อยู่ริมแม่น้ำเป็นคนที่ทำลายแม่น้ำเสียเอง เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาให้ดูมีความปลอดภัย ทราบมาว่า หลายชุมชนริมแม่น้ำเป็นแหล่งอบายมุข ยาเสพติด และไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนริมน้ำ หรือศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามที่อยู่ริมน้ำที่เป็นมรดกของชาติ ไม่สามารถที่จะท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย อันนี้คือสิ่งที่เห็นด้วยที่จะต้องพัฒนาปรับปรุง แต่จะทำอย่างไรให้เหมาะสมก็ต้องเป็นอีกเรื่อง”
สำหรับแนวทางในการปรังปรุง ศิลปินแห่งชาติฯ เสนอมีหลากหลายวิธี ไม่ควรที่จะรวบรัดตัดความว่าจะต้องเป็นไปในรูปแบบไหน เช่น จะต้องถนนกว้างเท่านี้หรือต้องยกระดับพื้นขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งมีอีกหลายวิธีในการแก้ไขปัญหานี้ควรที่จะต้องศึกษาหาทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณมากมายขนาดนี้
“เท่าที่เห็นกันมา แค่เริ่มต้นก็ส่อแววไม่สุจริตแล้ว ดูรวบรัดตัดความเกินไป ข้อกำหนดต่าง ๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ ซึ่งผลงานน่าจะออกมาได้ดีกว่านี้ อย่างเช่นเรื่องระยะเวลา ทั้งศึกษาและออกแบบด้วยบนพื้นที่ความยาว 14 กิโลเมตร มนุษย์ที่จะใช้เวลาแค่ 7 เดือนในการสำรวจและออกแบบได้อย่างมีคุณภาพ อย่าสุขเอาเผากิน อาคารก็แทบไม่มีเวลาออกแบบถึงจะต้องไปลอกแบบจากต่างประเทศมา ถ้ามีระยะเวลาให้กับทีมที่ออกแบบ ผมก็เชื่อว่าผลงานจะออกมาดีกว่านี้ แต่เนื่องจากมีระยะเวลามาเป็นข้อจำกัดเลยไม่สามารถที่จะทำได้”
เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้ อาจารย์เผ่ามองว่า เบื้องต้นล้มโครงการนี้ไปก่อนเริ่มต้นใหม่ เริ่มคิดกันใหม่มองถึงปัญหาว่า มีอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไขและรับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวาง โดยเฉพาะผู้รู้ในวงการสถาปนิกและวิศวกรรม หรือทางด้านนักโบราณคดี แม้แต่กรมศิลป์ หรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ ควรจะต้องมาระดมสมองหาทางออกร่วมกันไม่ใช่แอบทำกัน ไม่ใช่ในหน่วยงานกรุงเทพฯ หรือกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น หน่วยงานอีกเยอะที่ต้องมารับผิดชอบในพื้นที่เหล่านี้
"โครงการแบบนี้คิดหรือว่า มาจากใจบริสุทธิ์ เงินงบประมาณกว่าหมื่นสี่พันล้านบาท ไม่รู้จะตกไปที่ใครมากมายแค่ไหน พอมีคนมาประท้วงทางสจล.ก็โกรธ มาบอกอีกฝ่ายให้ข้อมูลเท็จ นี่แหละคือความโกรธ โกรธเพราะคนมาทุบหม้อข้าวตัวเอง"
