เอ็นจีโอ หวั่นเหมืองแร่โพแทชภาคอีสาน แย่งน้ำภาคเกษตร-ครัวเรือน
ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ หวั่นพ.ร.บ.แร่ใหม่จะส่งผลกระทบระยะต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านบริเวณโดยรอบ พร้อมห่วงทำเหมือนแร่โพแทชภาคอีสาน เกิดการแย่งชิงน้ำจากเกษตรกร
ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติแร่ (พ.ร.บ.แร่) ปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงเรื่องพ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ ใจความสำคัญสรุปได้ว่า หากพบแร่ในพื้นที่ก็สามารถทำเหมืองได้เลย โดยรัฐบาลพยายามที่จะยกเว้นสิ่งที่ไม่ควรจะยกเว้น เช่น ไม่ต้องทำ EIA โดยอ้างว่าต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่สูงขึ้น ตอนนี้พื้นที่จะทำเหมืองมีค่อนข้างจำกัดและพื้นที่ที่มีแร่ก็ถูกสงวนไว้นานแล้ว เลยจำเป็นต้องมีเหมืองเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีแร่มาเป็นวัตถุดิบที่จะมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแร่เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศอยู่แล้วเพราะแร่เป็นวัตถุตั้งต้นในการจะทำอุตหกรรมอื่นๆ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือหากมีแร่อยู่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศ พื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่สงวนตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านบริเวณโดยรอบแบบลูกโซ่ และกฎหมายระบุไว้ว่า พื้นที่ที่ถูกเป็นพื้นที่บริหารจัดการแร่จะต้องไม่นำไปให้เอกชนประมูลเพื่อทำเป็นสัมปทาน เว้นแต่จะมีความสำคัญและเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับการทำเหมืองแร่โพแทซในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงความกังวลเรื่องแผ่นดินทรุดจากการทำเหมืองแร่โพแทช หากไม่มีเหตุแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงการทำเหมืองแร่โพแทชก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เรื่องดินทรุดนั้นต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว จะค่อยๆทรุดตัวลงเรื่อยๆ
"ประเด็นสำคัญที่จะต้องหาทางแก้ไขให้ชัดเจนคือเกลือที่จะขุดขึ้นมาได้พร้อมกับแร่โพแทชนั้นจะนำไปทำอะไร มีการจัดการอย่างไรกับเกลือปริมาณมหาศาลที่จะขุดขึ้นมา ประเทศไทยใช้เกลือปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่ปริมาณเกลือที่แต่ละเหมืองจะขุดขึ้นมาได้นั้นจะมีประมาณ 6-7 ล้านตัน จะทำอย่างไรกับเกลือเหล่านั้นก่อนที่จะนำไปขายหรือนำกลับเข้าไปไว้ใต้ดิน ซึ่งแม้จะปูแผ่นพลาสติกรองเอาไว้ แต่หากเกิดการรั่วซึมขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อความเค็มของดินเช่นกัน รวมถึงระบบน้ำใต้ดินและผิวดิน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีมาตรการจัดการอะไรออกมาที่ชัดเจน"
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ การที่เจ้าของเหมืองได้บอกว่าจะนำเกลือไปพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตรงนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ใน EIA ส่วนตัวคิดว่าเหตุผลเพราะหากเขียนลง EIA จะเกิดขึ้นคำถามต่อเนื่องขึ้นมากมายจากการที่บอกว่าจะนำเกลือไปพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า จะต้องใช้น้ำในโครงการนี้มากขึ้น
“คุณบอกแค่ว่าขุดเพื่อนำแร่โพแทชมาขาย และจะนำเกลือที่เหลือกลับเข้าไปไว้ใต้ดินให้ได้มากที่สุด และขายแค่บางส่วน แต่ในความเป็นจริงคิดว่า น่าจะนำกลับเข้าไปปริมาณน้อย เพราะว่าเกลือมีราคาแพงและนำไปพัฒนาในอุตสาหกรรมได้ในอีกหลายชนิด แต่ตรงนี้ไม่ได้เขียนลง EIA อย่างชัดเจนว่าจะนำไปขายเท่าไหร่และนำกลับไปไว้ที่เดิมเท่าไหร่”
ส่วนกรณีที่เหมืองแร่โพแทชที่ จังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมาใช้น้ำในแหล่งเก็บที่เดียวกันคืออ่างเก็บน้ำลำคันฉู จังหวัดชัยภูมิ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า จากข้อมูลจะพบว่า อ่างเก็บน้ำนี้ปล่อยน้ำเกินอัตรามาทุกฤดูกาลเพราะมีเกษตรกรและภาคครัวเรือนต้องใช้น้ำจำนวนมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเหลือน้ำแบ่งไปใช้ส่วนอื่น หากเหมืองแร่โพแทชใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉูจริง นั่นหมายความว่าจะต้องมีเกษตรกรหลายรายไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร และอาจสูญเสียนาข้าวประมาณปีละ 1 หมื่นไร่ต่อฤดูกาล