สังศิต พิริยะรังสรรค์ : ควรยกเลิกกฎหมายอั้งยี่
"...ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าถ้านิยามอั้งยี่เป็นเช่นนี้ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะมีแก๊งค์อั้งยี่อยู่ทั่วไปทั้งประเทศ.."
วันนี้ผมได้เข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการคณะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ผมได้ตั้งคำถาม 2 ข้อคือ
1.บริษัททัวร์ที่ถูกจับในข้อหาอั้งยี่ ว่าคำว่าอั้งยี่มีความหมายอย่างไร? และมีขอบเขตแค่ไหน?
และ 2.การที่หน่วยงานภาครัฐไปอายัดทรัพย์สินบริษัทคนไทยที่ให้บริการเช่ารถทัวร์ เราใช้เหตุผลอะไร?
คำตอบที่ผมได้รับคือ อั้งยี่ หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ปกปิดวิธีการดำเนินงานที่ผิดกฎหมายอาญาหรือแพ่ง เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าถ้านิยามอั้งยี่เป็นเช่นนี้ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะมีแก๊งค์อั้งยี่อยู่ทั่วไปทั้งประเทศ
ปัญหา คือ เราจะจับอั้งยี่พวกนี้ทั้งหมดได้อย่างไร?
คำนิยามแบบนี้จึงน่าจะเป็นปัญหา ผมเห็นว่าธุรกิจที่จะเรียกว่าอั้งยี่ได้ควรต้องมีการใช้อาวุธ ใช้อิทธิพลและความรุนแรงในการทำธุรกิจ
คำถาม คือ บริษัทที่ถูกจับข้อหาอั้งยี่มีพฤติกรรมการทำธุรกิจเช่นว่านี้หรือไม่?
2)ในส่วนของปัญหาการฟอกเงิน มีการพบว่าธุรกิจของคนจีนจำนวนหนึ่งใช้การสวมบัตรประชาชนไทย ส่วนบริษัททัวร์ที่ถูกจับเนื่องจากถูกบริษัทคนไทยหลายแห่งร้องเรียน ว่ามีการทำธุรกิจที่มีการเอารัดเอาเปรียบทัวร์ไทย มีการนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามา และไม่ชำระภาษีให้รัฐบาล
ผมฟังคำตอบแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาข้อสงสัยของผมได้ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า
1) ควรยกเลิกกฎหมายอั้งยี่ เพราะเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่สอดคล้องกับความจริงใจในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ พธม. เมื่อชุมนุมต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลทักษิณแกนนำ พธม. ได้ถูกรัฐบาลฟ้องข้อหาอั้งยี่ ส่วน กปปส. ที่ต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าข้อหาอั้งยี่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐที่ใช้ลงโทษผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐเท่านั้นเอง
2) เนื่องจากความผิดมูลฐานอั้งยี่ได้กลายเป็นมูลฐานความผิดที่ ปปง. สามารถใช้อำนาจอายัดทรัพย์สินของบุคคลและนิติบุคคลได้ตั้งแต่ ปี 2546 ดังนั้น ถ้ายกเลิกมูลฐานความผิดเรื่องอั้งยี่ การอายัดทรัพย์สินก็จะตกไปด้วย
3) การลงโทษความผิดบริษัททัวร์ไทยต้องพิจารณาว่าเรื่องอะไรที่เขาทำผิดจริงก็ลงโทษไป ถ้าเรื่องไหนที่เขาไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องถอนเรื่องนั้นเสีย
4) รัฐบาลควรทบทวนมาตรการยึดทรัพย์บริษัททัวร์ไทย โดยการผ่อนคลายการยึดทรัพย์และความเดือนร้อนให้กับบริษัทเพื่อให้พนักงานของบริษัทยังได้รับเงินเดือนอยู่
และ 5) การที่ภาครัฐจะตั้งข้อหาใดๆ ต่อภาคธุรกิจเอกชน ควรกระทำโดยยึดหลักนิติธรรมและความโปร่งใสและควรคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย