เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว
สมัชชาแม่น้ำ แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการทางเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ศิลปินแห่งชาติ ชี้แค่เริ่มต้นก็ไม่สุจริต อ.ศศินกระตุ้นคนริมฝั่งเจ้าพระยาออกมาสู้ เปิดประเด็นสุดท้ายผลประโยชน์จะตกไปที่ใคร ขณะที่สถาปนิกเสนอแนะแบ่งงบฯ ไปพัฒนาสัญจรทางคูคลองจะดีกว่า ลดปัญหาการจราจรเมืองกรุง
วันที่ 21 กันยายน Friends of the River และเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ จัดงานระดมพล "คนไม่เอาทางเลียบแม่น้ำ 14 กม." ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 สี่แยกปทุมวัน
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และนักวิชาการด้านน้ำ กล่าวว่า การจะสร้างทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาควรที่จะมีกระบวนการทางความคิดที่สามารถตอบโจทย์ของสังคม สอดคล้องต่อภูมิสังคม ถ้าหากคิดจะทำโครงการนี้จริงก็ควรจะมีทีมงานที่หลากหลายไม่ใช่แค่ 2 สถาบันการศึกษา ประชาชนควรที่จะมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เพื่อที่จะไม่มีปัญหาตามทีหลัง และ"ไม่ว่าโครงการนี้จะออกมาแบบไหนในอนาคต เชื่อว่า ขับเคลื่อนยากและขับเคลื่อนไม่ได้แน่นอน
ด้านนายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม กล่าวว่ากรณีที่อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รับงานโครงการทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาและไปว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ออกแบบนั้นเป็นเป็นการกระทำที่เรียกได้ว่าเป็นนายหน้า ที่สำคัญแบบวิมารพระอินทร์ที่ออกมาตามที่เห็นนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการลอกเลียนจากต่างประเทศ หากอยากให้โครงการนี้ยุติก็ต้องให้สจล.ลาออกจากโครงการ
“การที่สจล.ไปรับงานมา แล้วหน่วยงานย่อยในมหาวิทยาลัยไม่ให้ความร่วมมือ หมายความว่าอย่างไร ควรดูตัวเองว่ามีความสามารถ เข้าใจปัญหาแค่ไหน กล้าหาญชายชัยอะไรที่จะมารับงานระดับชาติ"
ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวด้วยว่า โครงการแบบนี้คิดหรือว่ามาจากใจบริสุทธิ์ เงินงบประมาณกว่าหมื่นสี่พันล้านบาท ไม่รู้จะตกไปที่ใครมากมายแค่ไหน พอมีคนมาประท้วงทางสจล.ก็โกรธ มาบอกอีกฝ่ายให้ข้อมูลเท็จ นี่แหละคือความโกรธ โกรธเพราะคนมาทุบหม้อข้าวตัวเอง
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงภาพโครงการเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ภาพจำลองที่กทม.ทำออกมาเป็นมุมมองแนวลึก ซึ่งก็จะดูสวยงาม แต่ความจริงแล้วควรจะนำเสนอรูปจากมุมคนที่นั่งเรือชมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เวลามองขึ้นมาบนฝั่งช่วงน้ำลงก็จะเห็นแต่ตอม่อ ไม่เห็นวัด วิถีชีวิตชุมชน และทำให้ผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือร้านอาหารริมแม่น้ำออกมาต่อสู้ต่อต้านกับโครงการนี้ เพราะเป็นผลประโยชน์ของตัวเอง แทนที่จะอยู่เฉย ๆ และรอแก้ไขหลังจากโครงการนี้สร้างเสร็จแล้ว
นายศศิน กล่าวด้วยว่า ถ้าหากสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างเสร็จ ทางเลียบนั้นจะสูงกว่าบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำเดิม ที่ดินบริเวณนั้นมูลค่าก็จะลดลง เนื่องจากมีทางเลียบมาบังหน้าบ้าน ผลสุดท้ายที่ดินตรงนั้นก็จะถูกซื้อกลายเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า วงการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะสร้างคอนโดตรงไหนบ้าง เลยตั้งคำถามว่า โครงการนี้เอื้อประโยชน์กับใคร
"ขอพูดในฐานะคนที่ใช้ชีวิตกับริมแม่น้ำ ผมคิดว่าต้องเป็นโฮปเวลล์ ต้องสร้างไม่เสร็จแน่ ๆ เพราะสร้างผลกระทบเยอะ และปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำหน้าที่ของแลนด์มาร์คแล้วเป็นมา 50 ปีแล้วด้วย ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่"
