นักวิชาการ ชี้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ช่วยสร้างงานให้ท้องถิ่นมากขึ้น
นักวิชาการ ชี้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ช่วยแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้จริง
วันที่ 5 กันยายน 2559 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา “อนาคตพลังงานหมุนเวียนไทย กับทิศทางพลังงานภูมิภาคอาเซียน" ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายศุกกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสาธารณะ กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนมมีหลายประเภท เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล ไบโอก๊าซ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ หนึ่ง กลุ่มแรกเป็นพลังงานที่มีเชื้อเพลิง เช่น ชีวมวล ที่ใช้เศษวัสดุต่างๆ เดิมเราพูดถึงแกลบ ชานอ้อย เหง้ามันสัมปะหลัง อย่างเช่นตอนนี้ที่จังหวัดกระบี่เป็นต้นแบบของพลังงานชนิดนี้ โดยใช้ปาล์มในการผลิต ซึ่งกระบวนการการผลิตพลังเหล่านี้ เกษตรกรจะเป็นคนรวบรวมเศษวัสดุเหล่านี้ไปขายกับโรงงาน ยิ่งอนาคตหากเราสามารถพัฒนาให้ฝางข้าว ด้วยเเล้ว จะเกิดการกระจายงานไปได้ในทุกพื้นที่ของประเทศที่มีเศษวัสดุเหล่านั้น เกิดเป็นมูลค่าจำนวนมหาศาล
"ส่วนที่สอง คือกลุ่มที่ไม่มีเชื้อเพลิง เช่น เเสงอาทิตย์ พลังงานลม เหล่านี้ไม่มีความเสี่ยงด้านค่าเชื้อเพลิงเลย แต่ในการติดตั้งต้องใช้คน เพราะฉะนั้นจึงเกิดการจ้างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกระบวนการดูเเล ที่ต้องมีการล้างทำความสะอาด ดูเเลเรื่องวงจร ซึ่งก็ใช้คนอีกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพลังงานหมุนเวียน ถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อย่างเช่นถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติ มีอัตราการจ้างงานมากกว่าหลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า และเป็นการจ้างงานในระดับท้องถิ่นได้"นายศุกกิจ กล่าว และว่า ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่กำลังจบในวิทยาลัยเทคนิค อาชีวะ เป็นอนาคตที่สำคัญในการเข้ามาทำงานในสายงานนี้ ถ้าเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะเกิดการสร้างงานทั้งปัจจุบันและเด็กรุ่นใหม่เยอะ
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า จากการคำนวนในส่วนของมูลค่าเพิ่ม เฉพาะชีวมวล แก๊สชีวภาพ ในปัจจุบันจังหวัดกระบี่ มีการผลิตพลังงานเหล่านี้อยู่แล้ว 42 เมกกะวัตต์ คำนวนตามวิธีของกระทรวงพลังงานประเมินไว้ในแผน PDP ของประเทศ ปัจจุบันมูลค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 800ล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ แต่ถ้าหากมีการพัฒนาตามที่ชาวกระบี่เสนอว่า ต้องการให้เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% มูลค่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 3พันล้านบาทต่อปี ถ้าลองคิดเทียบกับราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชสำคัญของกระบี่ ปัจจุบันราคาที่ซื้ออยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าพัฒนาเต็มที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 85 สตางค์ต่อกิโลกรัม คล้ายเป็นการขึ้นราคาปาล์ม ได้โดยแค่เอาเศษวัสดุที่เหลือใช้มาพัฒนาต่อ ขณะที่หากเราสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจะต้องเอาเงินกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปีไปจ่ายกับค่าน้ำเข้าถ่านหิน ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้าจะเดินเครื่อง 25 ปี หมายความว่าเงินจะไหลออกนอกประเทศไปกว่า 1.75 แสนล้านบาท ยังไม่นับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเอง และการท่องเที่ยวที่จะลดลงอย่างแน่นอน
“พลังงานหมุนเวียนจึงไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่นและการจ้างงานด้วย” นายศุกกิจกล่าว.