รื้อฐานข้อมูล"เยียวยาเหยื่อไฟใต้" เก็บตกกลุ่มตกหล่น 10 ปีจ่ายเฉียด 5 พันล้าน!
ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพลวัตตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะสภาพการณ์แห่งสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพลวัตในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย
โดยเฉพาะการจัดระบบข้อมูลเยียวยาที่ต้องทันสมัยและรัฐต้องเข้าถึงทุกคนทุกกลุ่มตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหา “ตกหล่น” เพราะโดยสภาพของสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงย้ายถิ่นที่อยู่ ขณะที่ชีวิตผู้ได้รับผลกระทบเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา, ศูนย์เยียวยาจังหวัดสงขลา, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา, สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลา, สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ลงนามในบันทึกความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา “ระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา” โดยพิธีลงนามจัดขึ้นที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. กล่าวว่า สกว.ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยระบบบูรณาการการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้และระบบข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญต่อการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบูรณาการการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบ เน้นการเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้สามารถบูรณาการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องใช้ในการเข้าถึงตัวผู้ประสบเหตุเพื่อเริ่มดำเนินการเยียวยา พร้อมทั้งลดช่องว่างทางด้านข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นต่อการเยียวยาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้ประสบเหตุ
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้เชิงระบบ และฐานข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบูรณาการการเยียวยาและการติดตามประเมินผลการเยียวยาให้กับประชาชนของทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ลดทั้งเวลาในการทำงานและลดช่องว่างของข้อมูลที่จำเป็น
ขณะที่ นายจรัส ชุมปาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเปิดใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศแบบใหม่แล้ว จะช่วยย่นระยะเวลาใน 2 ส่วนสำคัญคือ
1.เวลาในการติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเยียวยาประชาชนร่วมกัน เพราะการส่งต่อข้อมูลจากที่เคยเป็นระบบกระดาษและระบบการโทรประสานงานเป็นครั้งๆ ไป จะเปลี่ยนเป็นระบบการส่งต่อข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศแบบเรียลไทม์ อันจะทำให้ข้อมูลของประชาชนผู้ขอรับการเยียวยาในมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ไม่ต้องมีการรอการส่งต่อข้อมูลเหมือนแต่ก่อน ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐสามารถย่นเวลาลงได้ประมาณร้อยละ 50-70
2.เวลาในการรอรับการเยียวยาของประชาชนจะลดลง เนื่องจากประชาชนไม่ต้องไปติดต่อประสานงานหรือหาข้อมูลสิทธิการเยียวยาด้วยตนเองอีกต่อไป เพราะระบบจะแสดงสิทธิและขั้นตอนการเยียวยาทั้งหมด รวมทั้งเอกสารที่ต้องเตรียมให้แก่ประชาชนได้รับทราบในคราวเดียว ทำให้ประชาชนเข้าใจและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้ประชาชนสามารถย่นเวลาลงได้ถึงร้อยละ 70-80
“ด้วยคุณประโยชน์เช่นนี้เอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลาจึงได้ระดมความร่วมมือจาก 8 องค์กรที่มีภารกิจการเยียวยาประชาชนในจังหวัดสงขลา ร่วมลงนามความร่วมมือในบันทึกความร่วมมือฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน และปูทางไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” นายจรัส กล่าว
และว่า นอกจากประโยชน์ในการสร้างเสริมประสิทธิภาพในการบูรณาการข้อมูลการทำงานของหน่วยงานเยียวยาในพื้นที่แล้ว การพัฒนาข้อมูลสารสนเทศยังช่วยให้เกิดการจัดการงบประมาณหลายพันล้านบาทที่ใช้ในการเยียวยาเป็นไปอย่างประสิทธิภาพด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตัวเลขงบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหลักเกณฑ์เก่าและใหม่ รวมถึงการจ่ายย้อนหลัง และการจ่ายกรณีพิเศษทั้งชีวิตร่างกายและทรัพย์สินเสียหาย ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 รวมทั้งสิ้น 4,890,008,483 บาท (กว่า 4.8 พันล้านบาท)
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพียงหน่วยงานเดียว ใช้งบประมาณเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายประเภทเงินรายเดือนสำหรับผู้พิการ บุตรผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ การฟื้นฟูด้านจิตใจ ทำศพ บาดเจ็บ และเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับความเสียหาย ขณะที่มีหลายหน่วยงานที่มีภารกิจเยียวยาคล้ายๆ กัน
“ระบบสารสนเทศใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเยียวยา สามารถดำเนินการเยียวยาได้อย่างครบถ้วนทุกกรณีและทุกสิทธิที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบพึงได้ สร้างหลักประกันการเยียวยาไม่ให้มีใครตกหล่นอีกต่อไป ต่างจากการใช้ระบบกระดาษและระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงานและประชาชนเป็นรายกรณี ซึ่งล่าช้าและมีความเสี่ยงรายชื่อตกหล่น บางกรณีตกหล่นมาเกือบ 10 ปี” เจ้าหน้าที่ พม.สงขลา กล่าวในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง 8 องค์กรที่ทำหน้าที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไฟใต้ใน จ.สงขลา