ประเด็นแรงงานหายจากสื่อกระแสหลัก นักวิชาการแนะปรับวิธีสื่อสารใช้ New Media เคลื่อนไหว
นักวิชาการด้านแรงงาน มองเรื่องแรงงานในหน้าสื่อหายไป เพราะต้องทำข่าวเอาใจนายทุน ขายโฆษณาให้ได้ ด้านคนงานต้องเปลี่ยนวิธีสื่อสาร ใช้ New Media สร้างโอกาสในวันที่พื้นที่สื่อกระแสหลักเหลือน้อย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) จัดเสวนาเรื่อง “หนังสือพิมพ์ กรรมกร จากคุ้นเคยกลายเป็นอื่น”
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า เมื่อปีพ.ศ. 2538 อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา พร้อมกับที่ประเด็นแรงงานเริ่มถดถอย สื่อไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แรงงาน และโลกที่เปลี่ยนไป สื่อกระแสหลัก ที่คนงานพยายามจะใช้แต่เข้าไม่ถึง การเคลื่อนไหวทำให้มีการปฏิรูปสื่อ เริ่มมีความคิดเรื่องของคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะ ทุกคนที่มีสิทธิในการใช้ จากนั้นคนงานเริ่มคิดว่า จะไปเอาพื้นที่สื่อกระแสหลักเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย ประจวบกับการมีสื่อกระแสใหม่ บริบทของสื่อใหม่ เป็นโอกาสใหม่ของคนงานในการเข้าใช้สื่อ
"วันนี้การผูกขาดเริ่มหมดไปสื่อกระแสใหม่อย่าง เฟสบุ๊ค เข้ามา คนสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ แต่โจทย์คือทำอย่างไรที่จะสื่อสารประเด็นแรงงาน ในกระเเสโลกกาภิวัฒน์ที่แรงมากจะทำอย่างไรในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนกรอบความคิด มายาคติที่มีต่อตัวแรงงานออกไป"
นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนสื่ออยู่ในบริบทที่ต้องพึ่งพาสังคมใหญ่ เราพบว่า สื่อเสนอของคนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นแรงงาน อันมีสถานะทางสังคมที่อ่อนแอกว่ามองว่า นักข่าว สื่อมวลชนคือปัญญาชน มีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ เป็นคนหัวก้าวหน้า แต่ถามว่าตอนนี้ทำไมถึงห่างเหิน เพราะอุดมการณ์ทางสังคมเปลี่ยนไป วิกฤติ ศรัทธา หลังจากเราเริ่มเข้าสู่โลกธุรกิจที่แซงหน้า วิญญาณการเป็นนักสื่อมวลชนแต่เดิมคือขายให้คนอ่าน แต่ตอนนี้รายได้ของสื่ออยู่ที่ทุน สปอนเซอร์ กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สื่อเอาใจทุน
"ถามว่า แล้วคนที่ทำสื่อเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยหลักการไม่เปลี่ยนแต่สภาพการต่อรองต่ำเหลือเกิน เพราะอะไรที่รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมี ม.41 ให้คุมครองเสรีภาพการทำข่าวของสื่อ ส่งเสริมให้คนสื่อรวมตัวกัน ห้ามการแทรกแซง แต่ปรากฎว่า จนวันนี้ก็ยังล้มเหลว มาตรการในคุ้มครองการใช้เสรีภาพไม่เพียงพอ ทำให้คุณมีอำนาจเหนือทุนได้"
ด้านนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคหนึ่งไม่ค่อยรู้สึกว่า แรงงานต่างด้าวเป็นพวกเดียวกับเรา ในยุค ถวัติ ฤทธิเดช เขาเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมกรโรงสี พูดง่ายๆ ว่า “พวกเจ๊ก” เพราะมองว่าผลประโยชน์ของกรรมกร คือผลประโยชน์ของทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ถวัติยังก่อตั้งหนังสือพิมพ์ กรรมกร สะท้อนความภูมิใจว่าเราเป็นแรงงาน พร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียง และเรียกร้องในเรื่องเสรีภาพ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นำกรรมกรรถรางมาประท้วง แสดงจุดยืนไม่เคยมีความคลุมเครือเลยในการปกป้องประชาธิปไตย ไม่เคยลังเลใจเลยในการเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นจุดยืนชัดเจนว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความแนบแน่นกับประชาธิปไตย เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ของแรงงานทุกเชื้อชาติ ซึ่งหากสังคมไทยปัจจุบันสามารถที่จะทะลุได้กระบวนการแรงงานไทย จะพัฒนามากขึ้นเยอะ เพราะวันนี้เราไม่ค่อยภูมิใจกับความเป็นลูกจ้าง
