ชำแหละจุดตายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไอซีทีหมื่นล.ฉบับ สตง.! เร่งรีบ-ส่อสูญเปล่า
เปิดหมดรายละเอียด สตง. ชำแหละโครงการไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไอซีที 1.5 หมื่นล้าน ชี้ดำเนินการเร่งรีบ อาจก่อให้เกิดความสูญเปล่า แก้ไข TOR หลายครั้ง ผลประชาพิจารณ์ยอมรับไม่ได้ คำนวณการวางโครงข่ายไม่ละเอียด อาจลงทุนสูงจนเอกชนไม่เข้าร่วม วางแผนไม่รอบคอบ
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการว่าจ้างดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศของสำนักงานปลัดกระทวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงไอซีที เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถูกจับตาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน ภายหลังถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะการดำเนินงานที่คาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามารับงานจะเป็นอย่างไร ?
(อ่านประกอบ : ชง รมว.ไอซีทีเบรกขยายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตทั่ว ปท.หมื่นล.-สตง.ชี้เสี่ยงสูญเปล่า)
แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปตรวจสอบการทำโครงการดังกล่าวแล้ว พบข้อเท็จจริงหลายประการ ที่ชี้ให้เห็นว่า อาจมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการดำเนินการได้
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หนึ่ง การลงทุนที่สูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังรอบคอบ แต่กลับใช้งบกลางในหมวดรายจ่ายอื่น กำหนดโครงการไว้ที่ 12 เดือน โดยเพิ่งได้รับงบเมื่อกลางปี 2559 ทำให้ต้องเร่งก่อหนี้ผูกพันให้ทันภายในเดือน ก.ย. 2559 เพื่อไม่ให้งบประมาณตกไป จึงเกิดการดำเนินงานอย่างเร่งรีบ ทำให้เกิดความไม่รอบคอบได้
สอง การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจทับซ้อนกับโครงการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ระหว่างปี 2555-2559 ที่ได้จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ไว้แล้ว เป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 34,806 ล้านบาท (ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 323 ล้านบาท ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งให้ชะลอโครงการ และทำข้อตกลงให้กระทรวงการคลังยืมเงินจากกองทุนจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ดังนั้นการไม่ให้ USO ดำเนินการต่อ อาจขาดความชอบธรรมในการเก็บค่าธรรมเนียมกับเอกชน และอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ไม่ต้องส่งค่าธรรมเนียม USO ได้
สาม การดำเนินตามร่างขอบเขตงาน (TOR) ก็ไม่เป็นตามขั้นตอน เนื่องจากมีการนำ TOR ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจไปจัดทำประชาพิจารณ์ ต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง ทำให้ TOR แตกต่างกัน ผลประชาพิจารณ์ที่ได้รับจึงไม่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาได้
นอกจากนี้ ในการติดตั้ง Free Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุด แต่ไม่มีการกำหนดจุดที่แน่นอน
อาจส่งผลให้โครงการล่าช้า และมีปัญหาการบริหารสินทรัพย์เหมือนการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT หรือการเตือนภัยพิบัติของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากยังดำเนินการโครงการนี้โดยไม่มีการทบทวนให้รอบคอบ อาจเกิดปัญหาเช่นโครงการที่ผ่าน ๆ มา
สี่ การกำหนดหมู่บ้านเป้าหมายจากจุดติดตั้ง Existing Node ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ไปยังหมู่บ้านในระยะทางไม่เกินกว่า 15 กิโลเมตร โดยนำโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะในส่วนของโครงข่ายใยแก้วนำแสง (OFC) นั้น มีการใช้วิธีคำนวณโดยการประมวลผลโดยระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ซึ่งเป็นการประมวลผลลงบนแผนที่ดิจิตอลในระบบ 2 มิติ ผลการคำนวณอาจไม่สะท้อนระยะทางการวางโครงข่าย OFC อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังไม่ทราบว่าหมู่บ้านเป้าหมายนั้นตั้งอยู่ในภูเขาหรือหุบเขาหรือไม่ หากเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในภูเขาหรือหุบเขาก็อาจไม่สามารถดำเนินการติดตั้งได้ หรือต้องดำเนินการด้วยต้นทุนที่สูงกว่ามาก เมื่อติดตั้งแล้วอาจไม่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดมาให้บริการเชื่อมต่อเข้าบ้านเรือนประชาชน เพราะไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเดินสายเคเบิลใยแกวนำแสงไม่เกิดความคุ้มค่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ห้า ไอซีทีรับทราบข้อจำกัดของพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการลงไปสำรวจพื้นที่จริง เนื่องจากต้องเร่งดำเนินการ เพื่อก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2559 หากดำเนินการไม่ทันจะทำให้งบประมาณนี้ตกไป ไม่สามารถนำกลับมาใช้ในปี 2560 เนื่องจากไอซีทีได้งบประมาณในหมวดรายจ่ายอื่น ไม่ใช่หมวดงบทุน และหากไม่แล้วเสร็จตามแผนที่ได้ของบประมาณไว้ คือภายใน 12 เดือน ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ การเร่งรีบดำเนินการจึงขาดความรอบคอบ โดยไม่ได้ดำเนินการในส่วนที่สำคัญก่อนมีการก่อหนี้ผูกพัน
