ป.ป.ช.ยื่นศาล รธน.ตีความอำนาจฟัน จนท.ผิดวินัยร้ายแรง หลังศาล ปค.ชี้ทำไม่ได้
ป.ป.ช. ยื่นศาล รธน. ตีความอำนาจหน้าที่ไต่สวนทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่-ผิดต่อหน้าที่ราชการ-ยุติธรรม-ความผิดทางวินัย หลังถูกศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในคำพิพากษาอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ชี้ฟันผิดวินัยร้ายแรงไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการไต่สวนวินิจฉัยผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดวินัยตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ได้ทุกฐานความผิดที่เป็นผลมาจากความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือไม่
กรณีนี้ เกิดขึ้นภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในคดีพิพาทระหว่าง นายสมปอง คงศิริ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี โดยสรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดีเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น เป็นการกระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาโทษผู้ฟ้องคดี คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ถกปมศาล ปค.ชี้ไร้อำนาจฟันผิดคนทำราชการเสียหาย-ประพฤติชั่วร้ายแรง)
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อโต้แย้งไปถึงศาลปกครองสูงสุด สรุปสาระสำคัญได้ว่า การวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดก้าวล่วงอำนาจหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 (ขณะนั้น) มาตรา 223 วรรคสอง บัญญัติว่า อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดยังคลาดเคลื่อนกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องกลับมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการยื่นเรื่องเอง
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ค้านศาล ปค.! ยันมีอำนาจฟันผิดฐานทำราชการเสียหาย-ชงศาล รธน.ชี้ขาด)