วงการโทรทัศน์ไทยในวันนี้ ยังสบายดีอยู่หรือเปล่า ?
การลักไก่ ประกาศให้ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 36 ช่องให้เป็นช่อง Must Carry จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร แต่ กสทช. ก็อาศัยกฎ Must Carry มาบังคับให้โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น จะต้อง Must Carry ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องเข้าไปด้วย ทั้งๆที่ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องเป็นคู่แข่งกับช่องรายการอื่นๆ หากโครงข่ายใดไม่ทำตามคำสั่ง จะต้องถูกยึดใบอนุญาต
สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการโทรทัศน์ในประเทศไทยในช่วงปี 2555-2559 ตามแผนการทำงาน ในแผนแม่บทฉบับที่ 1 ของ กสทช. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมาย ทั้งผู้ที่อยู่ในวงการโทรทัศน์มานาน และผู้ที่เพิ่งเข้ามาในวงการโทรทัศน์ใหม่ตามคำชักชวนของ กสทช. รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อประชาชน ที่รับชมโทรทัศน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในทางที่ดี และในทางที่ไม่ดี
ด้วยเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และด้วยกฎกติกาที่ กสทช. สร้างขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย(PlatForm) และ กลุ่มผู้ให้บริการช่องรายการ (Content Provider) เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จนทำให้ผู้ที่ ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือ ผู้ที่มองตลาดการเปลี่ยนแปลงผิด ได้รับความเสียหาย ตั้งแต่เสียหายน้อย ไปจนถึงเสียหายมาก และบางรายเสียหายมาก จนถึงขั้นต้องปิดกิจการในที่สุด
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะเห็นผลที่ชัดเจนในปี 2560 เมื่อฝุ่นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้จางลง ภายหลังจากที่ กสทช. ชุดนี้หมดวาระลง คงจะได้เห็นว่า มีใครบ้าง ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย และกลุ่มผู้ให้บริการช่องรายการ ที่ต้องตายไป และ มีใครที่รอดตายบ้าง และจะมีใครที่ได้เกิดขึ้นมาใหม่แล้วมีความสุข จากผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
การเปลี่ยนแปลงที่ "กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน" แม้จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในวงการโทรทัศน์ในประเทศไทยไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็หวังว่าน่าจะเกิดผลดีในอนาคต ซึ่งในวันนี้ทุกคนอาจยังมองไม่เห็น แต่ กสทช. ชุดนี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถ ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี จากรัฐสภาที่มีคุณภาพดีของประเทศไทย เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ จัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ท่านคงจะมีแผน และมีเป้าหมายดีๆซ่อนอยู่ในเบื้องหลังการออกกฎหมายในเรื่องต่างๆที่ผ่านมา เพียงแต่ในวันนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องยังมองไม่เห็น แต่ในวันข้างหน้าสิ่งที่ท่านได้ทำในวันนี้ อาจส่งผลดีต่อวงการโทรทัศน์ไทย ในอนาคตก็เป็นได้
เพื่อให้มองเห็นสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับวงการโทรทัศน์ไทยในปัจจุบัน จึงขอแบ่งการมองผลกระทบที่เกิดขึ้น ในภาคส่วนต่างๆออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1) กลุ่มผู้ผลิตช่องรายการ (Content Provider)
2) กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย ( PlatForm)
ทั้ง 2 กลุ่มมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) กลุ่มผู้ผลิตช่องรายการ (Content Provider)
หมายถึงผู้เป็นเจ้าของช่องรายการต่างๆ ที่ผลิตรายการโทรทัศน์ออกมาให้ประชาชนได้รับชม ผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ ทั้งผู้ที่รับชมโทรทัศน์แบบ ฟรีทีวี ที่ไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนในการรับชม และผู้ที่รับชมโทรทัศน์แบบ Pay TV ที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ในการรับชมช่องรายการ แบ่งออกเป็น
1.1) กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อค 6 ช่อง (เดิม) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1) กลุ่มช่อง 3,7,9
