คกก.นโยบายยางปล่อยสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้าน หวังดันราคายาง 120 บ./ก.ก.
คกก.นโยบายยางฯ ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันเกษตร ดันราคายาง 120 บ./ก.ก. เตรียมชงครม. 24 ม.ค. 55
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว. กษ.) เปิดเผยว่า จากที่ได้มีข้อร้องเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำและผันผวนอย่างรวดเร็ว รวมถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพาราภาคเกษตร ได้ประชุมหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกรและเกษตรกร จัดทำข้อเสนอยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอมาตรการที่สำคัญ คือ การแทรกแซงราคายางพาราในราคาไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม การสนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อเก็บยางไว้และชะลอการขาย รวมทั้งการหาแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และให้เกิดเสถียรภาพราคายางพาราที่ยั่งยืนนั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพ โดยดำเนินการชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาด สนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้แก่สถาบันเกษตรกรและองค์การสวนยางใช้รับซื้อน้ำยางสด หรือยางแผ่นดิบ หรือยางก้อนถ้วย แปรรูปเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง ทำให้สถาบันเกษตรกรหรือองค์การสวนยาง สามารถเก็บรักษายางไว้ได้เองแล้วจำหน่ายเมื่อราคาเหมาะสม หรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ และได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อให้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 ม.ค.55 โดยเห็นชอบวงเงินดำเนินการ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เงินที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้เป็นสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยเพื่อให้สถาบันเกษตรกร องค์การสวนยางใช้ในการรับซื้อยางนำไปแปรรูป และรอขายในราคาที่เหมาะสม วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรให้สถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท องค์การสวนยาง 10,000 ล้านบาท ส่วนงบค่าใช้จ่ายของโครงการอื่น ๆ ได้แก่ ค่าบริหารโครงการ ค่าชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. รวมทั้งงบดำเนินงานของหน่วยงาน จะขอรับการสนับสนุนจากงบกลางปี 55 และงบบางส่วนในโครงการรับจำนำข้าว
“ภาครัฐมีการปรับขั้นตอนการดำเนินงานกรณีสถาบันเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้ว สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.ได้ทันทีหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีการลดอุปทานยางเพื่อให้มีราคารับซื้อที่เหมาะสมและยั่งยืนในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัม และการปรับเพิ่มจำนวนกรรมการที่เป็นผู้แทนสถาบันเกษตรกรสวนยางเป็น 3 สถาบัน
นายธีระ ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสำหรับการแก้ไขปัญหาราคายางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกรไม่สามารถขายได้จำนวนประมาณ 3,000 ตัน ว่า ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีไปพร้อมกับโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพยาง โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยใช้ผลผลิตเกษตรค้ำประกัน ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย และรัฐบาลจะรับภาระการดำเนินการเรื่องการประกันภัยต่อไป ขณะเดียวกัน จะให้มีการประสานงานกับสถาบันการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการยางพารามีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการเพื่อร่วมมือในการยกระดับราคายางที่เกษตรกรขายได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ มาจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญยังให้มีผู้แทนจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียรวมอยู่ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปประเด็นปัญหาสถานการณ์ยางที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาง ผู้ผลิต และผู้ส่งออกยางได้ตรงจุดและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
“เราพยายามขับเคลื่อนราคายางให้ไม่ต่ำกว่า 120 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเห็นว่าเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่หลังจากเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 ม.ค. 55 สถาบันเกษตรกรจะเริ่มเข้ามาขอความจำนงขอสนับสนุนสินเชื่อ ราคายางก็จะกระเตื้องขึ้นทันที แต่ไม่ได้หมายความว่าราคายางพาราจะอยู่ที่ 120 บาท/กิโลกรัม เพียงแต่จะขยับสูงตามกลไกตลาดเท่านั้น” รมว. กษ. กล่าว.