ปัญหาเขาหัวโล้น กับมุมมองคนนอกมองคนน่าน- คนน่านมองคนนอก
คนนอกมองคนน่านว่าทำลายป่า คนน่านมองคนนอกว่า ทำไมไม่ช่วย แต่เราทั้งหมดลองมองอีกมุมหนึ่ง คือมุมร่วมกัน ผสานความคิดร่วมกัน เป็นทางออกของคนในชุมชน ไม่ใช่แก้เฉพาะคนน่านอย่างเดียว
ปัญหาเขาหัวโล้นทางภาคเหนือ ดูจะเป็นประเด็นปัญหาที่มีการพูดถึงตลอดปีที่ผ่านมา เกิดกระแสทางสังคมากมาย หลายหน่วยงานโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ประกาศนโยบายเร่งด่วนเพื่อจัดการปัญหา
และเมื่อเร็วๆ นี้ กรมป่าไม้ จัดการประชุมการป่าไม้ประจำปี 2559 "12 ทศวรรษ การป่าไม้ไทยก้าวไกลด้วยนวัตกรรม" ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วงหนึ่งมีเวทีเสวนา “เขาหัวโล้น ต้องฟื้นฟูและพัฒนาอย่างไร?”
พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน บอกว่า คนน่านมีหลายชนเผ่า แต่ชนเผ่าจะอยู่ตามไหล่เขา พื้นที่สูง สมัยก่อนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าการพัฒนาไม่ได้เป็นนโยบายหลัก คนก็อยู่กินกับป่าได้
ส่วนเรื่องการปลูกข้าวโพด เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน ชี้ว่า คนแถวนั้นก็ปลูกมานานแล้ว แต่ปลูกบนฐานของความพอดี ปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะการพัฒนาบนฐานด้านเศรษฐกิจที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลใช้คำว่า พัฒนาเป็นนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดกับคนน่านและคนภาคเหนือ คือ ภัยคุกคาม
ภัยคุกคาม สามารถแบ่งออกได้ 3 ด้านด้วยกัน (1) นโยบายของรัฐ (2) นายทุน (3) ความไม่รู้ของประชาชน
"นโยบายของรัฐใช้คำว่า พัฒนาเป็นเครื่องมือ การพัฒนาในนัยหนึ่งก็ถือเป็นเจตนาดี แต่ที่ผ่านมาเราพัฒนาบนฐานทุนโดยลืมฐานธรรม คำนึงแต่ตัวเลขทางเศษฐกิจ นายทุนก็รุกคืบเต็มสูบ ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ชาวบ้านก็เอาด้วย เพราะเห็นเงินเร็ว"เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ให้มุมมอง และเห็นว่า ในบรรดาพืชนั้น ไม่มีตัวไหนปลูกง่ายเท่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ง่ายที่ว่า ไม่มีเงินก็ปลูกได้ เพราะว่านายทุนคอยสนับสนุน คอยช่วยทุกอย่าง ตั้งเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงยาฆ่าแมลง ขณะเดียวกันตลาดก็ไม่ต้องหา ไม่ต้องคิดอะไรมาก ขายก็ได้เงิน
จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้วราวปี 2543 มีประมาณแสนกว่าไร่ จนวันนี้ตัวเลขเพิ่มเป็น 1.6 ล้านไร่ เรียกว่า เปลี่ยนโฉมหน้าอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้แรงจูงใจอีกหนึ่งอย่างที่ส่งให้อัตราการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น จากที่พระครูสุจิณนันทกิจ ได้พูดคุยกับชาวบ้านบอกว่า ทำเผื่อจะได้เงินทดแทน หากเกิดภัยพิบัติ เกิดน้ำท่วม ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เงินทดแทน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรลุ่มหลงมายาภาพ
“สุดท้ายปัญหาที่ตามา ที่ชาวบ้านไม่ได้คิด คือความอุดมสมบูรณ์หายไป สมัยโบราณมีสุภาษิตว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว วันนี้เปลี่ยนแล้วเป็น ในน้ำมียา ในนามีสารเคมี”
เมื่อเรารู้ว่าปัญหาเกิดกับเกษตรกร พระครูสุจิณนันทกิจ เห็นว่า เราไม่ควรโทษใครว่าสร้างปัญหา จึงสร้าง “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน” ชวนคนเล็กคนน้อยมาร่วมคิด สร้างต้นแบบในแก้ไขปัญหา โดยย้อนกลับมาคิดว่า ในเมื่อชาวบ้านยกให้วัดเป็นสถาบันหลักของชุมชน และมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ดังนั้นถ้าแก้ไขปัญหา คนยุคนี้ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เลยมีไอเดียทำวัดให้เป็นตัวอย่าง