ก่อนที่จะมี กสทช. กลุ่มช่องรายการทั้ง 3 ช่องนี้ น่าจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ในอดีต เพราะเป็นช่องโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการในทางธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีช่องทางในการให้บริการได้ครบทุกโครงข่าย ทั้งโครงข่ายทีวีแอนะล็อคภาคพื้นดิน โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ทำให้มีฐานสมาชิกคนดูครอบคลุมได้ทุกกลุ่มทั่วประเทศ
การมีช่องรายการที่สามารถหาประโยชน์ในทางธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบเพียง 3 ช่อง จึงมีลักษณะเหมือนการให้บริการแบบกึ่งผูกขาด เนื่องจากประชาชน มีทางเลือกในการรับชมช่องรายการบันเทิงที่จำกัด หากเจ้าของช่อง มีการผลิตเนื้อหารายการตรงตามความต้องการของประชาชน Rating ของช่องรายการก็จะสูงตามไปด้วย อัตราค่าโฆษณาของช่องก็จะสูง Agency ก็จะสนใจที่จะเอาสินค้ามาลงโฆษณาในรายการ เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างแน่นอน และทั่วถึง ดังนั้น ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 ช่องนี้ จึงสามารถทำกำไรให้กับเจ้าของช่องได้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
แต่เมื่อเกิด กสทช. ขึ้น 3 ช่องดังกล่าว ก็ได้เข้าร่วมประมูลเพื่อให้ได้สิทธิเผยแพร่ผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล และสามารถชนะการประมูล ทำให้มีสถานะเป็นช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ที่สามารถให้บริการช่องรายการทางธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิม คือ ทั้ง 3 ช่องยังสามารถให้บริการได้ครบทุกโครงข่าย ทั้ง โครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อค โครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น รวมทั้งยังสามารถ หารายได้จากการโฆษณาได้เหมือนเดิมคือ 12 นาทีครึ่ง/ชั่วโมง
สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ ช่องรายการจะมีความคมชัดของสัญญาณเพิ่มขึ้นจากระบบแอนะล็อค เป็นระบบ HD และมีตำแหน่งช่องรายการที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จากเดิมที่แข่งขันกันเพียง 3 ช่อง วันนี้ต้องแข่งขันกับช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจอื่นๆอีก 21 ช่อง ตามที่ กสทช. ได้จัดประมูลขึ้น โดยหลักแล้ว หากทุกช่องที่เป็นทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง มีคุณภาพของรายการที่เท่ากัน ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวก็ควรจะเป็นช่องที่มีค่า Rating สูงที่สุดเป็น 3 อันดับแรก เนื่องจากมีช่องทางในการเผยแพร่ครอบคลุมมากกว่าช่องรายการอื่นๆอีก 21 ช่อง เพราะสามารถให้บริการในโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อคได้ด้วย ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่องอื่นๆอีก 21 ช่องไม่สามารถทำได้
แต่จากข้อมูลการวัด Rating ปรากฎว่า ช่อง 7 และ ช่อง 3 ยังเป็นช่องที่มี Rating นำเป็นอันดับ 1 และ 2 ส่วนช่อง 9 หรือ MCOT มีค่า Rating อยู่ในอันดับ 9 แสดงให้เห็นว่า การบริหารจัดการช่องรายการของช่อง 9 น่าจะไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน เพราะช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจอื่นๆ ที่ประชาชนมีช่องทางในการรับชมน้อยกว่า บางช่องมีค่า Rating สูงกว่าช่อง 9 เช่น ช่อง workpoint tv , MONO , ONE , CH8 , Thairath TV และ 3SD
2) ช่อง 5
ก่อนที่จะมี กสทช. ในทางปฎิบัติ ช่อง 5 ถูกมองว่าเป็นช่องทีวีทางธุรกิจ ที่ไม่แตกต่างจากช่อง 3,7,9 อาจแตกต่างในเรื่องเงื่อนไขของความเป็นราชการอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ โดยมีฐานสมาชิกผู้รับชมไม่แตกต่างจากช่อง 3,7,9 เพราะยังอยู่ในโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อคเหมือนเดิม ซึ่งในอดีต ช่อง 5 จะมีค่า Rating เป็นอันดับ 4 ต่อจากช่อง 7,3 และ 9
