เวทีโลกจี้ไทย! เลิกคำสั่ง คสช.-ปรับทัศนคติ-กักตัวคนตามใจ-พลเรือนขึ้นศาลทหาร
เวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชื่นชมไทยปราบปรามค้ามนุษย์เข้ม แต่กังวลปมข่มขู่นักสิทธิฯ-จำกัดเสรีภาพการชุมนุมการเมือง จี้เลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. พาคนไปปรับทัศนคติ พิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร กักตัวคนตามอำเภอใจ ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการรายงานผลของคณะผู้แทนไทยที่ตอบคำถามในเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ตามกลไกของ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 และกำหนดให้ไทยแจ้งผลการพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะดังกล่าวที่ขอนำกลับมาพิจารณาเพิ่มเติมภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ผู้แทนคณะฝ่ายไทยได้ยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สรุปสาระสำคัญได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พร้อมแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการยกร่างรายงานประเทศที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนขอไทยในช่วง 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นภาคีและการถอนข้อสงวนต่อตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การตราและปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางซึ่งรวมถึงผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศแล้ว
ภายหลังคณะผู้แทนไทยได้ตอบคำถามในเวทีดังกล่าวแล้วเสร็จ มีหลายประเทศต่างให้ข้อเสนอแนะ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยหลายคำถาม แบ่งเป็น
คำชื่นชม เช่น การให้สัตยาบนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร พิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ ตลอดจนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งนี้คำชื่นชมส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยุโรปบางประเทศ เช่น อิตาลี และสโลวะเกีย
ข้อห่วงกังวล เช่น การใช้โทษประหารชีวิต การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และที่ 13/2559 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การขู่คุมคามผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และกลุ่มละตินอเมริกา
อย่างไรก็ดีคณะผู้แทนไทยได้ตอบชี้แจงคำถามจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ สิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สตรี คนชรา การบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม กระบวนการประชามติ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา
ทั้งนี้ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยรวม 249 ข้อ โดยคณะผู้แทนไทยได้ตอบรับทันที 181 ข้อ ได้แก่ ประเด็นการเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง การคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม การคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น การเคารพหลักการเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เป็นต้น
แต่มีอีก 68 ข้อ ที่คณะผู้แทนไทยขอนำกลับมาพิจารณา โดยต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การระงับบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ และการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีนัยต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกการกักกันตัวบุคคลตามอำเภอใจ และยกเลิกการปรับทัศนคติ รวมถึงการออกหรือแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย เป็นต้น