เมืองของไทย คือ "บ้าน" ของเรา
เมืองไทยยุคใหม่นี้ คนในเมืองจึงต้องสร้างเมืองด้วยตนเองมากขึ้น รักเมือง มีจิตอาสาเพื่อเมือง ร่วมกันดูแลพัฒนาเมือง ทำให้บรรดาเมืองทั้งหลายของไทย เป็นเสมือน "บ้าน" ของเรา สร้างเมืองโดยชาวเมืองและเพื่อชาวเมืองให้มากขึ้น ทำให้เมืองเป็น "บ้าน" ของเราเอง
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง เมืองของไทย คือ "บ้าน" ของเรา
----
ประเทศไทยทุกวันนี้ไม่ใช่ชนบทเสียแล้ว บ้านเมืองกลายเป็นเมือง นคร และ มหานคร เป็นหลัก ประชากรในเขต กทม พัทยา และในเทศบาลทุกประเภทรวมกันมีราวครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ หากนับรวมกับ อบต ที่มีรายได้สูงด้วย ก็จะเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
เมืองระดับนานาชาตินอกจาก กทม. แล้วยังมีภูเก็ต พัทยา ที่รวมกันจัดเป็นสามเมืองใน 25 เมืองของเอเชีย-ปาซิฟิกที่มีผู้มาเยือนจากต่างประเทศมากที่สุด เชียงใหม่แม้ไม่อยู่ใน 25 เมืองนี้แต่ก็คงอยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 25 ไม่มาก น่ายินดี คือ กทม เป็นเมืองอันดับหนึ่งของโลกและของเอเชีย-ปาซิฟิกในแง่ที่มีผู้มาเยือนจากนานาประเทศมากที่สุด
ยังมีโอกาสดีๆ อีกมหาศาลที่รอเมือง นคร มหานคร ของเรา พร้อมๆกับมีปัญหานานาประการที่จะต้องบำบัดแก้ไขต่อไป แต่การบริหารและการพัฒนาของไทยนั้น ขณะนี้ รวมศูนย์ยิ่ง ไม่ได้มอบหมายให้เมืองและจังหวัดเป็นหน่วยหลักในการพัฒนาประเทศ กลับใช้แต่กรมและกระทรวงเป็นสำคัญ
เมือง นคร มหานคร ในความจริง เป็นเพียงภาคสนามของบรรดากรมต่างๆ ที่หย่อนตัวหย่อนสายลงไปทำงานในสนาม หากจะพัฒนา วางแผน และแก้ปัญหาเมืองให้ดีจริง ยังจะต้องรอการปฏิรูปให้พื้นที่กลายเป็นหน่วยหลักในการพัฒนาเสียก่อน
เฉพาะหน้านี้ สิ่งที่จะต้องทำคือสร้างและรวบรวมคนในเมืองจำนวนหนึ่งขึ้นมา อาจเรียกว่า "ผู้สร้างบ้านแพงเมือง" (คำว่า "แพง" แปลว่าทนุถนอมด้วยความรัก เป็นภาษาถิ่นของอีสานและเหนือ) คนกลุ่มนี้คือผู้อาสาเข้ามาช่วยกันพัฒนาเมือง อาจเป็นสมาชิกหรือเป็นผู้นำของประชาสังคม อาจเป็นข้าราชการ อาจเป็นนักการเมือง อาจเป็นครูอาจารย์
คนเหล่านี้เป็นคนรักเมือง เสียสละให้เมือง ทำตัวเป็น "เจ้าของ" เมือง ทุ่มเททำงานให้เมือง หลงไหลในอดีตกาลของเมือง สนใจในเสน่ห์ประเพณีและวัฒนธรรมเมือง เรียนรู้หาจุดเด่นจุดแข็ง รู้แจ้งถึงโอกาส และมองเห็นถึงอนาคตของเมือง
คนเหล่านี้คือ "นาย" และ"พล"ประจำการของเมือง เขาจะร่วมมือ ประสานงาน ช่วยเหลือ ช่วยคิดและสร้างสรรค์พัฒนาเมือง ร่วมกับราชการและท้องถิ่น และภาคเอกชนในแทบทุกด้าน
ที่สำคัญที่สุด บรรดา "ผู้สร้างบ้านแพงเมือง" เหล่านี้ ต้องมองถึงโอกาสของเมืองเป็นหลัก อย่ามองแต่ปัญหา คิดอะไรเชิงบวก กล้าคิด กล้านำ ต่อส่วนราชการและท้องถิ่น โดยเน้นการนำทางความคิดและปัญญา อย่างสุภาพ นุ่มนวล ไม่แข็งกร้าว สันทัดเป็นพิเศษในการทำงานอย่างไม่เป็นทางการแต่ได้ผล เคารพกฏระเบียบและกฏหมายด้วย
ต้องย้ำว่า"ผู้สร้างบ้านแพงเมือง" ต้องไม่ท้อแท้หรือเหนื่อยหน่ายหรือ"ยอมจำนน" กับการทำงานของราชการที่ยึดแต่หลักกฏหมายและอยากทำงานอย่างเป็นทางการเท่านั้น สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ เพราะเหตุว่าเมืองนั้นเป็น "บ้าน" ของเราจริงๆ ใกล้กว่า ตรงกว่า สำคัญกว่า "ชาติ" ที่อยู่ไกลเราออกไปเสียอีก
จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดีขึ้นต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าในอดีตนั้น หน่วยในการปกครองของเรามี "เมือง" กับ "บ้าน"
"เมือง" นั้นปกครองโดยเจ้าโดยนาย มีทั้งบริเวณที่อยู่ในวงกำแพงและนอกกำแพงเมือง ที่ล้อมไว้ด้วยกำแพงคือบรรดาเจ้านายและครอบครัว หรือผู้ช่วยและกำลังพลใกล้ชิด ส่วนคนที่อยู่นอกกำแพงเมืองออกไปนั้นคือบ่าวคือไพร่ ซึ่งเป็นชาวนาด้วยเป็นสำคัญ
"บ้าน" นั้นหมายถึง "ครอบครัว" หรือ "เรือน" ที่อยู่รวมๆ กันมากพอควร มีการจัดระเบียบทางสังคมในการดูแลกันเองของสมาชิกซึ่งเป็นไพร่ในภาคเกษตร แต่โดยที่อยู่ห่างไกลหรือค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางเมือง จึงไม่มีทางการมาข้องเกี่ยวใกล้ชิดนัก
"บ้าน" จึงต่างไปจาก"เมือง" ตรงที่มี"โอกาส" ให้สมาชิกในการดูแลตนเอง (สำหรับคนที่ต้องการเสรีภาพและโอกาสในการสร้างสรรค์เมืองตนเอง) และมีความ "จำเป็น" ที่สมาชิกจะต้องปกครองตนเองหรือพัฒนากันเอง (สำหรับคนที่ไม่พร้อมหรืออ่อนแอ และรอรับการนำจากอำนาจที่ศูนย์กลาง)
เมื่อประเทศเปลี่ยนแปลงไปในรอบกว่าร้อยปีมานี้ "บ้าน" จะค่อยๆ หมดไป เหลือเพียง"ตำบล" และ "หมู่บ้าน" และคำว่าบ้านจะลดความหมาย ถูกนำมาใช้แทนคำว่า"เรือน" ที่ใช้กันในอดีต
อดสรุปไม่ได้ว่า เราดูเหมือนจะเจริญขึ้นแต่เจริญแบบพึ่งตนเองน้อยลง พากันพึ่งรัฐมากขึ้น มากจนไม่รู้สึกตัว
แม้ตำบลและหมู่บ้านยังเหลือกำนันและผู้ใหญ่บ้านอยู่ แต่ก็จะตกอยู่ใต้การนำพาของข้าราชการทั้งจากส่วนภูมิภาคและส่วนกลางท่ีทอดตัวหย่อนกายลงไปถึงเขตชนบทอย่างหนาแน่น
ทว่า เมื่อสี่สิบปีที่แล้วเอง ที่ผู้เขียนรำลึกได้ แทบทุกคืนในหมู่บ้านที่ไปอยู่ด้วย พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้านในภาคเหนือ) จะรัวเกราะเรียกชาวบ้านมาประชุม เช่น จะหารือกันเรื่องควายเราถูกคนลอบมาลักเอาไปหรือถนนเข้าหมู่บ้านเราชำรุดเสียหาย เป็นต้น และข้อสรุปก็คือเราต้องจัดเวรยามยามค่ำคืนมาเฝ้าวัวควายเอาไว้ตั้งแต่คืนนี้ไป หรือเราต้องพากันไปซ่อมถนนในวันรุ่งขึ้น
จิตสำนึก ร่วมกันรัก"บ้าน" ร่วมดูแล "บ้าน" และ พัฒนา "บ้าน" แบบนี้ จะต้องรักษาเอาไว้ และขยายไปให้ถึงเมืองนครและมหานครด้วย แต่บ้านเมืองเดินมาไกลขนาดนี้แล้ว รัฐบาลและท้องถิ่นมีงบประมาณและกำลังคนมากขึ้นแล้ว เราย่อมไม่ควรจะหลีกหนีหรือปฏิเสธราชการ ถอยกลับไปไกลจนถึง"บ้าน"ในยุคก่อนที่แทบไม่มีงานเงินคนของรัฐมาเกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการบริหารและการพัฒนาเมืองทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องมีงานเงินคนของหลวงและท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้และวิสัยทัศน์ของทางการ และต้องเพรียบพร้อมไปด้วยศิลปวิทยาและเทคโนโลยีเท่านั้น หากยังจะต้องปลูกฝังความรักเมือง นิยมเมือง รู้และภูมิใจในเมือง อยากอาสามาพัฒนาเมือง ด้วย แหละนี่จะเป็นหลักนิยมใหม่ที่จะเคียงคู่ไปกันกับ "ชาตินิยม"ที่ปลูกฝังกันมานานแล้ว
เมืองไทยยุคใหม่นี้ คนในเมืองจึงต้องสร้างเมืองด้วยตนเองมากขึ้น รักเมือง มีจิตอาสาเพื่อเมือง ร่วมกันดูแลพัฒนาเมือง ทำให้บรรดาเมืองทั้งหลายของไทย เป็นเสมือน "บ้าน" ของเรา สร้างเมืองโดยชาวเมืองและเพื่อชาวเมืองให้มากขึ้น ทำให้เมืองเป็น "บ้าน" ของเราเอง
ในภาวะที่เมืองทั้งหลายกำลังเติบใหญ่มากมาย จะต้องสร้าง "ชาวเมือง" ที่ก้าวหน้าท่ีห่วงใยและที่อยากรังสรรค์เมืองขึ้นมาด้วย เขาเหล่านี้คือ "ผู้สร้างบ้านแพงเมือง"