นายศิโรตม์ กล่าวถึงการขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่มีสื่อสัมภาษณ์ผู้ใช้แรงงานเลย มีแต่สัมภาษณ์เจ้าของกิจการ สื่อให้พื้นที่คนเหล่านั้น เมื่อเป็นแบบนั้น การต่อสู้ใหญ่ๆ การมีกระบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะปกป้องอย่างไร ในการผลักดัน สิทธิต่างๆให้สังคมใหญ่สนใจ (public interest) การนำเอาสื่อใหม่มาใช้จึงเป็นช่องทาเลือกใหม่ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน ยกตัวอย่างเรื่อง การป่วยของกระเป๋ารถเมล์โดยเฉพาะผู้หญิงที่พบว่า ป่วยกะเพราะปัสสาวะอักเสบจากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยถูกนำเสนอ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาเมือง
"วันนี้เราจะทำอย่างไรที่จะดึงเอาสื่อออนไลน์ สร้างเข้าใจความเป็นมนุษย์ ใช้สื่อใหม่ในการเล่าเรื่องที่ปัญหาในชีวิตที่ไม่มีใครสนใจ ใครคนเห็นว่าภายใต้ความเป็นแรงงานมีความเป็นมนุษย์ซ่อนอยู่" นายศิโรตม์ กล่าว
ด้าน นายสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า ช่วงวิกฤตปี 40 ยุคนั้นข่าวแรงงานก็บูม การต่อสู้เรียกร้องไม่ให้มีการเลิกจ้าง โทนข่าวเป็นการต่อสู้ในลักษณะนั้น พอหลังจากยุคนั้นมาเป็นการเปลี่ยนผ่านภาคเเรงงานด้วย จากฐานแรงงานหลักในโรงงานถักทอ มีการเปลี่ยนกลุ่มไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุด ฐานใหญ่อยู่ภาคตะวันออกซึ่งน้อยครั้งที่การเคลื่อนไหวไปไม่ถึงคนเมือง เพราะสื่อหลักกว่า 80% อยู่กรุงเทพฯ ข่าวสารที่เราจะรับรู้น้อยมาก จึงเป็นสุญญากาศ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเทรนด์ข่าวก็เปลี่ยน ข่าวแรงงานในวันนี้พูดเรื่องแรงงานนอกระบบ ปัญหาที่มีกับบสิทธิด้านแรงงานที่รัฐจะต้องรับรอง ปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานทาส
นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ลำบากเหมือนกันที่จะสื่อสารปัญหาแรงงานให้เข้าใจ คนทำสื่อเองก็มีปัญหา เราเรียกร้องให้กับสิทธิแรงงานภาคส่วนต่างๆ มากมาย แต่สิทธิแรงงานนักข่าวกลับไม่ได้ถูกเรียกร้อง ดังนั้นเราไม่กล้ารับประกันว่าข่าวพี่น้องแรงงานจะมีมากน้อยเพียงไหน มีคำกล่าวหนึ่งบอกว่า ประเทศไหนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ดูว่ามีปริมาณของสหภาพแรงงานมากน้อยแค่ไหน
“เมื่อมีสิทธิแรงงานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน ภาพมายาคติ ระหว่างปัญญาชนกับกรรมกรกลับมาอีก ถามว่าผู้ใช้แรงงาน เราเคยถามว่าทำไมเราไม่มีสหภาพแรงงานของนักข่าว มีคนบอกว่า นักข่าวไม่ใช่ผู้ใช้เเรงงาน นี่คือมายาคติ แต่ในยุโรปหรือที่อื่นๆ เขามีทั้งนั้น” นายสุเมธ กล่าว และว่า ย้อนไปหลังปี 40 ภาคแรงงานก็ไม่เข้มแข็ง กลายเป็นอุตสาหกรรมไหนไปได้ดี ก็ไม่สนใจเคลื่อนไหวภาคสังคมเเล้ว มิติข่าวที่สร้างการเปลี่ยนแปลง พื้นที่สื่อมีไม่กี่เรื่อง ขึ้นค่าแรง เลิกจ่าง สิทธิประกันสังคม อย่างเรื่องแรงงานประมงไม่ใช่เรื่องเพิ่งเกิด แต่เกิดมาเป็นสิบปีเเล้ว สังคมเปลี่ยนความอยากอรู้อยากเห็นที่จะมากดดันสื่อให้สนใจเรื่องแรงงานน้อยลง สื่อก็ต้องอยู่รอด ดังนั้น เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง กลุ่มแรงงานต้องหันมาใช้ช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่เฟื่องฟูในขณะนี้.