ห่วงไทยแลนด์ 4.0 นักวิชาการแนะพัฒนาการศึกษา เตรียมคนให้มีทักษะ
นักวิชาการ ห่วงทิศทางการพัฒนาไม่ได้มองมิติทางสังคม เอื้อประโยชน์แค่นายทุน แนะแก้ระบบการศึกษา สร้างคน ด้านประธานอุตสาหกรรม เผย ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ เทคโนโลยี แต่ต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวทัน
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) จัดเสวนาเรื่อง “ทศนิยมแห่งยุคสมัย :ไทยแลนด์ 4.0 VS แรงงาน 4.0”
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจ เราต้องพูดถึงคนทั้งแผ่นดิน เวลาที่เราพูดเรื่องการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้เกิดความเจริญ เราพูดถึงเรื่องคนส่วนมาก เราไม่พูดเรื่องการแยกส่วน ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่โต โตให้ใคร ใครได้รับอานิงสงค์อันนั้น ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตให้ประโยชน์กับเฉพาะคนบางส่วน ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ชีวิคคนตกต่ำลงมาก จากที่เป็นเกษตรตามไร่นาต้องการกลายเป็นแรงงาน ขณะเดียวกันกลับสร้างนายทุนมาจำนวนหนึ่ง และคนที่จ่ายให้กับความเจริญของส่วนน้อยคือคนส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกับแรงงาน แต่ผลพวงความเจริญ ได้ถูกแบ่งกันอย่างยุติธรรมหรือไม่
ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศแถบยุโรปที่ขาดแคลนแรงงานคนจนต้องนำเครื่องจักรที่ใช้แทน แต่การที่ประเทศเรายังไม่ขาดคนแล้วนำเอาเทคโนโลยีมาใช้มาแทน คนที่ถูกแทนจะไปอยู่ไหน เชื่อได้เลยว่าพอเทคโนโลยีเข้าต้องมีคนที่หลุดจากระบบแน่นอน วันนี้เราบอกว่าไม่เกี่ยวคน แต่เกี่ยวกับทักษะ เเต่อย่าลืมว่าทักษะผูกกับคน เราจะแยกอย่าไร คนที่ทำงานในโรงงานมาสิบ ยี่สิบปี จบแค่ป.4 เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นพัฒนาไปทันกับเทคโนโลยีที่เราสร้าง ไม่เช่นนั้น พวกเขาก็โดนลอยแพแน่นอน
"การที่เราจะพัฒนาทักษะของคน ปัญหา คือระบบการศีกษา ถ้าการศีกษาไม่ดี จะพัฒนาให้เป็น 4.0 ได้อย่างไร วันนี้เราติดกับประโยคที่ว่า อ่านออกเขียนได้ก็พอ” ศาสตราภิชาน แล กล่าวและว่า เราไม่ได้มีการสอนเรื่องทักษะ เราเตรียมคนอย่างไรให้มีทักษะ คนที่เข้าระบบใหม่ไม่ได้ จะเอาไปที่ไหน ในเมื่อสวัสดิการที่มีก็ไม่รองรับคนเหล่านี้ รูปแบบเศรษฐกิจใหม่จะเอาคนมาจากไหน และถ้าเอาเข้าไม่ได้จะไปลอยแพที่ไหน เพราะอย่าลืมเขาเป็นคนไทย ก็ต้องอยู่ที่นี่
"เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 หรือยุคไหนๆ ก็ตาม การพัฒนาต้องคำนึงถึงมิติทางสังคมด้วย ไม่ใช่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มทุนธุรกิจอย่างเดียว"
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมกับแรงงานไม่สามารถแยกออกกันได้ ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้นแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาแรงงาน เพียงแต่ต้องพัฒนาแรงงานให้เป็น แรงงาน 4.0 ดิจิทัลจะมาทดแทนเรื่องการทำซ้ำข้อมูล ไม่ได้มาทดแทนแรงงานคน เราสามารถลดส่วนเหล่านั้นไป แต่จำนวนคนไม่ได้ลด
ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวต่อไปว่า เราไม่ได้มองแค่เรื่องแรงงาน 4.0 แต่มองเรื่องทักษะ 4.0 เรามองเรื่องเกษตร 4.0 ว่าเราจะพัฒนาไปในทางไหน ไม่ใช่ว่าเราจะทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ และแรงงาน ต้องปรับด้วยกันทั้งคู่ วันนี้ผู้ประกอบการมีข้อมูลครบหรือไม่ เครื่องจักรที่ใช้ดีหรือไม่ ทักษะของแรงงานจะเปลี่ยนมาใช้การสังเกต การเข้าใจเครื่องจักรมากขึ้น แบบนั้นจะมีผลตอบแทนมากด้วยซ้ำ เป็นทักษะที่สูงขึ้น อย่างประเทศเยอรมนีที่พูดถึง อุตสาหกรรม 4.0 เพราะมีคนน้อยกว่า เขาเลยจำเป็นต้องปรับ ต้องมีการปรับตัว มีลักษณะเดียวกันไทยตอนนี้ก็มีแรงงานไม่พอ ต้องใช้แรงงานต่างด้าว และในอีก 4-5ปี เขาย้ายกลับบ้าน ตอนนั้นเราจะยังพอที่จะไปได้ หากเรามีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ นั่นคือภาพที่ภาคธุรกิจมอง.