'ประมนต์' ลั่นไม่ได้หมดหวังพึ่งกรรมสนองโกง เชื่อคนทุจริตกำลังถูกกม.ตามลงโทษ
ประมนต์ สุธีวงศ์ ชี้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น ปีที่ 6 แนวคิด ‘กรรมสนองโกง’ ลั่นไม่ได้หมดหวังถึงกับต้องหวังพึ่งชาติหน้า หรือรอให้กฎกรรมทำงานแต่อย่างใด เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมกำลังทำงาน รวดเร็ว ให้จับตากรรมของคนทุจริตกำลังถูกกฎหมายตามลงโทษ จริงจัง เด็ดขาด
วันที่ 6 กันยายน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาวิชาการ “Anti-Corruption Collaboration” กรรมโกงแบบไหน...ใครสนอง? ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าวเปิดงาน
นายประมนต์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แนวคิดจัดงาน ‘กรรมสนองโกง’ ซึ่งไม่ได้เพราะหมดหวังถึงกับต้องหวังพึ่งชาติหน้า หรือรอให้กฎกรรมทำงานแต่อย่างใด
“ผมอยากจะบอกว่า ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมของเรา เริ่มทำงานรวดเร็ว กรรมของคนทุจริตกำลังถูกกฎหมายตามลงโทษ จริงจัง เด็ดขาด และรวดเร็ว เหล่านี้คือผลงานที่เราทำงานร่วมกัน ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาคสื่อสารมวลชน”
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าวถึงผลงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นช่วงที่ผ่านมา ได้ปลูกฝังเยาวชนไร้คอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ให้กับนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ สนับสนุนหลักสูตรโตไปไม่โกงในระดับประถมศึกษา ทำพิพิธภัณฑ์คนโกง ร่วมรณงค์สำนึกไทยไม่โกงร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ด้านการป้องกันคอร์รัปชั่น ได้สนับสนุนการปฏิรูปการให้บริการภาครัฐให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ติดตามการบังคับใช้พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ ในการพิจารณาใบอนุญาติของทางราชการ เสนอให้สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐให้มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม โดยส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกว่า 150 คน
ส่วนด้านการปราบปราม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้สร้างความเข้มแข็งโครงการหมาเฝ้าบ้าน อบรมอาสาสมัครมากกว่า 500 คนทั่วประเทศ จนนำสู่การตรวจสอบโดยภาครัฐมากกว่า 1 พันเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การทุจริตสร้างระบบชลประทานที่จังหวัดศรีสะเกษ และได้เร่งรัดให้ดำเนินคดีทุจริต สนับสนุนการจัดตั้งศาลคดีทุจริต เป็นต้น
จากนั้น ในงานมีเวทีเสวนาวิชาการ “Anti-Corruption Collaboration” กรรมโกงแบบไหน...ใครสนอง? โดยภาคการศึกษา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภาคการศึกษาถือว่ามีการตื่นตัวเรื่องการคอร์รัปชั่นน้อย คนโกงถึงขั้นติดคุกแทบไม่เห็น ทั้งสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวะ หรือระดับอุดมศึกษา มีเพียงการตั้งกรรมการสอบสวน ตั้งข้อสงสัย เท่านั้น
"สำหรับภาคการศึกษา คอร์รัปชั่น หากคำจำกัดความ คือ การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์แห่งตน ดังนั้นการใช้ทรัพยากรประเทศจัดสรรให้กับภาคการศึกษาสูง หน้าที่ครู และผู้บริหารมีหน้าที่ให้การศึกษาของเด็กนักเรียนดีขึ้น แต่หากใช้อำนาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตน ผมถือว่าคอร์รัปชั่น ทั้งการใช้เวลาของครูไปทำธุรกิจขายตรง หรือให้นักเรียนเรียนพิเศษตอนเย็น มีการกั๊กข้อสอบ ผมถือว่าคอร์รัปชั่น หรือแม้แต่เงินที่บริจาคให้โรงเรียนก็ตาม รวมไปถึงการคำนวณเงินเฉลี่ยรายหัวที่โรงเรียนต่างๆ ได้รับนั้น แต่ละโรงเรียนยื่นขอไม่ตรงกัน ซึ่งข้อมูลนักเรียนที่แน่ชัด ยังไม่แน่ชัด"
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย เราก็เห็นรัฐบาลต้องใช้มาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีหลายต่อหลายท่าน เป็นต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เพียงระงับ การดำเนินการสอบสวนไม่ได้ดำเนินการ
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ อยากให้ภาคการศึกษา นำคนดี คนที่ไม่โกงมานำเสนอให้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า มีคนดีคนไม่โกงในประเทศไทยเหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่คนโกงเท่านั้น
ในส่วนของภาคการเงิน ดร.ธาริษา วัฒนเกษ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงช่องทางการทุจริตในภาคการเงิน ในกิจกรรมอยู่ 2 ข้าง คือเงินขาเข้า กับเงินขาออก ตรงนี้เป็นช่องทางการทุจริตได้ โดยเฉพาะขาออกทำความเสียหายได้มาก คือการให้กู้ ทั้งกู้ให้ตัวเองโดยผ่านนอมินี ผ่านพรรคพวก ให้กู้ตามใบสั่ง หรือให้ลูกค้ากู้ทั้งที่ไม่อยู่ในวิสัยชำระหนี้ได้
"ส่วนวิธีการมีตั้งแต่ตั้งบริษัทขึ้นมา จดทะเบียน 1 ล้านบาท ให้กู้เป็นจำนวนหลักพันล้านบาท รวมถึงการประเมินราคาที่ดินไว้สูง ที่หนองน้ำ ที่ตาบอด เป็นต้น"
ทั้งนี้ ดร.ธาริษา กล่าวถึงคดีธนาคารกรุงไทยอนุมัติปล่อยสินเชื่อ รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท สรุปก็คือให้กู้ตามใบสั่งจากทางการเมือง ขณะที่เงินก็นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเงินส่วนหนึ่งไปเข้าบัญชีของครอบครัวนักการเมือง ประเด็นที่ชัดเจนโจ๋งครึม คือ ลูกค้าที่ได้สินเชื่อเคยถูกธนาคารประเมินเอาไว้ ว่า เป็นลูกค้าไม่อยู่ในข่ายได้รับสินเชื่อ เพราะเครดิตไม่ดี แต่กลับตาลปัดให้สินเชื่อ
"กรณีกรุงไทย เหตุเกิดปี 2546 ซึ่งเป็นยุคที่แบงก์ชาติไม่ได้เข้าช่วยกลั่นกรองหรือดูแลผู้บริหารเลย เป็นยุคที่นักการเมืองสามารถตั้งใครเข้ามาก็ได้ แต่หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายปี 2551 ปัจจุบันแบงก์ชาติสามารถเข้าไปกลั่นกรอง เข้าไปมีส่วนกำหนดกฎเกณฑ์ บทบาทกรรมการ กำหนดกติกาที่เข้มงวดได้ ฉะนั้นความระมัดระวังของสถาบันการเงินมีมากขึ้น ขณะนี้เสี่ยงทุจริตในภาคการเงินจึงมีน้อยลง"อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว และเห็นว่า ปัจจุบันเรามีความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี ไซเบอร์ซีเคียวริตี เข้ามาแทน