เพิ่มพื้นที่ป่า40% ผอ.ออป.ชี้วันนี้ต้องเอาตัวเลขมาคุยกัน สร้างแรงจูงใจ สื่อให้เห็นปลูกแล้วคุ้ม
ผอ. ออป. ชี้ รัฐจะเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ได้ต้องสนับสนุนเรื่องป่าเศรษฐกิจ มองวันนี้ไม้สามารถพึ่งแค่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างเดียว โจทย์ใหญ่ทำอย่างไรจะดึงดูดให้เกษตรกรปลูกป่ามากขึ้น
15 กันยายน 2559 กรมป่าไม้ จัดการประชุมการป่าไม้ประจำปี 2559 "12 ทศวรรษ การป่าไม้ไทยก้าวไกลด้วยนวัตกรรม" ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมไม้จากป่าปลูก ก้าวสู่ทศวรรษหน้า” ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงทรัพย์ฯมีหลายเรื่อง ทั้งสิ่งแวดล้อม น้ำ โดยเฉพาะป่าไม้ ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ภายใน 5 ปี ต้องได้ 1.6 ล้านไร่ เป้าหมายปีละ 3 แสนไร่ ซึ่งมองว่ายังน้อยไป
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้เรื่องการปลูกสร้างสวนป่า ต้องเป็นนโยบายระดับชาติ เพราะถ้าหากเราต้องการเพิ่มป่าให้ได้ 40% ต้องใช้ป่าเศรษฐกิจเข้ามาช่วย จะอาศัยป่าอนุรักษ์อย่างเดียวไม่ได้ ขณะเดียวกัน รัฐจะเป็นฝ่ายจัดการฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีภาคเอกชน เกษตรกรร่วมด้วย วันนี้เกษตรกรที่ปลูกป่ามีหลายคน เราจะส่งเสริมอย่างไร กรมป่าไม้ จะแก้ระเบียบเงื่อนไขที่ง่ายขึ้น ส่งเสริม แรงจูงใจ ด้านการเงินจะช่วยอย่างไร คำถามต่อมา อะไรจะไปสนับสนุนให้เขาต้องปลูก ปลูกแล้วคุ้ม
“ถ้าการปลูกป่าไม่คุ้มเราจะเอาพื้นที่เกษตรมาใช้ก็เป็นเรื่องยาก วันนี้เราต้องเอาตัวเลขมาคุยกัน สร้างแรงจูงใจ สื่อให้เห็นว่าปลูกป่าคุ้มแน่นอน เราจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม” ผอ. อ.อ.ป. กล่าว และว่า ในเรื่องของแนวคิดพันธบัตรป่าไม้ เท่าที่มีการคุยกันในกระทรวงฯ ยังไม่ได้ลงรายละเอียด รวมถึงแนวคิดเรื่องกองทุนสวนป่า จะทำอย่างไร แต่คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ในส่วนความกังวลเรื่องกระบวนการตรวจสอบ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ไม่ผิดเลยที่ต้องระแวงว่าจะไปตัดไม้จากธรรมชาติ แต่ในกระบวนการจัดการรับรองต้องผ่านการตรวจสอบ โดยใช้ระบบจากบุคคลที่สาม ถ้าสวนป่าเหล่านั้น ผ่านการตรวจสอบแล้ว พร้อมทั้งมีใบอนุญาต สป.15 ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวถึงมูลค่าการส่งออกไม้ในปี2558 ด้วยว่า อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท เป็นการส่งออกไม้เนื้ออ่อนจากยางพาราเป็นหลัก ไม้สักยังน้อยอยู่ ถ้ากรมป่าไม้ผ่อนคลายในเรื่องรายละเอียด อุตสาหกรรมไม้ที่จะเอามาใช้เป็น DNA ของประเทศไทย จะย้อนกลับมา อุตสาหกรรมป่าไม้เราจะพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น.