กสทช.ล้อมคอกปัญหาโมบายแบงก์กิ้ง มือถือหายขอซิมใหม่ต้องทำด้วยตัวเอง
กสทช.ล้อมคอกแก้ปัญหาหลอกโอนเงินออนไลน์ผ่านมือถือ ออก 5 มาตรการระยะสั้น ให้มีผลการดำเนินทันที
วันที่ 12 กันยายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวหลังการประชุมหารือเรื่อง “แนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่” ณ อาคารหอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังการประชุมหารือว่า ได้สรุปแผนระยะสั้นถึงการดำเนินการ 5 เรื่อง ดังนี้
1.) ทั้ง 4 หน่วยงาน กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการพิสูจน์ยืนยันตัวตน และกสทช.จะออกหนังสือกำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการดำเนินตามอย่างเคร่งครัด
2. ) ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะร่วมกันประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้บริการ mobile banking , Internet Banking และ Prompt Pay ถึงกรณีมือถือสูญหาย ให้รีบ 1.แจ้งธนาคารที่ใช้บริการเพื่อยกเลิกระบบการบริการ 2.แจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อขอออกซิมการ์ดใหม่ โดยต้องเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ดำเนินการเท่านั้น เพื่อเข้าขั้นตอนการดำเนินพิสูจน์ตัวตน
3. ) กรณีผู้ใช้บริการแจ้งทั้งสองฝ่ายและได้พิสูจน์ว่า แจ้งแล้ว ผู้ใช้บริการไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
4.) สำหรับคนที่ใช้งานระบบของ Mobile Banking Internet Banking และ Prompt Pay จะให้ธนาคารพาณิชย์ส่งหมายเลขโทรศัพท์ผู้ใช้งานในระบบทั้งหมดให้กับ กสทช. เพื่อส่งต่อยังผู้ประกอบการคมนาคมเครือข่ายต่างๆ ได้ดูแลกลุ่มผู้ใช้งานเป็นกรณีพิเศษ
5. )การขอออกซิมการ์ดใหม่ ต้องเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์และผู้ใช้งานของระบบ Mobile Banking Internet Banking และ Prompt Pay ต้องดำเนินการเองเท่านั้น มอบอำนาจให้ผู้อื่นมิได้ เพื่อเข้าขั้นตอนการดำเนินพิสูจน์ตัวตน
นายฐากร กล่าวว่า ทั้ง 5 เรื่องมีผลการดำเนินตั้งแต่วันนี้ ส่วนแผนระยะยาวของเรื่องการวางระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อความเชื่อมั่นการใช้ระบบการเงินผ่านโทรศัพท์ อย่างการใช้ระบบลายนิ้วมือจะมีการศึกษาและหารือต่อไป
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจการทำงานของระบบแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมมือกันทำสื่อออกมาเผยแก่ประชาชน และหากผู้ใช้บริการดำเนินขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนแล้ว ทางสถาบันการเงินขอยืนยันว่า ท่านไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่เสียหายไป
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การไม่รู้ระบบการทำงานทั้งผู้ประกอบการคมนาคมและสถาบันการเงินอาจเป็นเหตุของช่องโหว่ ซึ่งการร่วมหารือกันครั้งนี้ จะเป็นการวางแผนระบบการรักษาความปลอดภัย โดยมีกสทช.เป็นส่วนกลางการดำเนินงาน จะทำให้สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ขโมยเงินออนไลน์ผ่านมือถือ โทษ ‘ระบบ คน หรือผู้ประกอบการ’ ?