นักวิชาการแนะรัฐต้องให้โอกาสชุมชนร่วมจัดการป่า เชื่อช่วยลดความขัดแย้ง
นักวิชาการ เชื่อ คนกับป่าอยู่กันได้ รัฐต้องเปิดโอกาสชุมชนจัดการพื้นที่ร่วม ส่งเสริมป่าเศรษฐกิจ สร้างเป็นแนวกันชน หารายได้จากป่า ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
14 กันยายน 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา “เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว” โดยในช่วงหนึ่งของปาฐกถาถึงประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต
นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนกับป่ามีปัญหาตั้งแต่เริ่มมีกฎหมายป่าไม้เมื่อปี 2484 จนกระทั่งเริ่มมีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่ง เรื่อยมาจนเริ่มนโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อต้องการให้ประเทศมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 40 % โดยปัจจุบันไทยเหลือพื้นที่ 31.60% ซึ่งถือว่ายังไม่น่าห่วงในแง่สถิติ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการจัดการดูเเล เพราะหากดูจากยุทธศาตร์ของรัฐในการไล่รื้อชุมชน ซึ่งมีหลายครั้งที่ชุมชนเหล่านั้นเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่มานาน อย่างกรณี กลุ่มชาติพันธุ์ในผืนป่าตะวันตก มีพี่น้องชาวกะเหรี่ยง กว่า 30ชนเผ่า 129 ชุมชน ทำอย่างไรให้ชุมชนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการดูเเลป่า
นายภานุเดช กล่าวว่า การที่จะดูเเลรักษาป่าที่กำลังฟื้นฟูป่า ต้องอาศัยชุมชนช่วยดูแลโดยอาศัยเรื่องของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจสำคัญ เช่น การได้ผลผลิตจากป่าแล้วสามารถนำไปขายได้ การสร้างป่าเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงรูปแบบการใช้พื้นที่ป่า อย่างสถาพพื้นที่อนุรักษ์ที่โดยรอบชุมชนผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์ รัฐต้องใช้มติ ค.ร.ม.ใหม่ หาข้อตกลงการใช้พื้นที่ไม่ให้ขยายออกและมีส่วนร่วมกับชุมชน ตั้งกติกาการใข้พื้นที่ร่วมกันและมีโครงสร้างเสริมในเรื่อง ป่าใช้สอย เกษตรผสมผสาน ให้เต็มพื้นที่ในระยะยาว ในส่วนของพื้นที่ภายใต้กรมป่าไม้ ก็ควรใช้โมเดลแบบเดียวกัน ส่งเสริมเอกชนให้ปลูกป่า ป่าชุมชน ป่าใช้สอย เป็นแนวกันชน ลดการปลุกพืชเชิงเดี่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมเดิม
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถ้าเรานับตั้งแต่ปี 2540 มีการกำหนดสิทธิชุมชนในการขับเคลื่อนเพื่อการปกป้องตัวเองอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันดูเหมือนว่ามาตรานี้จะถูกยกไป แต่จากการต่อสู้ชุมชนได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา อย่างกรณี ปู่คออี้ แห่งป่าแก่งกระจาน ที่ศาลปกครองมีคำสั่งชดเชยเฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้าวของรายละหมื่นบาท หลายคนตั้งคำถามว่า เรื่องการฟ้องที่ละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งชุมชนอ้างถึงสิทธิที่ทำกินในพื้นที่ มีการเรียกค่าเสีหาย เพื่อต้องการกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม จากคำตัดสินวันนั้นพบว่าศาลไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องสิทธิชุมชน เพียงแต่ว่าศาลไม่เชื่อว่า ชุมชนนั้นคือชุมชนดั้งเดิม คำถามต่อมาคือ เราจะยืนยันตัวตน จะพิสูจน์ตัวตนอย่างไร
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า คำตัดสินของศาลให้เหตุผลว่าโดยเห็นด้วยว่าการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง สามารถทำได้ ไม่ถือเป็นเรื่องเกินสมควร อันนี้น่าห่วง หากบอกว่าเผาบ้านไม่เป็นไร แต่เผาข้าวของต้องจ่ายตังค์ โดยให้เหตุผลว่าต้องเผาเพราะเดี๋ยวกลับมาบุกรุกต่อ ในทางตรรกะ เรื่องนี้ประหลาด อย่างไรก็ดี วันนี้เราอาจจะต้องไปดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างในการเข้าถึง สิทธิชุมชนไหม เช่นเรื่องการสืบว่าการมีอยู่เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มคนเล้กคนน้อย ชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการต่อสู้อย่างยุติธรรมได้.