"ทีแรกจะชวนคนมาปลูกป่าเศรษฐกิจ ชาวบ้านกลัวตัดไม่ได้ เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นของรัฐ เลยเอาพื้นที่วัดมาปลูกเป็นตัวอย่าง และนำหลักคิดที่ว่า ระหว่างดิน น้ำ สัมพันธ์กันจะเกิดอะไรขึ้น โดยมีแปลงตัวอย่างสามแบบ แบบแรกคือ ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจตลอดแนว อีกแปลงเป็นการนำเอาพื้นที่ป่าช้าเดิมที่มีการนำไปปลูกข้าวโพด มาปรับใหม่ โดยอาศัยญาติโยมที่มาถวายสังฆทาน กับแนวคิด ปลูกต้นไม้วันละต้น เสริมมงคลแก่ชีวิต
ปรากฏว่า ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลง จากป่าข้าวโพดเป็นป่าร่มรื่น ในส่วนแปลงสุดท้าย คือทดลองดูกับแนวคิดที่ว่า ดินกระทบกับน้ำ โดยปล่อยในพื้นที่แปลงหนึ่ง ไม่ต้องมีการปลูกต้นใดๆ ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง ปรากฎว่าผ่านไปไม่นาน พบว่ามีต้นไม้แย่งขึ้น โดยไม่ต้องปลูกและมีความหลากหลายกว่าการปลูกเสียอีก ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีพันธุ์พืชมากกว่า 363 ชนิดที่เพิ่มมา"
พระครูสุจิณนันทกิจ ชี้ว่า โจทย์ใหญ่วันนี้ น่านเรามีเขาหัวโล้น ไม่ให้ปลูกข้าวโพด แล้วชาวบ้านจะเอาอะไรกิน นี่คือความท้าทายต่อการเข้าไปจัดการพื้นที่เขาหัวโล้น
ก่อนจะเล่าถึงโครงการที่ทางวัดไปดำเนินการกับชุมชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในชื่อ โครงการสวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย โดยมีแบบจากพื้นที่ในวัด
"ใครมาเข้าร่วมโครงการต้องใช้โมเดล 5-3-2 นั่นคือ 50% ต้องปล่อยให้เป็นป่า ถ้าปลูกต้นไม้ก็ต้องปลูกให้ได้ป่าอย่าปลูกให้ได้แค่ต้นไม้ แบบนั้นไม่มีประโยน์ ส่วน 30% คือการปลูกไม้เศรษฐกิจ ที่สามารถแปลงเป็นตัวเงินได้ และสุดท้าย 20% เป็นเรื่องของปากท้อง ชาวบ้านต้องมีที่ทำกินถาวร สร้างแหล่งอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ โดยในช่วงแรกมีเพียง 3 ครอบครัวที่เข้าร่วม แต่ตอนนี้มี 53 ครอบครัวแล้ว"
จากวันนั้นเป็นต้นมาเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใส่เรื่องความรู้เข้าไป รู้จักการวางแผน ชวนหน่วยงานภาคีเข้าร่วมแก้ไข ก็เริ่มเห็นช่องทาง ในส่วนของจังหวัดน่านเอง ถ้าจะไปส่งเสริม ต้องไปฝึกฝนเกษตรก่อน
วิกฤตวันนี้เป็นโอกาส พระครูสุจิณนันทกิจ เห็นว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาองค์ความรู้ อีกทั้ง ราคาข้าวโพดอยู่ในขาลง บวกกับ นโยบายรัฐบาลไม่รับซื้อข้าวโพดในเขตป่า ก็ปรากฎว่า มีคนปล่อยทิ้งค่อนข้างเยอะมาก
"แนวทางวันนี้เราจะส่งเสริมและฟื้นฟูป่าได้ ทำอย่างไรให้ชาวบ้าน มีกำหนดขอบเขตว่า ถ้าทำอย่างไร น่านจะเป็นพื้นที่สีเขียวได้ คนนอกมองคนน่านว่าทำลายป่า คนน่านมองคนนอกมองว่า ทำไมไม่ช่วย แต่เราทั้งหมดลองมองอีกมุมหนึ่ง คือมุมร่วมกัน ผสานความคิดร่วมกัน เป็นทางออกของคนในชุมชน ไม่ใช่แก้เฉพาะคนน่านอย่างเดียว"
พระครูสุจิณนันทกิจ ให้ข้อคิดทิ้งท้ายด้วยว่า อย่าลืม น่านมีป่าไม้มากที่สุด ติด 1 ใน 5 ของประเทศไทย แต่มุมเดียวที่คนมองคือ เขาหัวโล้น อย่าลืมว่า ต้นน้ำน่านไหลมาเติมเจ้าพระยา 40% คนใต้ลุ่มน้ำน่านทำการเกษตรสามครั้ง คนน่านไม่ใช้น้ำน่าน คนน่านรักษาป่าต้นน้ำให้คนท้ายน้ำได้ใช้ ภาคอุตสาหกรรมในลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำจากน่านทุกวัน ปัญหาวันนี้เป็นปัญหาของใคร เป็นของทุกคนได้ไหม ทุกคนที่ได้รับอานิสงค์
"วันนี้ ถ้าส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่าไม้ ต้องทำให้เขาพึ่งตนเองให้ได้ด้วย ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้เชื่อว่าอีกสามปี เขาหัวโล้นก็จะกลับมามีสีเขียว”
ขอบคุณภาพประกอบ
มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ Pongkum Foundation
http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=3827018
https://i.ytimg.com/vi/VTXoHS2d0og/maxresdefault.jpg