แบ่งกันร่วมรับผิดชอบสังคมสูงวัย นักวิจัยทีดีอาร์ไอเสนอตั้ง 'กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว'
ทีดีอาร์ไอ แถลงผลการศึกษาเรื่อง “พร้อมรับสังคมสูงวัย:วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” คาด ปี 2560 จำนวนผู้สูงอายุติดบ้าน และจำนวนผู้สูงอายุติดเตียง รวมกันกว่า 3.7 แสนคน อีก 20 ปี หรือปี 2580 จะมีกว่า 8 แสนคน
วันที่ 20 กันยายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการศึกษาเรื่อง “พร้อมรับสังคมสูงวัย:วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดยดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันเราให้ภาระการดูแลเป็นเรื่องของครอบครัว ยิ่งเมื่อครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง คนที่ต้องแบกภาระจึงหนักมาก ปัจจุบันพบว่า มีผู้สูงอายุอยู่ในภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการดูแลเพิ่มขึ้นตาม โดยในปี 2560 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุติดบ้าน และจำนวนผู้สูงอายุติดเตียง รวมกันกว่า 3.7 แสนคน อีก 20 ปี หรือปี 2580 จะมีกว่า 8 แสนคน
ขณะที่ความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง ดร.วรวรรณ กล่าวว่า มีถึง 2.5 แสนคน และปี 2580 มีความต้องการถึง 6 แสนคน ซึ่งเป็นอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ผู้สูงอายุติดเตียงต้องการผู้ดูแล 1:1 ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ผู้สูงอายุติดบ้าน โดยเฉลี่ยต้องทำงาน 100 ชั่วโมงต่อเดือน” ดร.วรวรรณ กล่าว และว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงของทั้งประเทศ ปี 2560 (นอกเหนือจากระบบที่รัฐบาลให้การดูแลอยู่) 1.ค่าอุปกรณ์ (สิ่งที่เสริม เตียงผู้ป่วย เบาะพิเศษ รถเข็น ผ้าอ้อม ฯลฯ) วัสดุสิ้นเปลือง และ 2.ค่าเดินทางผู้จัดการดูและ บวกกับค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางของผู้ดูแล รวมกันเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และ อีก 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท
สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ดร.วรวรรณ กล่าวว่า แต่ละปีพบว่า เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 3 แสนคน และโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในปี 2557 ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งภายใต้โครงการบัตรทองมีค่ารักษาพยาบาลเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตเฉลี่ย 4.4 หมื่นบาท สูงสุดอยู่ที่ 3.5 แสนบาท
“ถ้าค่าใช้จ่ายเหล่านี้รัฐต้องควักกระเป๋าเองจะลำบากมาก ถามว่า สังคมไทยจะดูแลตรงนี้อย่างไร ดังนั้น คณะวิจัยจึงออกแบบให้สังคมที่ยังไม่ป่วยช่วยดูแล และให้ผู้ป่วยและท้องถิ่นช่วยกันคนละครึ่ง”
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงการแบ่งกันร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 1.งบประมาณด้านสาธารณสุข งบประมาณเยี่ยมบ้าน ก็มีเหมือนเดิม เพียงแต่รัฐต้องจัดตั้ง “กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว” ขึ้นมา โดยจะมีค่าบริหารจัดการเกิดขึ้น 2.ค่าอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง และค่าเดินทางของผู้จัดการดูแล รัฐบาลและประชาชนอายุ 40-65 ปี ช่วยสมทบ และ 3.ค่าผู้ดูแลและค่าการเดินทางของผู้ดูแล ท้องถิ่นและผู้ใช้บริการรับผิดชอบสัดส่วนที่เท่ากัน
ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการรักษาตัวที่บ้านช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ในหลายประเทศมีการเสียชีวิตที่บ้านในสัดส่วนที่สูง เช่น เยอรมันร้อยละ 51 ญี่ปุ่น ร้อยละ 81 อีกทั้งในหลายประเทศผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตวันสุดท้ายที่บ้าน ดังนั้น Hospice Care ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย มีระบบการติดตามอาการและช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงสร้างกลไกการสนับสนุนทางการเงินแก่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน โดยการตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว มีรัฐช่วยสนับสนุนให้กองทุนนี้เกิดขึ้น และออกแบบให้ประชาชนอายุ 40-65 ปี สมทบเงินเข้ากองทุน
