กฤษฎีกาตีความกม.คุมเข้มธุรกิจรปภ.ต้องจบ ม.3 -สตช.ชี้ตกงานอื้อ 4 แสนคน
สตช.หารือ กฤษฎีกา ตีความ 'กม.คุมเข้มธุรกิจรปภ.’ ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ชี้มีการร้องเรียน ผบช.น.ธุรกิจกระทบ หวั่นตกงานอื้อ หลับพบวุฒิต่ำกว่า ม.3 กว่า 4 แสนคน
กรณีที่พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะมาตรา 34 ก. (3) บัญญัติว่าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (อ่านประกอบ:เผยแพร่แล้ว!พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย เป็น‘รปภ.’ต้องเสียใบอนุญาต 1,000 บ/คน )
จากนั้น มีผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวในส่วนของการตีความกฎหมาย เป็นเหตุให้มีหนังสือร้องเรียนมาถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะเป็นนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนประจำเขตกรุงเทพมหานคร อ้างว่าการศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับไว้ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งหากตีความโดยใช้กฎหมายในปัจจุบันจะเกิดความเสียหายต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยและเกิดความเสียหายทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เช่น เกิดปัญหาการว่างงานของพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ ตามสัญญาจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการ เพราะพนักงานรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและจบการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีจำนวนทั่วประเทศประมาณ 4 แสนคน
เพื่อให้การปฏิบัติการตามกฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือว่า คำว่า สำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ ต้องตีความกฎหมายไปในแนวทางใด ดังนี้
1. ตีความตามกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ซึ่งมาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า การศึกษาภาคบังคับหมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือ
2. ตีความตามกฎหมายในช่วงปีพุทธศักราชที่บุคคลผู้นั้นจบการศึกษา และจบการศึกษาระดับชั้นใด และในท้องที่ใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า โดยที่เหตุผลของการตราพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยพ.ศ. 2558 [1] ขึ้นใช้บังคับ เนื่องจากธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานการประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจรักษาความปลอดภัยและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัยอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการและช่วยเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคม
ดังนั้น คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตที่กำหนดให้ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 ก. (3)[6] แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ จึงย่อมหมายความถึงการสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามมาตรา 4[7] แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน