บิ๊ก บ.สหรัตนนคร เล่า 'เบื้องหลัง' ถูก กนอ.บีบยึดนิคมอุตฯ ปมสร้างเขื่อนไม่ทันเวลา
ฟังข้อมูลอีกด้าน ผู้บริหาร บ.สหรัตนนคร ร้อง'อิศรา'หลังถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เม.ย.59 ปมสร้างเขื่อนกันน้ำไม่ทันเวลา เผยงบฯ ก่อสร้างเดิม 660 ล. ลดเหลือ 558 ล. รัฐสนับสนุน 226 ล. แต่ให้จริง 100 ล. ทวงถาม 8 เดือน อ้าง บริษัทฯสร้างเขื่อนดิน เหมือนถูกหรอกให้ลงทุน
สืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสหกรรม ในจ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 52/2551
(เอกสารประกอบ :http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/D/037/244.PDF)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2559 นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะ เดินทางมาชี้แจงต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการแทน บริษัท เอสซีเอ็มบีฯ เมื่อ 4 ก.ค. 2555 นั้น ต่อมา5 ก.ค. 2555การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีหนังสือถึงบริษัทฯ ให้ดำเนินการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และให้รีบก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ทั้งที่ บริษัทฯ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเพียง 1 วันเท่านั้น
“ก่อนหน้านี้ ที่เกิดน้ำท่วมนิคมฯ เมื่อปี 2554 และน้ำก็ลดแล้ว เหตุใด กนอ. จึงไม่แจ้งให้บริษัท เอสซีเอ็มบีฯ ดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่แรก เพราะจริง ๆ แล้วในขณะนั้น บริษัท เอสซีเอ็มบีฯ เป็นผู้บริหารแผน และดูแลบริหารจัดการนิคมฯ อยู่” ผู้บริหารบริษัท สหรัตนนครฯ กล่าวและว่า
บุคคลดังกล่าวยังระบุอีกว่า กนอ. ต้องการให้บริษัทฯ ก่อสร้างเขื่อนชั่วคราวบนคันดินล้อมรอบนิคมฯ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนน 1-2 เมตร และต้องการให้หน่วยงานทหารเข้ามาดำเนินการ บริษัทฯ ตกลงให้ กนอ. นำหน่วยงานทหารเข้ามาทำ แต่ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท ตามที่ทหารแจ้ง แต่ กนอ. มาแจ้งอีกครั้งว่า ประมาณ 48 ล้านบาท โดยเวลาล่วงเลยไปเกือบ 3 สัปดาห์ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า บริษัทฯ จึงตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนเอง โดยให้ บริษัท บ้านแพนฯ เป็นบริษัทในกลุ่มมาก่อสร้าง โดยสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แต่เมื่อการก่อสร้างดำเนินไป (ใช้งบฯ ไปแล้วประมาณ 4 ล้านบาท) กนอ. กลับไม่ยอม โดยใช้คำสั่งการปกครองให้หยุดการก่อสร้าง อ้างว่า ผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่น และให้ทหารเข้ามาดำเนินการ
"ทั้งนี้ รมว.กระทรวงอุสาหกรรม ทราบเรื่องจึงเรียกพบเพื่อปรึกษาหารือ และได้สรุปว่า กนอ.จะให้ทหารเข้ามาก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว ถ้าป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ กนอ. รับผิดชอบทั้งหมด โดยให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อความโปร่งใส และให้ใช้ดินในนิคมฯ ให้มากที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ กนอ. ไม่ได้ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้การก่อสร้างเขื่อนชั่วคราวไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ประกอบกับ ขณะนั้นเกิดภาวะแห้งแล้ง บริษัทฯ จึงขอให้หยุดการก่อสร้าง"
ต่อมา กนอ. บอกให้บริษัทฯ รีบก่อสร้างเขื่อนถาวร ถ้าล่าช้าจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งที่ บริษัทฯ ต้องการแก้ไขรูปแบบเขื่อนก่อน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมของนิคมฯ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก บริษัท เอสซีเอ็มบีฯ เป็นคนว่าจ้างออกแบบ และเสนอแผนขอรับเงินสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมีราคาประมาณ 660 ล้านบาท แต่รัฐบาลอนุมัติราคาก่อสร้างเพียง 339 ล้านบาท และให้เงินสนับสนุนเป็นเงิน 226 ล้านบาท ทำให้การก่อสร้างดังกล่าวเป็นการรับช่วงงานต่อจากบริษัท เอสซีเอ็มบีฯ และไม่สามารถแก้ไขรูปแบบเขื่อนได้ จึงต้องดำเนินการต่อ
“บริษัท สหรัตนนครฯ จึงได้ว่าจ้าง บริษัท เนเชอรัลอาร์ต แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ในราคาประมาณ 558 ล้านบาท โดยต้องกู้เงินจากธนาคารออมสินประมาณ 331 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐ โดยบริษัทฯ ทยอยเบิกเงินสนับสนุนฯ งวดที่ 1-6 (งานดิน) ผ่าน กนอ. ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเบิกงวดที่ 7-8 เมื่อเดือน ส.ค. 2557 เป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท และกำลังจะเริ่มงานคอนกรีตต่อ แต่กลับไม่ได้รับเงิน บริษัทฯ จึงทวงถาม ต่อมา 29 เม.ย. 2558 ซึ่งเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 8 เดือนแล้ว และเป็นวันก่อนสิ้นสุดปีงบฯ รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือเพียง 1 วัน บริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนฯ จำนวน 7.8 ล้านบาท โดยอ้างว่า เขื่อนถาวรของบริษัทฯ เป็นเขื่อนดินได้รับเงินสนับสนุนฯ ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งได้รับมาแล้วประมาณ 92 ล้านบาท จึงจ่ายได้อีก 7.8 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านั้น ช่วงเดือน ก.พ. 2558 กนอ. เรียกบริษัทฯ เข้าพบและแจ้งว่า จะสิ้นสุดปีงบฯ แล้ว ขอให้บริษัทฯ ก่อสร้างเขื่อนให้เสร็จภายในเดือน มี.ค. 2558 ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ถึงแม้จะมีเงินก็ตาม เพราะถ้าทราบเรื่องตั้งแต่ ส.ค. 2557 ก็สามารถก็สร้างเขื่อนเสร็จได้ ไม่เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เช่นนี้” นางธีรนาฏ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัท สหรัตนนครฯ กล่าวอีกว่า ธ.ออมสิน ไม่อนุมัติเงินให้บริษัทฯ เพราะบริษัทฯ อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ จึงไม่สามารถกู้เงินมาทำเขื่อนได้ ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน และขาดความเชื่อมั่น กนอ. จึงยื่นคำร้องให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้บริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทฯ
“เห็นได้ชัดว่า การกระทำของ กนอ. มีเจตนาให้บริษัทล้มละลาย เพื่อต้องการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และเข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบสาธารณูปโภคของบริษัททั้งหมด โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 186 วรรคสอง กนอ. จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้ต่อสู้คดีเรื่องดังกล่าวต่อศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เจรจากับผู้ว่า กนอ. แล้ว ผู้ว่าฯ ระบุเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เนื่องจากว่า เป็นห่วงผู้ประกอบการ ซึ่งจริง ๆ แล้ว กนอ. ไม่อยากเข้ามาบริหาร เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นางธีรนาฏ กล่าวทิ้งท้ายว่า "บางครั้งก็คิดว่ามันง่ายดีนะ รัฐบาลไม่ต้องลงทุนอะไร อยู่ดี ๆ ให้เอกชนเข้ามาลงทุน แล้วยึดไป คล้ายมาหลอกให้เราทำงาน แล้วเวลาเราไปเอาคนมาลงทุนไม่ให้เครดิตเราสักคำ มาบอกว่า ต่างชาติเขามาลงทุน แล้วธุรกิจไทยลงทุนก็ไม่ได้น้อยกว่า สมัยก่อน ในกลุ่มเราลงทุนมากที่สุด เป็นคนก่อตั้ง เป็นคนบริหารนิคมฯ ตั้งแต่ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วไม่ได้ทำที่นาเขาเสียด้วย"
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทาง กนอ. ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เนื่องจาก บริษัท สหรัตนนคร จำกัด สร้างเขื่อนเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา มีการก่อสร้างล่าช้า ทำให้เอกชนขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่น และบริษัทฯ มีปัญหาการกู้เงินไม่ได้ ทำให้ต้องชะลอการสร้างเขื่อนมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มี นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม เป็นผู้ว่าการ และมี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นประธานกรรมการ และเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)