ศิลปินแห่งชาติ ได้ยกตัวอย่างอย่างพื้นที่ที่เป็นวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องมีส่วน ถ้าส่งเสริมการท่องเที่ยวการท่องเที่ยว ก็ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีนักวิชาการที่คุณภาพก็ควรจะมาช่วยกันระดมสมองให้ความคิดเห็นหาทางออกว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่เมื่อโครงการนี้ไม่ได้เปิดโอกาส ไม่ว่าจะภาคประชาชนหรือภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหรือส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ถ้าหากบอกว่า Chao Phraya for All เจ้าพระยาเป็นของทุกคนจริง ก็ควรจะเปิดรับความคิดเห็นให้มากกว่านี้”
ส่วนเรื่องที่ทางสภาสถาปนิกติงมาว่าสจล.ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุม แต่ยังมารับงานและดึงบริษัทเอกชนมาร่วมด้วยนั้น อาจารย์เผ่า ชี้ว่า ถ้ามองในเจตนาร้าย ก็คงจะเป็นทำนองนั้น
“แต่ยังคิดในแง่ดีว่า ทางสจล.อาจไม่รู้ว่าหน่วยงานย่อยที่จะต้องมาช่วยกันออกแบบในนามของสจล.นี่ น่าจะให้ความร่วมมือ แต่ปรากฏว่า เมื่อรับงานมาแล้วถูกคัดค้านจากคณะสถาปัตย์ฯ ก็เลยไม่มีทางออก เพราะว่ารับงานมาแเล้ว ก็เลยต้องไปหาคนอื่นมาช่วยทำงานนี้ให้สำเร็จตามที่ได้รับปากหรือที่ได้รับมอบหมายมา
ทางที่ดีที่สุดในความเห็นของผมในขณะนี้ก็คือว่า ตัวท่านอธิการบดีเองน่าจะรักษาเกียรติของสถาบัน และเห็นแก่ลูกศิษย์ลูกหาศิษย์เก่าของสจล. ไม่ให้โดนประณามมากกว่านี้ว่า เป็นสถาบันการศึกษา แต่ไปรับงานมาแล้วต้องไปอาศัยคนอื่นมาทำงานให้ ควรจะรีบถอนตัว ไม่รู้ลงทุนลงแรงแค่ไหน แต่ชื่อเสียงที่สจล. สร้างมาน่าจะ 40 กว่าปีแล้ว มีค่ามหาศาลกว่าเงิน 120 ล้านมากมายนัก ถ้ายังอยากรักษาเกียรติของสถาบันอยู่ ถ้าให้ผมแนะนำ ผมแนะให้ท่านอธิการบดีถอนตัว”
ในเรื่องของ TOR มีความผิดปกติหรือไม่นั้น อาจารย์เผ่า ระบุว่า เท่าที่ฟัง มีตัวแทนที่เคยเป็นกรรมการสมาคมสถาปนิกสยามเล่าเบื้องต้น คงไม่คิดว่าจะต้องไปที่สจล. แต่ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แล้วเขาไม่ให้ความร่วมมือ คือเขาปฏิเสธโครงการ ก็แสดงว่าหลายสถาบันที่เขาปฏิเสธ ไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการ ก็น่าจะต้องเอะใจแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น อย่างงบประมาณค่าแบบก็ตั้ง 120 ล้านบาทแล้ว ทำไมสถาบันอื่นไม่สนใจ ทำไมเขาปฏิเสธ ก็น่าจะต้องกลับมาทบทวน
“อาจารย์ไม่เห็นตัวTORด้วยตัวเองว่า เขากำหนดอะไรบ้าง แต่ในเมื่อคุณเขียนอะไรขึ้นมาแล้วคนไม่สนใจที่จะทำตามที่คุณสั่ง ตามที่คุณกำหนด คุณก็ควรจะทบทวนว่ามีอะไรผิดปกติ และเมื่อสังคมคัดค้านอย่างกว้างขวาง แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่มาก ก็ควรจะต้องรับฟัง เพราะก่อนหน้านี้เขาอาจจะไม่ได้ทราบว่าคนกลุ่มนี้ อย่างที่เรามาเจอกันวันนี้มากน้อยแค่ไหน หนักแน่นแค่ไหน แต่เมื่อวันนี้ปรากฏแล้วก็ควรจะต้องทบทวนนะว่า จะต้องยุติโครงการหรือไม่"