40 อดีต ส.ส.เพื่อไทยขอ ป.ป.ช. ทบทวนสอบปมเสนอร่าง กม.นิรโทษฯ
40 อดีต ส.ส.เพื่อไทย ยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช. ทบทวนการตั้งอนุฯไต่สวนปมเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯปี’56 ยันทำหน้าที่ตามอำนาจในสภา มุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนทุกสี - เลขาฯยันค้านได้แต่อนุกรรมการฯ เปิดโอกาสให้แจงเต็มที่
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีกล่าวหานายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 40 ราย กรณีร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. เมื่อปี 2556 โดยเห็นว่า เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. นั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมด้วยอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกหลายราย เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีคำสั่งทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ในกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เรื่องกล่าวหาดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยมี พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ
นายประเสริฐ กล่าวว่า สาเหตุที่มายื่นหนังสือของให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีนี้นั้น เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของพวกตน คือการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่หน้าที่ของ ป.ป.ช. คือการตรวจสอบเรื่องทุจริต และร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้นการที่มาก้าวก่ายเรื่องภายในสภาผู้แทนฯ ทำให้พวกตนรู้สึกไม่สบายใจ ทำให้เสื่อมเสียเชื่อเสียง จิตใจล่มสลาย ทั้งที่เป็นผู้แทนจากประชาชน และต่อไปอาจทำให้การเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส. นั้น มีความผิดขึ้นได้
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า พวกตนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นมีความขัดแย้งเยอะ และมีคดีความเกี่ยวกับการเมืองในชั้นศาลเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในฐานะเป็น ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชน จึงควรช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ และจากการสอบถามทั้งอัยการ ตำรวจ และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ให้ความเห็นตรงกันว่า คดีเหล่านี้มีเยอะ และรกศาล จึงดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย
ส่วนนางสุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นหน้าที่และสิทธิโดยชอบธรรมของการทำงานในสภาผู้แทนฯ เป็นไปตามมาตรา 90 และ 142 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติบัญญัติ ส่วนที่กล่าวหาว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการทุจริตก็ไม่เป็นความจริง แต่มุ่งเน้นนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่รวมถึงแกนนำผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยประกาศใช้ในอดีตกว่า 20 ฉบับ ดังนั้นการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เรื่องนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ล่าสุด นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย 40 ราย ถูกกล่าวหาในฐานความผิดทั้งทางอาญา และทางวินัย ส่วนที่ยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ในเรื่องดังกล่าว ตามหลักกฎหมายแล้ว ไม่อาจทำได้ ทำได้แค่ยื่นเรื่องคัดค้านบุคคลในคณะอนุกรรมการไต่สวนฯเท่านั้น แต่หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามที่ยื่นเรื่องมา ก็อาจนำไปรวมในสำนวนได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยืนยันว่า ป.ป.ช. เปิดโอกาสให้ชี้แจง และใช้พยานหลักฐานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว