เบื้องหลัง! สตง.ชง ‘บิ๊กตู่’แก้สารพัดปัญหากองทุน กฟก.ก่อนม็อบนัดชุมนุมใหญ่
“…กฟก. ยังประสบปัญหาด้านความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ความเป็นระบบของฐานข้อมูล นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกรภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนฯ เมื่อปี 2559 พบว่า กฟก. ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร โดยพิจารณาเพียงว่า เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) แต่ไม่มีการสำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อน และฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนหนี้…”
เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สังคม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก !
ภายหลังกลุ่มเกษตรกรชีวนาโนอ่างทอง ได้นำสมาชิกประมาณ 300 ราย มาชุมนุมบริเวณสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) สาขา จ.อ่างทอง เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กฟก. ชี้แจงกรณีการซื้อหนี้สินสมาชิกล่าช้า และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกได้ จนเกิดปัญหาสะสมอื่น ๆ ตามมา
อย่างไรก็ดี น.ส.พชรพรรณ วิเศษสุจริต เจ้าพนักงานอาวุโส สำนักงาน กฟก. สาขา จ.อ่างทอง ได้ชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่าได้รับข้อท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างน้อย 3 ประเด็นทำให้การจ่ายเงินล่าช้า ได้แก่ 1.คณะกรรมการจัดการหนี้ชุดใหม่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง 2.ให้ชะลอการจัดการหนี้ของเกษตรกรที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางการเกษตรที่อุทธรณ์แล้ว 3.ในส่วนของหนี้ที่มีบุคคลค้ำทางสำนักงานฯจะให้ชะลอหนี้ไว้ทุกกรณี
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพ ประเด็นปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2558 คณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ทำหนังสือแจ้งการกำหนดกรอบงบประมาณให้ กฟก. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้เกษตรกร จำนวน 11,760 ราย มูลหนี้ประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งต่อมา สตง. มีหนังสือถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมการกองทุน กฟก. เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้เร่งด่วนดังกล่าว
ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือถึง สตง. เพื่อชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรี ไม่ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อให้ กฟก. นำไปใช้แก้ปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกรสมาชิกกองทุน กฟก. แต่อย่างใด แค่อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของ กฟก. ตามนโยบายรัฐบาลปี 2559 เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
แต่เท่าที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่กรณีม็อบเกษตรกรที่ จ.อ่างทอง เท่านั้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีม็อบเกษตรกรอีกหลายกลุ่ม ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
โดยเฉพาะม็อบใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุน กฟก. จำนวนหลายพันคน จาก 26 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เคยนัดชุมนุมที่สะพานพระราม 8 เมื่อต้นปี 2559 ให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากยังแก้ไม่ได้ เตรียมจะเข้ามาชุมนุมใหญ่ที่ กทม. อีกครั้งหนึ่ง
คำถามที่น่าสนใจคือ ตกลงแล้วเงินกองทุน กฟก. มีปัญหาจริงอย่างที่ สตง. เคยท้วงติงไปหรือไม่ ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สตง. ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาของสำนักงาน กฟก. เรียบร้อยแล้ว สรุปได้ ดังนี้
จากการตรวจสอบของ สตง. ที่ผ่านมา การดำเนินงานของกองทุน กฟก. เกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรจำนวน 2 ครั้ง พบว่า การจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของ กฟก. ยังขาดประสิทธิผล สาเหตุเกิดจากที่ กฟก. ขาดระเบียบ หลักเกณฑ์ ในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ เกษตกรที่ได้รับการจัดการหนี้ยังไม่มีรายใดได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อีกทั้ง กฟก. ยังประสบปัญหาด้านความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ความเป็นระบบของฐานข้อมูล นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกรภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนฯ เมื่อปี 2559 พบว่า กฟก. ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร โดยพิจารณาเพียงว่า เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) แต่ไม่มีการสำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อน และฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนหนี้
สตง. เห็นว่า การจัดการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรของ กฟก. เป็นการลดภาระหนี้ให้เกษตรกรถึงร้อยละ 50 โดยรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้ให้แก่สหกรณ์ การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีที่จ่ายหนี้ครบถ้วน ตรงเวลา ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาว่า ไม่มีเกษตรกรรายใดที่อยากเป็นลูกหนี้ชั้นดี เพื่อที่จะได้สิทธิประดยชน์ในการลดภาระหนี้ร้อยละ 50 และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ
ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศในอนาคต และเพื่อลดภาระต่องบประมาณแผ่นดินจำนวนมากภายใต้โครงการดังกล่าว และโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สตง. พิจารณาแล้ว มีข้อเสนอแนะเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาสั่งการให้ กฟก. ดำเนินการดังนี้
หนึ่ง พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกร โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เฉพาะเกษตรกรที่ประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างแท้จริง ที่ไม่มีโอกาสหรือไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เกษตรกรผู้สูงอายุ/เกษตรกรผู้พิการ ซึ่งไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย และไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู
สอง สำหรับเกษตรกรที่ยังมีความสามารถ มีที่อยู่อาศัย หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ควรพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ในลักษณะอื่นแทน เช่น การพักชำระหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเหล่านั้น
สาม สั่งการให้มีหน่วยงานที่กำกับควบคุม ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้แทนเกษตรกรอย่างเคร่งครัด และกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุม เพื่อป้องกันความเสี่ยงในทุกขั้นตอนให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงตามที่ สตง. ตรวจสอบพบ และเคยมีหนังสือแจ้งความเห็นให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแก้ไขไปแล้วช่วงกลางปี 2558 แต่เรื่องก็ยังเงียบหายไป
กระทั่งต้องส่งหนังสือซ้ำไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุน กฟก. โดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของบรรดาเกษตรกร ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ ไม่แพ้ชาวนา หรือกลุ่มคนใช้แรงงานอื่น ๆ !
หมายเหตุ : ภาพประกอบการชุมนุมกลุ่มเกษตรกร จ.อ่างทอง จาก astvmanager