นักวิจัย จี้ไทยทบทวน หลังพบหลายปท.หันใช้พลังงานแสงอาทิตย์พุ่งต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าเผยนำร่องโครงการสมาร์ตกริดแล้วที่แม่ฮ่องสอน หวังภายใน 5 ปีใช้เป็นพลังงานหลัก พระครูวิมลปัญญาคุณชี้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยประหยัดได้เยอะ นักวิจัยพลังงานแนะรัฐปรับตัวให้เร็วก่อนมีคู่แข่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ จัดการเสวนาเรื่อง "โครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ตกริด : อนาคตประเทศไทย" ณ ห้องประชุมเจริญวิศวกรรม ตึก 4 ชั้น 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ผู้ช่วยศาสตร์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ กล่าวถึงสมาร์ตกริดว่า เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource : DER) และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ มีคุณภาพไฟฟ้าได้มาตรฐานสากล
ส่วนระบบการใช้ไฟอัจฉริยะ เป็นการปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับและพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป
ดร.แนบบุญ กล่าวถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดเดียวที่สายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคส่งไปไม่ทั่วทั้งจังหวัด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย โดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ใช้เวลาการออกแบบระบบ 1 ปีเต็ม นำร่องโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ตกริด คาดหวังภายใน 5 ปี สามารถที่จะมีศักยภาพพอที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ต่ำกว่า 80 % โดยปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนไม่ถึง 5 %
ดร.โสภิตสุดา ทองโสกิต สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของโซล่าร์ฟาร์มก็กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก อย่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการใช้ไฟฟ้าด้วยราคา 1 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมากหากเทียบกับไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าอื่นๆ
ดร.โสภิตสุดา กล่าวต่อว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องทบทวนว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับวงการนี้อย่างไร จากที่เมื่อ 2 ปีก่อนมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาฟาร์มของประชาชนแล้วก็เงียบหายไป ถ้าประเทศไทยดำเนินการช้าเราก็จะกลายเป็นผู้ตามในแถบประเทศอาเซียน เพราะหลายๆประเทศได้มีการเริ่มต้นในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ไปไกลแล้ว ข้อสำคัญคือพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่แค่เป็นเพียงไฟฟ้า แต่คือการเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจและสังคม
“ถ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีการปรับตัวเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อ องค์กรอย่างแน่นอน ลึกๆแล้วการไฟฟ้าเองก็กลัวที่จะสูญเสียรายได้ หากไม่เข้ามารุกในตลาดนี้รายได้จะหายไปเรื่อยๆแน่ๆ เพราะจะมีผู้ผลิตไฟมาขายแข่งกับการไฟฟ้า”
ด้านพระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงการคิดริเริ่มการติดตั้งระบบโซลาเซลล์เพื่อใช้ในโรงเรียนว่า เกิดจากต้องการประหยัดค่าไฟและนำเงินส่วนนี้ไปเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนในโรงเรียน ช่วงแรกที่ใช้ระบบนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคส่งจดหมายมาขอให้ยกเลิกการใช้งาน เนื่องจากระบบไฟฟ้าของโซลาเซลล์จะส่งกระแสไฟผ่านมิเตอร์ของการไฟฟ้า เมื่อมีกระแสไฟจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบมากกว่าการใช้งาน ทำให้มิเตอร์หมุนย้อนกลับ ซึ่งการไฟฟ้าไม่สามารถเก็บค่าไฟจากกรณีแบบนี้ได้ ภายหลังก็เปลี่ยนไปใช้ระบบเก็บไฟที่ได้มาลงแบตเตอรี่แทน ก็หมดปัญหากับการไฟฟ้า เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้า
พระครูวิมลปัญญาคุณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีทั้งองค์กรและคนในชุมชนมาขอให้ทางโรงเรียนช่วยไปติดตั้งให้เพื่อหวังจะลดค่าไฟ ทางโรงเรียนก็ยินดีที่จะไปติดให้แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎที่การไฟฟ้ากำหนด โดยไปขออนุญาตจากการไฟฟ้าหากไม่ได้ไปขออนุญาตอาจเกิดอันตรายกับระบบไฟของการไฟฟ้าได้ ส่วนเรื่องการประหยัดค่าไฟปกติตามบ้านจะใช้ไฟอยู่ที่หน่วยละ 4-5 บาท แต่หากใช้ไฟจากโซลาเซลล์จะคิดออกมาได้หน่วยละประมาณ 1.22 บาท
“ทุกวันนี้เรื่องระบบการติดตั้ง เทคโนโลยี หรือทรัพยากรไม่มีปัญหา แต่ติดที่นโยบายและกฎระเบียบที่มี อยู่ที่ภาครัฐว่าจะมีนโยบายอะไรมาส่งเสริมเพื่อให้การใช้พลังงานสะอาดแพร่หลายไปมากกว่านี้ ตอนนี้กำลังขยายการติดตั้งไปสู่ชุมชน ไปติดตั้งกลางนาที่ไฟฟ้าไปไม่ถึง แต่เริ่มจะมีปัญหาตรงที่รัฐออกกฎมาว่าช่างไฟต้องมีใบอนุญาต”