กก.กสทช.ยอมรับ การเมืองล๊อบบี้ตำแหน่งเลขาฯ
กสทช.ยอมรับการเมือง-ธุรกิจแทรก ระบุ มี.ค.ประชาพิจารณ์ร่วม 3 แผนแม่บท สื่อเสนอไม่เรียกคืนคลื่นแต่ควบคุมเนื้อหา เอ็นจีโอผิดหวังไม่แยกวิทยุชุมชนออกจากคลื่นธุรกิจ แนะร่วมตรวจสอบ กสทช.
วันที่ 17 ม.ค.55 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา “ความคาดหวังของผู้ประกอบการวิชาชีพต่อ กสทช.” ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้เร่งดำเนินการยกร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใน 30 วัน โดยจะจัดรับฟังความคิดเห็นบนเวทีเดียวกัน ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน มี.ค. 55
นพ.ประวิทย์ ยอมรับว่าการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. มีการล๊อบบี้จากฝ่ายการเมืองและธุรกิจ โดยใช้อำนาจผ่านโครงสร้างเดิมสังคมไทย แต่จะทำหน้าที่อย่างชอบธรรมที่สุด
ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บริษัทเนชั่นบรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเชื่อมั่น กสทช. 11 คน แม้จะมีคนในกองทัพเป็นกรรมการหลายคนก็ตาม ส่วนกรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุนั้น ตนเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ควรหันมาควบคุมการผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินควร โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี
“อนาคตช่องฟรีทีวี 3 5 7 และ 9 จะแยกไม่ออกจากเคเบิลทีวี เนื่องจากหลายครอบครัวทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีการติดตั้งจานดาวเทียมแพร่หลาย จึงควรเร่งควบคุมเนื้อหาออกอากาศ พร้อมเสนอร่างแผนแม่บทด้านดิจิตอลที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อรองรับอนาคต” นายอดิศักดิ์ กล่าว
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่าสิ่งที่คาดหวังจากการทำงานของ กสทช.มากที่สุดหลังผ่านไป 3 เดือน คือ 1.จริยธรรมการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร โดยเฉพาะการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองในกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานต้องหลุดกรอบระบบราชการให้ได้ 2.การพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้รวดเร็ว และ3.กสทช.ไม่ควรทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นเป็นเพียงประเพณีปฏิบัติ แต่ควรนำความคิดเห็นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
น.ส.สุวรรณา กล่าวต่อว่า ขณะนี้คลื่นความถี่วิทยุมีเพียงพอ แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือเนื้อหาที่ต้องมีการจัดสรรควบคุมอย่างเหมาะสม พร้อมเรียกร้องให้กสทช. จัดสรรคลื่นวิทยุเข้าสู่ระบบดิจิตอลให้เร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องรอแผนแม่บท เพียงเปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนดำเนินการได้เลย
นางบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. กรณียืดเวลาออกอากาศวิทยุชุมชน 300 วัน โดยยังไม่มีการแบ่งประเภทวิทยุชุมชนออกจากวิทยุธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการจัดสรรคลื่นภายหลังได้
“วิทยุชุมชนนับเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อกคนชนบทมาก แต่ปัจจุบัน กสทช.ยังไม่มีแผนควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อกลุ่มนี้ จึงเสี่ยงต่อผู้บริโภคในชนบท กสทช.ควรร่วมมือกับองค์การอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดแผนควบคุมจริงจัง รวมถึงโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมด้วย”
นางบุญยืน กล่าวต่อว่าต้องการเห็น กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ตลอดจนสื่อมวลชนต้องมีหน้าที่เกาะติดและเผยแพร่ ขณะที่ประชาชนมีหน้าที่ติดตามทวงถาม เพื่อถ่วงดุลอำนาจและการทำหน้าที่ สามารถตรวจสอบ กสทช.ได้ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็ตาม .