ศาลปค.ชี้กรมอุทยานฯไล่รื้อบ้านกระเหรี่ยงแก่งกระจานไม่ผิด สั่งชดใช้เผาบ้านรายละหมื่น
ศาลปกครองกลางสั่งกรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 กะเหรี่ยงบางกลอย รายละ 1 หมื่นบาท “ผู้เฒ่าคออี้” ยอมรับผล แต่ยินดีสาบานตนว่า “บางกลอยบน” คือบ้านเกิดไม่ใช่เพิงพัก
เมื่อวันที่ 7กันยายน2559 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ ส. 58/ 2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่างนายคออี้ มีมิ นายแจ พุกาด นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร นายบุญชู พุกาด นายกื้อ พุกาด และนายดูอู้ จีโบ้ง ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ศาลฯ ได้พิจารณาคดีสรุปความได้ว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นั้นเป็นไปตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสามารถกระทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างในเขตป่าดงดิบและอุทยานฯ ได้ และถือได้ว่าผู้ฟ้องเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กรณีนี้ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิของผู้ฟ้อง
สำหรับกรณีการอ้างการอยู่อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ปี 2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ผู้ฟ้องอ้างว่าอยู่ในชุมชนดั้งเดิมนั้น ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะชุมชนที่ผู้ฟ้องอาศัยอยู่ (บางกลอยบน) เป็นการบุกรุกแผ้วถางป่าดงดิบ และผู้ฟ้องไม่ยอมอาศัยอยู่และทำกินในพื้นที่ซึ่งรัฐกำหนดให้ การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หรือผู้ถูกฟ้องจึงไม่ถือเป็นการทำเกินกฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ศาลฯ เห็นว่าการเผาและทำลายทรัพย์สิน ของใช้ประจำวัน (เช่น หม้อข้าวและอุปกรณ์หากินอื่น) รวมทั้งเผาของใช้ส่วนตัว ถือว่าทำเกินกว่ากฎหมายกำหนดและกรมอุทยานฯ ผิดข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ เนื่องจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น สามารถเก็บทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวไว้ก่อนแล้วค่อยประกาศคืนแต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำ ศาลจึงได้ประเมินทรัพย์สินแล้วให้ผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าชดเชยแค่ผู้เสียหายเป็นรายละ 10,000 บาท แบ่งเป็นค่าชดเชยทรัพย์สินส่วนตัวและค่าชดเชยทรัพย์สิน อุปกรณ์ทำกินและจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างละ 5,000 บาท
สำหรับผู้ถูกฟ้องที่ 2 คือกระทรวงทรัพยากรฯ นั้นไม่ถือเป็นความผิดใดที่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดเท่านั้น จึงให้กรมรับผิดชอบค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องภายใน30วัน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีความกะเหรี่ยงบางกลอย กล่าวว่า การตัดสินของศาลชั้นต้นในวันนี้ชี้ชัดว่า ศาลฯไม่ได้มองว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอาศัยอยู่ที่บางกลอยบนมาก่อน แต่เป็นการบุกรุกป่าดงดิบทีหลัง ซึ่งหลังจากนี้หากฝ่ายใด ฝายหนึ่งจะมีการยื่นอุทธรณ์ก็ต้องดำเนินการต่อไปในศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตามแม้วันนี้ชาวบางกลอยย้ายไปอยู่ชุมชนเดิมไม่ได้ ยังถือว่าโชคดีที่ศาลพิจารณาข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งจะต้องคุยกับชาวบ้านถึงกระบวนการและขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ต่อไป
ปู่คออี้ กล่าวว่า ในเมื่อศาลตัดสินมาแล้วต้องยอมรับคำพิพากษา เมื่อไม่ให้กลับไปอยู่บ้านเดิม ตนยอมรับคำสั่ง เพราะเคารพศาล แต่สาบานว่า บางกลอยบน เป็นบ้านเดิม ไม่ได้บุกรุกใหม่ จะให้ไปสาบานที่ไหนยินดีจะไปทำ แต่ไม่คิดละเมิดคำสั่งศาล ทั้งนี้ยืนยันว่าบ้านที่ถูกเผาคือบ้านเกิด ไม่ใช่แค่ที่พัก เพราะตอนเกิดมา จำความได้ก็อยู่กับแม่กับพ่อ ที่นั่นคือที่ๆเดิมที่แรกที่ดื่มนมแม่
ด้านนายดูอู้ จิโบ้ง อายุ 65 ปี หนึ่งในผู้ฟ้องคดีความ กล่าวว่า ตนไม่รู้หรอกว่า ศาลประเมินทรัพย์สินที่เสียไป ให้คนถูกฟ้องเป็นเงินหมื่นแล้วตนจะได้อะไรกลับคืนมา เพราะชีวิตทั้งหมดที่มีถูกตัดขาดแล้วตั้งแต่ถูกโยกย้าย ในเมื่อคำพิพากษาไม่มีการให้โอกาสกะเหรี่ยงกลับบางกลอยบน ตนก็ต้องหันมาต่อสู้ด้วยวิธีอื่น
“ตอนบ้านลุงโดนเผา เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่า ลุงลงมาข้างล่องหน่อย ลงมาพ้นบันไดปุ๊บ เขาเผาเลย เรายืนดู ร้องไห้แต่เขาไม่หยุด เขาไม่ได้ให้เวลาเก็บของเลย ตอนนี้เรารู้แล้วหละว่าความยุติธรรมไม่มี จริงๆ แล้วลุงปลูกต้นไม้ ผลไม้ไว้มีต้นทุเรียนอายุราว30ปี ต้นหมากเป็นของพ่อแม่ อายุราว 60กว่าปี พ่อบอกว่าปลูกไว้กิน แต่เราบอกเขาเขาก็ไม่ฟัง คิดว่าเราถางป่าใหม่ พยายามบุกรุก แต่มันไม่จริง เราแพ้แล้วก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยหาวิธีต่อสู้ใหม่” นายดูอู้ กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจาก