ไฟเขียวก.คลัง หาคนชดใช้ค่าสินไหมแทน คดีคุมขังผู้ต้องหาเกินเวลา-เสียชีวิตแล้ว
'กฤษฎีกา' เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย ไฟเขียว 'ก.คลัง' ตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีคุมขังผู้ต้องหาเกินเวลา ไม่ดำเนินการตามกม.อภัยโทษ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณี กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือด่วน เพื่อขอความเห็นทางกฎหมายว่า กระทรวงการคลัง สามารถเรียกให้คณะกรรมการตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษ ที่มีมติไม่ให้ นายสมาน พุ่มพวง ผู้ต้องขังในเรือนจำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วงปี 2547 ทำให้ นายสมาน ถูกคุมขังในเรือนจำเกินกำหนดเป็นเวลา 2 ปี 19 วัน และปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้แทนกระทรวงการคลังได้หรือไม่
ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ ประกอบไปด้วย กรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้บัญชาการเรือนจำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ นายสมาน คิดเป็นเงิน 674,100 บาท ซึ่งค่าสินไหมในส่วนของกระทรวงการคลัง คิดเป็นวงเงิน 149,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า กระทรวงการคลัง มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ขาดอายุความตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 และกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อหาผู้รับผิดทางละเมิดคดีนี้ได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีข้อสังเกตว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเพียงว่า คณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษฯ ได้พิจารณาการรับพระราชทานอภัยโทษไปตามความเห็นของคณะทำงานของเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ได้รับมอบอำนาจหน้าที่ให้ตรวจสอบการพระราชทานอภัยโทษ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และคณะกรรมการตรวจสอบฯ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
กรณีนี้จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยคำพิพากษาดังกล่าวมิได้วินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่
(ดูความเห็นฉบับเต็ม ที่นี่)