ผจก.ศวปถ. จี้รัฐเร่งพัฒนาระบบเชื่อมกัน โดนใบสั่ง ไม่จ่าย ต่อทะเบียนรถไม่ได้
นักวิชาการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ หนุนแนวคิดพล.อ.ประวิตร ใครไม่จ่ายค่าปรับไม่ต่อทะเบียน หวังอุดช่องโหว่ กฎจราจรไม่ศักดิ์สิทธิ์ ด้านนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ แนะใครโดนใบสั่ง และยังทำผิดซ้ำ ให้เพิ่มค่าปรับ เชื่อแก้ปัญหาละเมิดกฎจราจรได้ชะงัก
จากกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยได้สั่งการแก้ไขปัญหาจราจรที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าปรับ ไปยังกรมการขนส่งทางบก หากมีการไม่มาจ่ายค่าปรับจะไม่ให้กรมการขนส่งทางบกต่อทะเบียนรถนั้น
ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (TARC) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา โดยเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพื่อลดปัญหาและการเกิดอุบัติเหตุการจราจรทางบก ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวควรเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมามีปัญหาของการทำงานที่แยกส่วนกันทำงานของหน่วยงานตำรวจ ที่ทำหน้าที่ออกใบสั่ง และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งทำหน้าที่ต่อทะเบียนรถ ไม่มีข้อมูลที่เชื่อมกัน จึงกลายเป็นช่องโหว่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดนใบสั่ง ไม่จ่ายค่าปรับก็สามารถต่อทะเบียนรถได้
“เรื่องนี้ทางพล.อ.ประวิตรสามารถสั่งการให้ทำงานร่วมกันได้ และคำสั่งนี้ยิ่งทำเร็วที่สุดก็จะยิ่งดี เพราะเชื่อว่า สามารถลดสถิติของปัญหาการจราจร และการเกิดอุบัติเหตุให้ลดลงได้มากกว่าเดิม”
ดร.กัณวีร์ กล่าวถึงการทำผิดกฎจราจรจนกระทั่งโดนใบสั่ง ไม่ควรจบปัญหาเพียงเรื่องการไม่ให้ต่อทะเบียนรถเท่านั้น แต่ควรเพิ่มการใช้ระบบตัดแต้มแบบที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน คือ การลงประวัติเก็บข้อมูลว่า ใครทำผิดกฎจราจรอะไรมาบ้าง ทำผิดกฎมากเท่าไหร่ เพิ่มการลงโทษ และหากทำผิดเกินที่ทางการกำหนด ก็จะถูกระงับการใช้รถบนท้องถนน เพื่อเป็นการเตือนไม่ให้ทำผิดกฎจราจรซ้ำ
ทั้งนี้ ดร.กัณวีร์ กล่าวด้วยว่า วิธีลดปัญหาการทำผิดกฎจราจร ผู้ขับรถควรเคารพกฏกติกา เชื่อมากขึ้น ร่วมถึงการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในการจราจรทางบกอีกด้วย
ขณะที่ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการปลดล็อคปัญหาเจอใบสั่งทำผิดกฎจราจร แต่ไม่ไปจ่ายค่าปรับ และยังกระทำความผิดต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังสามารถใช้รถได้อย่างปกติ แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมมองข้ามข้อบังคับ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า เพื่อทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ ควรทำควบคู่กับการเชื่อมต่อข้อมูลทางออนไลน์ ทั้งฝ่ายตำรวจและกรมการขนส่งทางบก โดยเฉพาะการส่งข้อมูลกระทำความผิดให้ตรงกัน เพื่อลดปัญหาทั้งสองฝ่ายรู้ไม่เท่ากัน
"ผมมองว่า ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขร่างข้อบังคับอย่างเดียว แต่ระบบก็ต้องมีการพัฒนาด้วยการนำเทคนิค นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์"ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าว และว่า ทั้งนี้ ควรเพิ่มอัตราโทษให้มากกว่าเดิม และอีกระบบที่ควรจัดทำเป็นระบบการจัดเก็บความผิดซ้ำ ที่ช่วยบันทึกจำนวนความผิดของผู้กระทำความผิด ถ้าในระบบขึ้นว่า เคยทำมาแล้ว ให้เพิ่มค่าปรับขึ้นมากกว่าครั้งแรกที่เคยโดน เพื่อให้ผู้ขับเห็นบทบาทของข้อบังคับและบทลงโทษเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย แม้จะเป็นเพียงใบสั่งที่มีอายุความเพียงแค่ 1 ปีก็ตาม