หก การคำนวณระยะ OFC เป็นการคำนวณระยะทางจาก Existing Node ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายในลักษณะสายส่งของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงระยะทางของสายกระจาย และสายเชื่อมต่อในระดับครัวเรือน ซึ่งการจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ต้องมีผู้ประกอบการดำเนินการลงทุนเชื่อมต่อจาก Existing Node ที่เป็น Node สุดท้ายในแต่ละหมู่บ้านไปยังบ้านเรือนของประชาชนที่จะใช้บริการ ซึ่งไอซีทียังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเพียงพอว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดและต้องใช้เวลานานเท่าใด ในขณะที่การสร้างสายส่งมีการเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน แสดงให้เห็นว่าแผนการดำเนินการไม่สอดคล้องกัน หากเร่งดำเนินการวางโครงข่าย OFC ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ มีอายุการใช้งานที่จำกัดและมีการเสื่อมสภาพ การลงทุนอาจสูญเปล่าหรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
เจ็ด ไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านเป้าหมาย โดยใช้เป้าหมายจำนวนประมาณ 3 หมื่นราย เทียบกับหมู่บ้านทั่วไทยประมาณ 4 หมื่นหมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 750 คน ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีและเหมาะสมที่จะสำรวจความคิดเห็นมาใช้ในการกล่าวอ้าง
อีกทั้งผลสำรวจสำคัญคือประชาชนเห็นด้วยกับนโยบาย และจะซื้อสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ส่วนตัวถ้ามีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าสู่หมู่บ้าน มีเพียงร้อยละ 41.1 แสดงให้เห็นว่า หากประชาชนไม่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือไม่มีรายได้พอที่จะใช้งานได้ก็อาจทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาร่วมบริการ ซึ่งหากไอซีทีให้ TOT และ CAT ดำเนินการ ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมาก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้
แปด เหตุผลหนึ่งในการขอความเห็นชอบดำเนินโครงการเนื่องจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคม ตามการจัดอันดับของดัชนีความพร้อมใช้ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปี 2558 ประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 67 เท่าเดิม จากทั้งหมด 148 ประเทศ เนื่องจากขาดความต่อเนื่องในด้านการลงทุนโครงข่าย ดังนั้นการมุ่งมั่นในการสร้าง Global Connectivity เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมมีระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการออนไลน์ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐต้องดำเนินการ
แต่จากที่กล่าวข้างต้นว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการวางโครงข่าย OFC ของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น การจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ต้องมีผู้ประกอบการมาลงทุนเชื่อมต่อโดยการเดินสายกระจาย และสายเชื่อมต่อในระดับครัวเรือน ซึ่งต้องมีการลงทุนอีกจำนวนมาก และต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนว่าการจะเข้ามาร่วมดำเนินการของผู้ประกอบการจะเป็นรูปแบบใด เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
แต่จากการติดตามสอบถามไอซีทีตอบชี้แจง สตง. ว่า ในระยะต่อไป เมื่อจัดตั้ง NetCo แล้ว โครงข่ายที่จัดสร้างจะเป็นโครงข่ายกลางของชาติบริการจัดการโดยรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งอาจโอนส่วนโครงสร้างพื้นฐานของ TOT และ CAT) ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงข่ายและให้บริการขายส่งเท่านั้น โดยมีแนวทางในการจัดหาเงินลงทุนมาดำเนินการลงทุนขยายโครงข่ายต่อไปจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
จากการตอบชี้แจงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า ไอซีที ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณารูปแบบของการจัดตั้งต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเร่งดำเนินการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงให้เสร็จภายใน 12 เดือน จะไม่สอดคล้องกับระยะเวลาในการดำเนินการจัดตั้ง NetCo ซึ่งจะทำให้โครงข่ายใยแก้วนำแสงที่วางไว้ล่วงหน้าไม่ได้ใช้งาน การให้บริการอินเทอร์เน็ตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จึงอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือไม่สอดคล้องกับแผนการต่าง ๆ
ดังนั้น สตง. เห็นว่า รมว.ไอซีที ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานปลัดไอซีที ควรสั่งการให้พิจารณาชะลอ และทบทวนความพร้อมของการดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องใน จ.พิษณุโลก และ จ.หนองคาย ที่ กสทช. ได้สำรวจพื้นที่แล้ว เพื่อนำประเด็นปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขที่ได้รับจาก 2 จังหวัดนำร่อง มาพิจารณาปรับใช้ต่อไป
แม้จะทำให้ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณได้ทันตามกำหนด แต่สามารถใช้เงินจากโครงการของ กสทช. ที่มีเงินคงเหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท มาดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้ กสทช. ในฐานะตัวแทนรัฐได้รับความชอบธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในระยะถัดไป อันจะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคมโดยทั่วถึงต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)