คนชายขอบเรียกร้องคืนสัญชาติไทยพลัดถิ่น - วุฒิสภาฯ คว่ำ ร่าง พ.ร.บ.
4 เครือข่ายชาวบ้านในนาม Pmove แถลงการณ์หนุนคืนสัญชาติไทยพลัดถิ่น ตัด ม.7/1 ระบุทำคน 80 เปอร์เซ็นต์พลาดสิทธิคนไทย ล่าสุดวุฒิสภาฯถอนร่าง พ.ร.บ.เหตุเปิดช่องต่างด้าวเข้าไทย
วันที่ 16 ม.ค.55 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P move ออกแถลงการณ์สนับสนุนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง, ประจวบคีรีขันธ์ และตราด “เรียกร้องตัดมาตรา 7/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ” ใจความว่าขอร่วมสนับสนุนการผลักดันกฎหมายคืนสัญชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาฯ แต่กรรมาธิการฯ ได้เพิ่มมาตรา 7/1 ความว่า
“การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามบทนิยามคำว่า “ไทยพลัดถิ่น” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ หมายถึงการสำรวจจัดทำทะเบียนของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ”
พีมูฟขอสนับสนุนการเรียกร้องให้ตัดมาตราดังกล่าวออกจากร่าง พ.ร.บ.คืนสัญชาติเพื่อให้กฎหมายสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ โดยนางปรีดา คงแป้น แกนนำเครือข่ายพีมูฟเปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า การเรียกร้องให้ตัดม. 7/1 ออกจากพ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น เนื่องจาก ที่ผ่านมากรมการปกครองสำรวจแค่ชนกลุ่มน้อยเพื่อแปลงสัญชาติเท่านั้น ยังไม่ได้สำรวจคนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงเกรงว่าหากบรรจุมาตราดังกล่าวและพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ คนกลุ่มนี้จะหมดโอกาสได้รับสัญชาติ
ด้านนายไมตรี จงไกรจักร เปิดเผยว่า ม.7/1 จะทำให้บุคคลที่ยังไม่เข้าอยู่กระบวนการของกรมการปกครองไม่มีสิทธิได้รับสัญชาติ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยกับการแปลงสัญชาติและต่อสู้เรียกร้องให้มีการคืนสัญชาติแทน ทั้งนี้ นัยของการแปลงสัญชาติหมายถึงแปลงสัญชาติอื่นมาเป็นคนไทย แต่การคืนสัญชาติหมายถึงมีสิทธิเป็นคนไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ
ทั้งนี้ พีมูฟ Pmove เป็นเครือข่ายของเกษตรกรชนบทและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือผลกระทบจากโครงการหรือนโยบายการพัฒนาประเทศประกอบด้วย 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมากให้ถอนร่าง พ.ร.บ. สัญชาติ หลังจากหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ที่มีนายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทรบุรี เป็นประธานได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่คัดค้านการกำหนดนิยามที่คลุมเครือของคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” ซึ่งอาจเปิดช่องให้คนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศเพื่อขอสัญชาติไทย .
ข้อมูลภาพ : http://www.thanonline.com/index.phpoption=com_content&view=article&id=102549:71&catid=143:2011-01-26-05-35-57&Itemid=597