ยุคไทยแลนด์4.0 นักวิจัย ชี้เทคโนโลยีชีวภาพมาแรง ไม่ต่างจากดิจิทัล
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ ยุคไทยแลนด์ 4.0 รัฐควรให้ความสำคัญเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้ก้าวสู่ระดับสากล เปรยเตรียมยื่นร่างกฎหมายควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดประชุมกลุ่มย่อย “โครงการศึกษากรอบกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพและการแบ่งปันผลประโยชน์ของประเทศไทย”
ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ที่ปรึกษาวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคไทยแลนด์4.0 ไบโอเทคจะมีความสำคัญไม่ต่าง จากดิจิทัล หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะคือปัจจัยสี่ เรื่องอาหารและยาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งนโยบายรัฐบาลในช่วงนี้ก็เดินมาถูกทางที่สนใจในเรื่องเศรษฐกิจบนฐานเทคโลยีชีวภาพ แต่ต้องมีศูนย์ไบโอเทค ที่ดูเเลในเรื่องเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพ
"ลองคิดดูว่า เรื่องใบกระท่อมหากคนไทยเป็นคนจดสิทธิบัตร สังคมไทยจะไม่มีปฏิกิริยารุนแรงขนาดนี้ เพราะว่ามีความรู้สึกเป็นสมบัติของชาติ ถ้านักวิจัยเราทำได้ในประเด็นการเอาทรัพยากรชีวภาพมาต่อยอดเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามเราอาจจะดีใจด้วยซ้ำที่คนไทยสามารถทำได้เเละแข่งขันในระดับโลกได้ เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริมความก้าวหน้าในเรื่องไบโอเทค"
ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรของเรา โดยยกตัวอย่างทรัพยากรอื่นๆ มีกฎหมายออกมาควบคุมการเข้าถึงอย่างเช่นพวกแร่ธาตุ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ทรัพยากรชีวภาพมีคุณประโยชน์ก็ต้องมีกฎหมายแบบเดียวกัน เราไม่ควรปล่อยให้มีการเข้าถึงโดยเสรี เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ยังกระจายกันอยู่ในปัจจุบัน ควรนำมารวมกันเป็นกฎหมายเดียว และมีองค์กรที่จะทำหน้าที่กำกับดูเเล ซึ่งอาจจะจัดตั้งเป็นองค์มหาชนที่ตั้งขึ้น ทำหน้าที่ดูเเลทรัพยากร ทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ จะรวมถึงยีนมนุษย์ ที่เป็นทรัพยากรชีวภาพทั้งหมด และองค์กรนี้ก็มีกฎหมายเฉพาะดูเเลเรื่องการอนุญาต การเจรจา ทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น
ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ก่อนที่เขาจะไปสำรวจทรัพยากร เขาจะต้องขออนุญาตว่าจะไปสำรวจอะไร ทำอะไร ระหว่างที่ใช้ประโยชน์ ต้องทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ ว่าถ้าเขาไปทำวิจัยได้ประโยชน์ เขาจะแบ่งปันกลับมาในรูปแบบใด เช่น ให้เรามีส่วนร่วมในกรณีสิทธิบัตร หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีในนักวิจัย จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น
อนึ่ง ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพเป็นการเฉพาะ อีกทั้งไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังใช้แนวทางการบริหารจัดการในลักษณะที่จำกัดบทบาทของชุมชนพื้นเมืองในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน “โครงการศึกษากรอบกฎหมายว่ากด้วยการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพและการแบ่งปันผลประโยชน์ของประเทศไทย” ได้ถูกเสนอขึ้นเพื่อศึกษากรอบกำหมายเกี่ยวกับความหลากหลายชีวภาพ
ปัจจุบัน โครงการฯอยู่ช่วงสุดท้ายเพื่อรวบรวมความเห็นและส่งไปยังคณะกรรมการเพื่อร่างกฎหมายและส่งเข้าสภาสนช.ต่อไป