'ภราเดช พยัฆวิเชียร':ป้อมมหากาฬ การอนุรักษ์แบบเดิมล้าสมัยไปแล้ว
“ถ้าคสช.เล็งเห็นว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญก็สามารถใช้ม.44สั่งให้พิจารณาทบทวนคำสั่งเก่าได้ ซึ่งก็จะมาคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร แต่ปัจจุบันศาลสั่งอย่างไรก็คงต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะหาก กทม.ไม่ทำตามก็จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้”
หลังจากช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครดำเนินการรื้อบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ ตามที่ชาวชุมชนยินยอม จำนวน 13 หลัง ล่าสุด มีการรื้อเพิ่มรวมเป็น 16 หลังนั้น โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า บ้านส่วนที่เหลือหากมีผู้ยินยอมให้รื้อ กทม.จึงจะเข้ารื้อ แต่หากไม่ยินยอมจะไม่มีการเข้ารื้อเด็ดขาด
ขณะที่คนชุมชนป้อมมหากาฬ ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมา โดยให้รัฐบาลเป็นตัวกลางและเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อร่วมกันหาทางออกชุมชนป้อมมหากาฬ ว่าจะอยู่ต่ออย่างไร พร้อมจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย 18 ฝ่าย อาทิ นายกสมาคมสถาปนิกฯ ชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการด้านโบราณคดี กลุ่มอนุรักษ์ชุมชน กลุ่มผู้แทนชุมชน เป็นต้น
ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งในกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า นายภราเดช พยัฆวิเชียร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า หลักสากลสมัยใหม่ ชุมชนกับโบราณสถานสามารถนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ พร้อมกับยกตัวอย่าง “สมัยทำอุทยานสุโขทัย เราก็ใช้วิธีเก่าคือเอาผู้คนออกแล้วก็เข้าไปบูรณะ แต่อุทยานฯ ก็จะกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่ไม่มีชีวิตอย่างที่เห็น พอมาในยุคสมัยใหม่ก็จะเน้นเรื่องของการที่ทำให้โบราณสถานนั้น มีชีวิต”
เมื่อถามถึงการสั่งรื้อชุมชนป้อมมหากาฬนั้น นายภราเดช มองว่า เป็นเรื่องตั้งแต่อดีต ซึ่งก็ยังคงใช้แนวความคิดเดิม คือ โบราณสถานต้องไม่มีคนอาศัยอยู่ ส่วนการที่จะให้ชุมชนออกไปจากป้อมมหากาฬเพื่อบูรณะเป็นสวนสาธารณะก็เป็นเรื่องคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว เป็นเรื่องกรุงเทพมหานครต้องไปดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เพราะคำสั่งศาลออกมาแล้ว
“วันนี้ทำได้เพียงฝากข้อคิดไว้ว่า การอนุรักษ์แบบเดิมล้าสมัยไปแล้ว การอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงตัวอาคารอย่างเดียว แต่หมายถึงวิถีชีวิตและจิตวิญญาณที่สืบทอดกันมา ควรนำตรงนี้มาพิจารณาด้วย ซึ่งกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ได้เสนอให้กทม.ทำแผนแม่บทใหม่ เรื่องเกี่ยวกับแนวคิดการดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานให้ทันกับสมัยมากขึ้น”
กรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า กล่าวอีกว่า “ถ้าคสช.เล็งเห็นว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญก็สามารถใช้ม.44สั่งให้พิจารณาทบทวนคำสั่งเก่าได้ ซึ่งก็จะมาคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร แต่ปัจจุบันศาลสั่งอย่างไรก็คงต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะหากกทม.ไม่ทำตามก็จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้”
อย่างไรก็ตาม นายภราเดช มองถึงการอนุรักษ์ อย่างกรณีของชุมชนป้อมมหากาฬไม่ใช่ว่าจะต้องเก็บบ้านทุกหลัง และต้องพัฒนาจนเต็ม จนกลายเป็นสลัมก็ไม่ใช่แบบนั้น ต้องศึกษาว่า อะไรในพื้นที่ที่เป็นของแท้ดั่งเดิม จะสามารถปรับปรุงอย่างไร อะไรที่มันไม่ควรอยู่ก็ต้องเวนคืนได้ หรือไม่มีกรรมสิทธิที่แท้จริงก็ต้องโยกย้ายออกไป โดยต้องมีการจ่ายค่าตอบแทน
“ถ้าเป็นการอนุรักษ์เชิงพัฒนาพวกอาคารเก่า ตึกพิพิธภัณฑ์ จะให้คนที่อยู่อาศัยเป็นคนดูแล การที่มีชาวบ้านอยู่ในเขตโบราณสถานจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ใครที่จะมาทำอะไรที่ไม่ดีงามก็จะคอยดูแลได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา โดยที่เขาต้องอยู่ในวิถีที่เขาอยู่ได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้นมีระบบเศรษฐกิจใหม่เข้ามา เช่น การท่องเที่ยวในชุมชน มีกิจกรรมที่ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้และก็สวยงาม เวลาเราไปต่างประเทศก็จะมีการจัดในลักษณะแบบนี้”