นักนิติศาสตร์จี้รัฐถอนร่างกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ้นสนช. หวั่นทำปท.ถอยหลังไปยุคจอมพลสฤษดิ์
ตัวแทนศาลยุติธรรม ศาลปกครอง นักกฎหมาย เห็นพ้องรัฐควรถอนร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ จากสนช.มาทบทวนใหม่ หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย พบกระทบมีมากกว่าความตั้งใจร่างกฎหมายให้ป้องกันทุจริต
วันที่ 15 กันยายน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯกับผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐ" ณ คณะนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์
นายบุญทิพย์ ชูโชคนาค ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ผ่านคณะรัฐมนตรี โดยสำนักเลขาครม.ให้รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานราชการที่จะได้รับผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปรากฎว่า ส่งไปจาก 63 แห่ง มีเสนอความคิดเห็นเข้ามา 14 หน่วยงาน ทำให้ต้องส่งร่างดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการอบ 2 จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ขณะนี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 กำลังครบ 60 วันปลายเดือนนี้
สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ นายบุญทิพย์ กล่าวว่า เพื่อต้องการยกฐานะระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุฯขึ้นเป็นกฎหมาย ให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เน้นเรื่องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกเรื่องให้สาธารณชนรับทราบเพื่อให้มีการแข่งขันเสรี และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ลดปัญหาการทุจริต ให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐคุ้มค่า เหมาะสม ตอบโจทย์การนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ
"ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายนี้ จะบังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง มีข้อยกเว้นในมาตรา 7 ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะข้อยกเว้นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร ส่วนมาตรา 11 กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องวางแผนจัดซื้อจัดจ้างประจำปีเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ รวมถึงการประเมินผล"
นายบุญทิพย์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยังกำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม มีผู้สังเกตุการณ์ร่วมตั้งแต่ในขั้นตอนร่างทีโออาร์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงให้มีคณะกรรมการ 5 ชุดดูแลตามร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน 2.คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 3.คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ 4.คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และ 5.คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
"คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่จะเสนอราคาต่อภาครัฐ จะขึ้นทะเบียนเริ่มกิจการก่อสร้างก่อน ส่วนบทลงโทษ อยู่ในมาตรา 118 กำหนดโทษทางอาญา ระวางโทษจำคุก 1-10 ปีสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง"
เขียนกฎหมายย้อนยุค ทำประเทศถอยหลังไป 50 ปี
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงเนื้อหากฎหมายฉบับนี้ ร่างขึ้นเพื่อหวังป้องกันทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บังคับใช้กับหน่วยงานรัฐทุกประเภท ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เลย รวมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย แต่ระเบียบสำนักนายกฯ จะบังคับใช้เฉพาะส่วนราชการเท่านั้น
"ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เงินทุกประเภทมาอยู่ในกฎหมายนี้หมด เรียกว่าคุมทุกหน่วยงาน คุมเงินทุกประเภท โดยคณะกรรมการ 5 ชุดจะดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการในประเทศนี้ "
นักกฎหมายมหาชน กล่าวอีกว่า ต่อไปงานกรมบัญชีกลางจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งงานควบคุม ตรวจสอบ กำกับ อนุญาต เห็นชอบ ตีความ มาที่นี่หมด นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ถือว่า ไปแก้ไขกฎหมายอื่นทุกฉบับ Over Rule (เหนือกฎหมายอื่น) กฎหมายกทม. แก้กฎหมายการบริหารงานศาลปกครอง เป็นต้น
"กฎหมายฉบับนี้จะไปกระทบรัฐวิสาหกิจ เขียนให้มีคณะกรรมการ 5 ชุด มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานหมด มีคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คนมีสิทธิจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งหากประกาศอะไรไปแล้ว คณะกรรมการจะ Over Rule หมด Over Rule บทบาทหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย" ศ.ดร.สุรพล กล่าว และว่า ส่วนบท
กำหนดโทษ จำคุกขั้นต่ำ 1 ปีสูงสุด 10 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งห่วงว่า การนำมาตรการทางอาญามาใช้ ฐานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แตกต่างจากระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุฯ โทษหนักสุด คือ ผิดวินัยร้ายแรง หนักสุดให้ออกจากราชการ
ศ.ดร.สุรพล กล่าวถึงข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เห็นด้วยกับแนวคิดป้องกันการทุจริต เห็นด้วยว่าเราโกงกันเยอะมากในประเทศไทยระยะที่ผ่านมา แต่ก็เห็นว่า สตง.เที่ยวไล่จับคนมาเยอะแยะ ติดคุกไปก็มาก ป.ป.ช.ก็ถอดถอน ทางกลับกันก็เป็นกระบวนการป้องกันปราบปรามอยู่แล้ว หากจะบอกว่า เราจะทำให้การทุจริตน้อยลงแก้ปัญหาการทุจริตให้ได้ด้วยการออกกฎหมายใหม่มา เห็นด้วยไม่ขัดข้อง
"แต่ผมนึกไม่ออกเพราะเหตุใด จึงจะทำให้หน่วยงานของรัฐทุกประเภท ทุกรูปแบบที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีพัฒนาการมายาวนาน จากการเกิดรัฐวิสาหกิจ จากการเกิดองค์การมหาชน จากการเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการเกิดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แล้วมาคุมโดยคนๆ เดียวคือรัฐมนตรี ทุกอย่างก็จะรวมศูนย์ การเขียนกฎหมายให้ทุกคนทำเหมือนกันหมด เรากำลังพาประเทศไทยถอยหลังไป 50 ปี สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และอาจถอยหลังไปปี 2490 ช่วงที่เรายังไม่มีรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำไป "
ทั้งนี้ อดีตอธิการบดีมธ.กล่าวด้วยว่า เรากำลังเสียสละอะไรบางอย่างที่เป็นพัฒนาการร่วมกันของสังคมไทย เพื่อแลกกับต่อไปนี้อย่าให้ใครโกง เรามีวิธีการอื่นหรือไม่ เราจะกระจายอำนาจไปทำไม เราจะมีองค์กรอิสระไปทำไม
"มีคนพยายามขอแก้อะไรเยอะแยะแต่แก้ไม่สำเร็จ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบไปแล้ว วิธีเดียวที่เป็นไปให้รัฐบาลนำกลับจากสภาฯ ไปพิจารณาใหม่ แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้เพราะเขียนไว้ในหลักการตั้งแต่ต้น ผมคิดว่า นี่เป็นหลักการที่ผิดพลาด ไม่เข้าใจหลักการการจัดการองค์กรของรัฐในประเทศไทย"
ส่วนนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีปัญหาในตัวเอง เขียนกฎ กติกาโดยสันนิษฐานทุกคนโกงหมด ขณะที่ทำกติกาขึ้นมา หวั่นว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอาจได้ของแพง ขณะที่บทกำหนดโทษ ก็บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน
"ปัญหา ณ วันนี้การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีใครอยากทำ มีความเสี่ยงอยู่มาก กรณีเจ้าหน้าที่รัฐสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ กฎหมายน่าเขียนคุ้มครอง เช่นเดียวกับมาตรา 44 ของคสช."นายสราวุธ กล่าว และว่า การเสนอกฎหมายแบบนี้ จึงไม่เห็นด้วย ขอให้รัฐนำกลับมาทบทวนดูวิธีการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ และปัญหาผลกระทบจากกฎหมายตัวนี้ที่มีมากกว่าความตั้งใจร่างกฎหมาย และอาจเกิดความเสียหายยากที่จะแก้ไข
เช่นเดียวกับ ดร.ประสาท พงษ์สุวรรณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงความกังวลต่อร่างกฎหมายนี้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีข้อสังเกตถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ถึง 2 ฉบับ ชี้ประเด็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย และคณะกรรมการ 5 ชุดที่จะตั้งขึ้นมา รวมถึงขอให้ตัดหน่วยธุรการของศาล ออกจากนิยามคำว่า หน่วยงานของรัฐ ในมาตรา 3 ของกฎหมายฉบับนี้ออกไป
"การอ้างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันทุจริต ถามว่าใช่เรื่องกรมบัญชีกลาง ป้องกันการทุจริตหรือไม่ เรื่องทุจริตก็ให้พนักงานสอบสวนให้หน่วยงานสอบสวนที่มีมากมายเกินสมควรแล้วในประเทศไทย ผมคิดว่า งานท่านเยอะเกินไป โครงสร้างแบบนี้จึงขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจ และหลักการความเป็นอิสระ "