"ศุภณัฐ"เลขาฯศอ.บต.ใหม่ใต้เงาสีเขียว – เปลี่ยนตัวผู้ว่าฯปัตตานี
แม้จะไม่เร้าใจคอการเมืองที่ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก แต่คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติแต่งตั้ง นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ ไปอย่างเรียบร้อยโรงเรียน คสช.
สาเหตุที่บอกว่าไม่เร้าใจ เพราะข่าวลือก่อนหน้านี้ไปไกลถึงขนาดว่าจะมีการโยก พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เจ้าของฉายา “มือปราบมะรอโซ” ซึ่งปัจจุบันนั่งเก้าอี้รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน. ตำแหน่งเดิมของ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง ผงาดขึ้นเป็น ซี11 ในหมวกข้าราชการพลเรือนอย่างเลขาธิการ ศอ.บต.เลยทีเดียว
แต่เหตุการณ์จริงไม่ได้เป็นไปตามข่าวลือ เพราะชื่อเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ คือลูกหม้อชายแดนใต้และคนใน ศอ.บต.เองอย่าง นายศุภณัฐ
เป็นการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 3 นับตั้งแต่องค์กรแห่งนี้มีกฎหมายรองรับอย่างเต็มภาคภูมิ คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2553
เลขาธิการ ศอ.บต. 2 คนก่อนหน้า นายศุภณัฐ คือ นายภาณุ อุทัยรัตน์ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตามลำดับ
แต่ นายศุภณัฐ จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.ในวันที่ 1 ต.ค.59 นี้ สืบต่อจาก นายภาณุ ที่จะเกษียณอายุราชการ สาเหตุที่เป็นนายภาณุ เพราะเจ้าตัวนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต. 2 รอบ คือในรัฐบาลประชาธิปัตย์เมื่อปี 2553-2554 หนึ่งรอบ จากนั้นก็ถูกย้ายออกไปในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เปิดทางให้ พ.ต.อ.ทวี ได้แสดงฝีมือ ก่อนจะถูกโยกกลับมาอีกครั้งในยุค คสช.
นายศุภณัฐ ไม่ใช่คนหน้าแปลกที่ชายแดนใต้ เพราะเคยรับราชการในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นปลัดอำเภอ เคยเป็นนายอำเภอยะหา จ.ยะลา เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และเป็นรองเลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 1
ปัจจุบัน นายศุภณัฐ อายุ 59 ปี แต่เนื่องจากเกิดปลายปี จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2561 เส้นทางชีวิตจบการศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ช่วงดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ศอ.บต. มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วย แถมยังสื่อสารภาษามลายูได้คล่องแคล่ว
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.จัดเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เรียกได้ว่าอยู่คู่กับปัญหาชายแดนใต้มาเนิ่นนาน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2524 ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีสถานะเป็นดั่ง “องค์กรเฉพาะกิจ” เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ศอ.บต.ถูกยุบเลิกไปเมื่อปี 2545 ยุคที่ พ.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้นจนสามารถใช้กลไกธรรมดาแก้ไขปัญหาได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกพิเศษ
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอกจากค่ายทหารใน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และเกิดสถานการณ์ความไม่สงบรายวันเรื่อยมา จนปัญหาชายแดนใต้กลับมาเป็น “วาระแห่งชาติ” ชื่อของ ศอ.บต.ก็ถูกเรียกร้องจากหลายๆ ฝ่ายมาตลอดให้พลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมา ขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าไฟใต้ที่คุโชนตั้งแต่ปี 2547 ส่วนหนึ่งมาจากการยุบเลิก ศอ.บต. และหน่วยกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ชื่อ พตท.43
การรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีสาเหตุประการหนึ่งที่คณะผู้ยึดอำนาจใช้เป็นเหตุผล ก็คือความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาลในขณะนั้น เมื่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาสานต่ออำนาจรัฐประหาร ก็ได้ฟื้น ศอ.บต.ขึ้นมา โดยอาศัยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม มีผู้นำหน่วยในชื่อตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศอ.บต.เหมือนเมื่อครั้งแรกตั้งสมัย พล.อ.เปรม
ปี 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันให้มีการตรากฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต. คือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกสถานะ ศอ.บต.ให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีเลขาธิการเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน ตามยุทธศาสตร์สองขา “ความมั่นคง” กับ “การพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม” ภายใต้การรับผิดชอบของ กอ.รมน. และ ศอ.บต.
แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ใช้โครงสร้างนี้แก้ปัญหาไม่นาน ก็มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาล ปรากฏว่ารัฐนาวาใหม่ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ใช้โครงสร้างนี้จัดการปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ
กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ายึดอำนาจ ได้มีการปลด พ.ต.อ.ทวี พ้นเก้าอี้ แล้วตั้งนายภาณุเข้ามาทำหน้าที่ต่อในโครงสร้างเดิม
แต่ภารกิจดับไฟใต้ในยุค “ทหารนำ” ได้ออกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. บอนไซ ศอ.บต.ให้เป็นหน่วยงานพัฒนาและอำนวยความยุติธรรมภายใต้บทบาทนำของ กอ.รมน. ปิดฉากยุทธศาสตร์สองขาที่วางมาตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์
เหตุนี้ นายศุภณัฐ จึงต้องทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต.ในบทบาทใหม่ที่ไม่ใช่หน่วยงานเอกเทศและมีอิสระสูง รวมถึงมีบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายความมั่นคงตามที่กฎหมายออกแบบไว้อีกต่อไป
ต้องจับตาดูว่าโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ และเลขาธิการ คนใหม่ จะนำพาสถานการณ์ในภารกิจดับไฟใต้ไปในทิศทางใด
เปลี่ยนตัวพ่อเมืองปัตตานี
อีกตำแหน่งหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งมี นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ เข้ามาขัดตาทัพตามคำสั่งคสช.เมื่อ 29 มี.ค.59 จากการโยกย้าย นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ออกจากตำแหน่ง
ปัจจุบันก็ถึงวาระต้องปรับเปลี่ยนให้ “ตัวจริง” เข้ามาทำงาน และผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ ก็คือ นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ขยับขึ้นมาเป็นพ่อเมืองปัตตานีคนใหม่แทน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพนายศุภณัฐ จากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
หมายเหตุ : ภาพมีการดัดแปลงโดยฝา่ยศิลป์ ทีมข่าวอิศรา