“รูปแบบของหลายประเทศที่มีระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาว มิติของสังคมไทยควรเป็นอย่างไร นักวิจัยเรามองหลายมิติ หลายรูปแบบ จึงสังเคราะห์แล้วเห็นว่า ทุกภาคส่วนควรเข้ามารับผิดชอบในสัดส่วนไม่สูงนัก เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ โดยออกแบบให้วัยที่กำลังสูงอายุแน่ๆ มาร่วมรับผิดชอบ”
ทั้งนี้ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตรัฐบาลสามารถนำเรื่องนี้ หยิบขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงกับผู้สูงอายุได้ เพราะแทบทุกคนได้ประโยชน์ และเปิดโอกาสบทบาทท้องถิ่นดูแลคนของตัวเอง
ขณะที่รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวถึงการวางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว (Long–term care) แตกต่างจาก การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวจะใช้ระยะเวลานาน 5-10 ปี แต่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง อยู่ที่ 6 เดือน ถึง 1 ปี มีเรื่องของการจัดการอาการป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีแพทย์ มีทีมที่เชี่ยวชาญ มีการดูแลด้านจิตวิญญาณ และต้องการเข้าถึงบริการได้ 24 ชั่วโมง เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ในบ้านเรายังไม่มีค่าหัว เหมือนโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ที่รัฐต้องจ่ายตามรายหัวของคนไข้ ซึ่งในอนาคตควรมี เพื่อให้รพ. มีรายได้นำเงินบริหารจัดการ ขณะเดียวกันการขาดผู้เชี่ยวชาญ Palliative care ทั้งๆ แพทย์คือหัวใจของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ต้องสื่อสารกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ ทักษะที่จะให้กับแพทย์เรื่องนี้ถือว่า ยังน้อยมาก”
ด้านนพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ก่อตั้ง Health at Home กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้าน เป็นกระแสที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมกับเชื่อว่า โฮมแคร์กำลังจะกลับมา ที่สหรัฐอเมริกา จะไม่มีการสร้างรพ.ใหม่แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่พยายามส่งคนไข้กลับบ้าน และส่งหมอ พยาบาลไปดูแลที่บ้าน
ทั้งนี้ นพ.คณพล กล่าวถึงค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยระยะยาว หรือระยะสุดท้าย ในบ้านเรายังมองผู้ดูแลผู้ป่วยกับแม่บ้าน ไม่แตกต่างๆ กัน ดังนั้น ตัวมาตรฐานต้องเกิดขึ้น และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยเริ่มต้น 1.5 หมื่นบาท ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักอยู่ที่ 1.8-2.5 หมื่นต่อเดือน โดยทำงานวันละ 12 ชั่วโมง
“ค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยเริ่มต้น 1.5 หมื่นบาท เราอาจรู้สึกเยอะ แต่บุคคลเหล่านี้มีทักษะเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญ”
หน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบ | ความรับผิดชอบ |
ภาครัฐ | ผู้จัดการการดูแลและบริการสาธารณะสุขอื่น ๆ |
ประชาชนอายุ 40-65 ปี | สมทบเงินเข่ากองทุน |
ผู้ใช้บริการ | ค่าใช้จ่าย (ค่าผู้ดูแล+ค่าเดินทางผู้ดูแล)/2 |
ท้องถิ่น | ค่าใช้จ่าย (ค่าผู้ดูแล+ค่าเดินทางผู้ดูแล)/2 |
ภาคเอกชน |
ดำเนินธุรกิจ 1.บริการ (ผู้ดูแล สถานบริการ และรถรับ-ส่ง) 2.สินค้า (อุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง) |
ภาคส่วน | ปี 2560 (ล้านบาท) | ปี 2580 (ล้านบาท) |
ภาครัฐ | งบประมาณด้านสาธารณะสุข | งบประมาณด้านสาธารณะสุข |
ประชาชนอายุ 40-65 ปี | 14,984 | 50,196 |
ผู้ใช้บริการ | 20,785 | 74,761 |
ท้องถิ่น | 20,785 | 74,761 |
ภาคเอกชน | บริจาคเงิน | บริจาคเงิน |