กมธ.การเมือง สปท.ชงให้ มท.จัดเลือกตั้ง-ซ้อมกับ อปท.ก่อน 6 เดือน
กมธ.การเมือง สปท. มีข้อเสนอชงให้ มท. จัดเลือกตั้งทั้งหมด ส่วน กกต. แค่กำกับดูแล ดันมาตรการเฉพาะหน้าถึง ครม.-คสช. ซักซ้อมกับการเลือกตั้ง อปท. ก่อน 6 เดือน ดูข้อดี-ข้อบกพร่อง กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นวาระแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….
โดย กมธ.การเมืองฯ ระบุว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดหรือดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้ง ส.ว. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของ กกต. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 224
นอกจากนี้ยังได้เสนอมาตรการเฉพาะหน้า เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ประเด็น ได้แก่ 1.กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมาถึงในครั้งต่อไปเป็นวาระแห่งชาติ โดยเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน รวมทั้ง คสช. ที่จะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม
2.ก่อนมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป (ปี พ.ศ. 2560) ต้องมีการทดลองหรือซักซ้อมการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า 6 เดือน โดยใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครบวาระ แต่ยังไม่มีการเลือกตั้งเป็นพื้นที่ทดลองตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ศึกษาข้อดี ข้อบกพร่อง และบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อนำข้อสรุปมาจัดทำแนวทาง อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2560
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีนี้ว่า ที่มีการอ้างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. มีอำนาจจัดการเลือกตั้งนั้นจริง แต่คำว่าจัดเลือกตั้งและควบคุมการเลือกตั้งในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องไปขยายความในกฎหมายลูก ทั้งนี้การเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัด ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ที่ผ่านมาไทยคิด 3 รูปแบบ คือ 1. ให้ กกต. เป็นคนจัดอำนวยการตั้งแต่ต้นจนจบ 2. ให้ กกต. เป็นคนจัดวางระเบียบหรือ เลกกูเลเตอร์ คือ เป็นผู้แจกใบเหลือง ใบแดง ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติหรือโอเปอร์เรเตอร์ ให้ใช้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทย แต่สำหรับไทยอาจคิดว่าต้องเป็นกระทรวงมหาดไทย เพราะเคยจัดมาก่อน หลายประเทศใช้วิธีนี้ และ 3. ระบบที่ไม่มี กกต. เข้ามาจัดการ แต่ให้ฝ่ายบริหารจัดการ ซึ่งเป็นรูปแบบก่อนปี 40 แต่วิธีนี้อาจไม่เป็นที่นิยมและจะเป็นที่ครหาได้
“วันนี้เสียงที่ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้งคือ เสียงที่ให้ กกต. เป็นผู้วางระเบียบอย่างเดียว ส่วนระดับปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยดูแล ซึ่งหลายประเทศทำ แต่ที่ผ่านมาไทยให้ กกต. เป็นทั้งผู้วางระเบียบและผู้ปฏิบัติคือ ออกกฎระเบียบว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ยกหีบ นับคะแนน หรือรายงานคะแนนเอง เป็นสิ่งที่ใช้ในไทย แต่วันนี้ที่จะตัดตอนเพราะต้องการให้เกิดความสมดุลเท่านั้น ส่วนคนที่เสนอเรื่องนี้ผมไม่ทราบว่าเอาจริง เอาจังขนาดไหน แต่ความหมายอาจให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติ ส่วนจะจบอย่างไรไม่ทราบ เพราะทั้งหมดอยู่ที่ กกต. แต่ทำอย่างไรก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากรื้อทั้งระบบมาใช้แบบที่ 3 จะขัดกับรัฐธรรมนูญ ยืนยัน กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งและเป็นคนให้ใบเหลือง ใบแดง” นายวิษณุ กล่าว (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000089237)