ป.ป.ช.เหลือเรื่องค้างในมือหมื่นคดี! วงเสวนาชี้แก้โกงไม่ง่าย ใช้เวลา 5-10 ปี
รองเลขาฯ ป.ป.ช. เผยเหลือคดีค้างในมือกว่า 1-2 หมื่นคดี เลขาฯองค์กรต้านคอร์รัปชั่น เชื่อใช้เวลา 5-10 ปีแก้ปัญหาได้ ส่วน บก.อิศรา ยันนโยบายสาธารณะคือปัญหาหลักคอร์รัปชั่น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 มีการจัดเสวนา “เครือข่ายสื่อสารต้านทุจริต” ขึ้นที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ กรุงเทพฯ ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. และ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวเปิดงาน มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และ นายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
สำหรับวัตถุประสงค์การจัดเสวนาดังกล่าว เพื่อพัฒนาความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และประสานให้เกิดการสร้างทัศนคติ ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย มีจิตสำนึกที่ดี เพื่อพัฒนาความร่วมมือให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบ
นายประหยัด กล่าวว่า ดัชนีตัวชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น ประจำปี 2558 (Corruption Perception Index 2015) ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 38 จากคะแนนเต็ม 100 อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีคดีที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตเป็นจำนวนมากถึง 10,000 – 20,000 คดี ซึ่งเป็นข้อร้องเรียนมาจากประชาชนในพื้นที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
ส่วน ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ปัญหาการการคอร์รัปชันในระบบราชการไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับสูง ซึ่งการแก้ปัญหา นั้น ไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี อย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีในการแก้ปัญหานี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอาศัยพลังเครือข่ายของประชาชนที่พร้อมจะลุยต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย
ขณะที่ นายฐากร เลขาฯ กสทช. สำทับว่า การทำงานของวิทยุชุมชน และวิทยุสมัครเล่น เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการนำข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้มากที่สุด ซึ่งหากประชาชนพบเจอเรื่องที่ไม่ชอบหรือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นไปให้กับทางหน่วยงานดังกล่าวนี้ได้ตลอดเวลา
ส่วนบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของสื่อ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1.การรายงานเหตุการณ์ สถานการณ์ 2.การตรวจสอบตรวจค้นข้อมูล โดยสำนักข่าวอิศราจะเน้นตรวจสอบบุคคลสาธารณะ และนโยบายสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ เป็นปัญหาหลักของการคอร์รัปชั่น โดยการทำงานของสำนักข่าวอิศรา จะอยู่ภายใต้หลักฐานเอกสารของราชการที่ได้รับ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประชาชนที่อยากแจ้งเรื่องร้องเรียนสามารถแจ้งเบาะแสให้กับสื่อมวลชนที่ไว้ใจได้
“ขออนุญาตเรียนว่า ปัจจุบัน ทางสำนักข่าวอิศราได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านทางอีเมล์ของสำนักข่าวฯ เป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง ๆ มีเอกสารข้อมูลของราชการส่งเข้ามาที่สำนักข่าวฯ ไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง ซึ่งทางสื่อฯ เราก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาคัดกรองอีกทีหนึ่ง เพื่อนำเสนต่อสาธารณชน ต่อไป” บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา กล่าว