กสทช. แนะปชช.ตื่นรู้ ภัยโลกไซเบอร์ รู้จริงก่อนทำธุรกรรมทางมือถือ
กสทช. แนะปชช.ตื่นรู้ ภัยโลกไซเบอร์ รู้จริงก่อนทำธุรกรรมทางมือถือ ยันระบบการยืนยันตัวเองยังมีช่องโหว่ ที่อาจมีคนอื่นใช้สวมรอยแทนได้ หวั่นส่งผลกระทบบริการพร้อมเพย์
วันที่ 8 กันยายน 2559 ณ ห้อง Kamolthip 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดการประชุม NBTC Public Forum 4/2559 “เรื่อง ขโมยเงินออนไลน์ผ่านมือถือ จากกรณีปัญหาสู่มาตรการแก้ไขเชิงระบบ” เพื่อหารือการวางแผนระบบรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมผ่านระบบมือถือ โดยนำกรณีศึกษาจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นแนวทางการวางระบบ
นายแพทย์ประวิทย์ สี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า จากกรณีปัญหาการโจรกรรมธุรกรรมทางระบบมือถือ เร่งให้เห็นปัญหาของระบบที่ต้องหารือกันพัฒนาเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะปัจจุบันมือถือเป็นสิ่งที่รวมการอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่อาจก่อให้เกิดการโจรกรรมที่ผ่านมาได้ง่ายดาย โดยเฉพาะระบบการยืนยันตัวเองยังมีช่องโหว่ ที่อาจมีคนอื่นใช้สวมรอยแทนได้ ส่งผลกระทบบริการพร้อมเพย์ (PromptPay)
“บริการพร้อมเพย์ กำลังเป็นกังวลว่า ควรใช้เบอร์เพื่อผูกกับบัญชีดีหรือไม่ ทำให้ทาง กสทช. ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) และทุกฝ่ายที่มีส่วนการเกี่ยวข้องต้องมีการศึกษาหารือและทบทวนกันอีกครั้งกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในประเทศที่ใช้ยืนยันตัวตนควรเป็นอย่างไร ซึ่งจากการหารือ ที่ประชุมก็ได้รับหลายข้อเสนอ เช่น การตอบคำถามส่วนบุคคล หรือการจะใช้ระบบ Biometric เช่น การเก็บลายนิ้วมือ กับลูกค้าทำธุรกรรมมีวงเงินสูงๆ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายต่อไป"
นพ.ประวิทย์ กล่าวถึงผู้บริโภคอาจเจอความเสี่ยงจากการเลือกรับบริการที่ตัวเองรู้ไม่เท่าทัน เพียงแต่ทำตามใจของผู้เสนอ เช่น banking online หรือ PromptPay ที่เป็นการบริการเพื่อประโยชน์ทางการโอนเงินที่ช่วยลดค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมทางเทคโนโลยีฯ แม้มีความสะดวก แต่ก็บวกเรื่องความเสี่ยงของเงินในบัญชี ดังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ
“บริการธุรกรรมออนไลน์ดังกล่าวไม่ได้บังคับ เป็นสิทธิส่วนบุคคล และผู้บริโภคไม่ควรเชื่อคำเชิญชวนโดยไม่ได้มีการศึกษาให้ดีก่อน” กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กล่าว และเห็นว่า ในส่วนผู้ให้บริการต้องอธิบายข้อมูลที่จะเป็นหนึ่งช่องทางการลดปัญหาการโจรกรรมลงได้ ส่วนการวางแผนทำระบบรักษาความปลอดภัยยังคงต้องมีการหารืออีกครั้ง