ส่วนนายยรรยง บุญหลง สถาปนิกและนักเขียน ได้ยกกรณีตัวอย่างทางเลียบแม่น้ำของประเทศฟิลิปปินส์ ที่กรุงมะนิลาว่า ปัจจุบันทางเลียบแม่น้ำที่สร้างขึ้นได้กลายเป็นชุมชนแออัดของคนไร้บ้านเป็นที่เรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็วเพราะไม่ต้องลงเสาเข็มสร้างบ้านเพียงมีฝาบ้านและหลังคาก็อยู่ได้แล้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากทางเลียบแม่น้ำที่สร้างขึ้นไม่มีคนไปใช้บริการและไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแล
“ในเรื่องที่นำงบประมาณมาลงที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เดียว คิดเห็นว่า ควรจะนำเงินส่วนนี้ไปกระจายลงคลองที่อื่นด้วยในเรื่องของการสัญจร เนื่องจากคลองเหล่านั้นมีศักยภาพในการสัญจร เพราะไม่มีการจราจรที่ติดขัด ทุกวันนี้มีคนใช้เรือที่คลองแสนแสบ 6 หมื่นคนต่อวัน เยอะกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วง หากเรานำเรือมาเชื่อมกับรถไฟฟ้าได้ก็จะช่วยให้คนเมืองมีเวลามากขึ้น การทำให้คนมีเวลามากขึ้นจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมหาศาล โดยไม่ต้องสร้างระบบสัญจรใหม่เลยเพียงแค่พัฒนาของเดิม”
นายยรรยง กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณภาครัฐนั้น ควรให้ประชาชนมีส่วนเข้าไปช่วยตัดสิน โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ในการโหวต เพราะประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้
“เราทำออนไลน์แบงค์กิ้ง เราจีบสาวผ่านออนไลน์ แต่เรายังลงคะแนนโหวตผ่านการหย่อนบัตร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศละตินอเมริกามีจะมีการโหวตให้ประชาชนจัดสรรงบประมาณได้ผ่านทางออนไลน์"
ทั้งนี้ ตอนท้ายของงาน ได้มีการแถลงการณ์จากสมัชชาแม่น้ำว่า ตามที่รัฐบาลโดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครเป็นระยะทาง 57 กิโลเมตร และนำร่อง 14 กิโลเมตร มีข้อบกพร่องด้าน TOR ในการจัดจ้างศึกษาโครงการ โดย TOR เปิดช่องให้มีการจัดจ้างสถาบันการศึกษามารับงานออกแบบและก่อสร้าง ส่งผลให้ผิดพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เนื่องจากสถาบันการศึกษานั้น ไม่มีชื่อเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับสถาปนิกและไม่แยกงานในการศึกษาออกแบบก่อสร้างและกำหนดระยะเวลาการศึกษาที่น้อยเกินไปเพียงแค่ 7 เดือน เมื่อเทียบกับเนื้องานที่มีขอบเขตที่ครอบคลุมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางถึง 57 กิโลเมตร และขาดการวิเคราะห์นโยบายที่บูรณาการประกอบกับกระบวนการดำเนินงานและรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัดไม่เปิดโอกาสทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลาย จึงส่งผลต่อรูปแบบที่เป็นโครงการสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ 7-10 เมตร เทียบเท่าถนน 3 ช่องทางจราจร ซึ่งทำลายแม่น้ำในทุกมิติ เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำลายความหลากหลายของวิถีชีวิตแม่น้ำที่เคยมีมา สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และการไหลของน้ำ ส่งผลต่อการเดินเรือและการพังทลายของตลิ่ง
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท ในการดำเนินการศึกษา ออกแบบ จัดทำแผนแม่บทและเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยผลการศึกษาและบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ได้ดำเนินการให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียได้รับข้อมูล ผลการศึกษาในแต่ละขั้นตอน โดยข้อมูลการดำเนินการศึกษานั้นได้ทำครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ในด้านของสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และกรณีที่ปลัดกทม.กล่าวว่ามีคนเห็นด้วยกับโครงการนี้แล้วถึง 95% ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขาดหลักฐานอ้างอิงอย่างชัดเจน