เมื่อมี กสทช. ช่อง 5 ถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ (พิเศษ) ซึ่งปกติจะไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาในเชิงธุรกิจได้ แต่ในกรณีนี้ เท่าที่ติดตามดู ช่อง 5 น่าจะยังสามารถดำเนินการหาโฆษณาได้ตามปกติ ภายใต้กรอบการกำกับดูแลตนเอง สิ่งที่ช่อง 5 ได้ประโยชน์สูงขึ้นคือ ตำแหน่งช่องถูกจัดให้อยู่ที่เลข 1 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในทุกโครงข่าย แต่เมื่อดูค่าRating จะพบว่า ช่อง 5 มีค่าความนิยมอยู่ลำดับที่ 19 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นว่า รายการที่นำเสนอ ประชาชนไม่นิยมดูเท่าที่ควร หากช่อง 5 ไม่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 1 บางทีค่า Rating อาจไปไกลมากกว่านี้อีก
การเกิดขึ้นของ กสทช. ทำให้ช่อง 5 ได้ประโยชน์หลายอย่าง คือ 1) ไม่ต้องเสียค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอล เพราะถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ 2) สามารถให้บริการความคมชัดระบบ HD ได้ 3) สามารถมีโฆษณาได้ 4) ถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งเลข 1 5) ได้สิทธิจาก กสทช. ให้เอาโครงข่ายเสาขยายสัญญาณที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไปหารายได้จากการให้กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลอื่นๆเช่า โครงข่าย (MUX) ในลักษณะกึ่งผูกขาดได้อีกต่างหาก จึงต้องบอกว่า การเกิดขึ้นของ กสทช. ช่อง 5 คือช่องที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เพียงแต่จะมีความสามารถในการหาประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
3) ช่อง 11 หรือ NBT
ก่อนที่จะมี กสทช. ในทางปฎิบัติ ช่อง 11 ถูกมองว่าเป็นช่องราชการ ที่อาจแตกต่างจากช่อง 3,5,7,9 ไปบ้าง เนื่องจากมีเงื่อนไขของความเป็นราชการ ที่ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ยังสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้บ้าง โดยมีฐานสมาชิกผู้รับชมไม่แตกต่างจากช่อง 3,5,7,9 เพราะยังอยู่ในโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อคเหมือนเดิม ซึ่งในอดีต ช่อง 11 จะมีค่า Rating เป็นอันดับ 6 ต่อจากช่อง 7,3,9,5และ ThaiPBS
เมื่อมี กสทช. ช่อง 11 ถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ ที่ไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาในเชิงธุรกิจได้ สิ่งที่ช่อง 11 ได้ประโยชน์สูงขึ้นคือ ตำแหน่งช่องถูกจัดให้อยู่ที่เลข 2 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ดี ในทุกโครงข่าย แต่เมื่อดูค่าRating จะพบว่า ช่อง 11 มีค่าความนิยมอยู่ลำดับที่ 24 ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสุดท้ายของกลุ่มช่องทีวีดิจิตอล แสดงให้เห็นว่า รายการที่นำเสนอ ประชาชนไม่นิยมดู ควรที่จะมีการปรับปรุงให้ดีกว่านี้
การเกิดขึ้นของ กสทช. ทำให้ช่อง 11 ได้ประโยชน์หลายอย่าง คือ 1) ไม่ต้องเสียค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอล เพราะถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ 2) สามารถให้บริการความคมชัดระบบ HD ได้ 3) ถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งเลข 2 4) ได้สิทธิจาก กสทช. ให้เอาโครงข่ายเสาขยายสัญญาณที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไปหารายได้จากการให้กลุ่มทีวีดิจิตอลเช่า โครงข่าย (MUX) ในลักษณะกึ่งผูกขาดได้อีกต่างหาก จึงต้องบอกว่า การเกิดขึ้นของ กสทช. ช่อง 11 เป็นอีกช่องหนึ่งที่ได้รับประโยชน์มาก เพียงแต่จะมีความสามารถในการหาประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
4) ช่อง ThaiPBS
ก่อนที่จะมี กสทช. ช่อง ThaiPBS ถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ ที่จะมีรายการที่แตกต่างจากช่อง 3,5,7,9,11 เนื่องจากมีเงื่อนไขของความเป็นช่องทีวีสาธารณะจริงๆ มาแต่ต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการจัดรายการที่ไม่ได้เน้นที่ความนิยมของคนดูเป็นหลัก แต่เน้นที่ประโยชน์ที่สังคมโดยรวมจะได้รับ การวัดค่า Rating กับช่อง ThaiPBS จึงอาจไม่ยุติธรรมนัก แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทีวีสาธารณะประเภทนี้ โดยปกติจะไม่ใช่ช่องที่ประชาชนส่วนใหญ่จะคอยติดตามดูอยู่แล้ว การมีโอกาสเปิดผ่าน แล้วเห็นรายการที่นำเสนอ จึงมีความสำคัญ ซึ่งหมายถึง ตำแหน่งช่องรายการที่ให้บริการ ที่ประชาชนมีโอกาสเปิดผ่านไปเห็นจะมีมากน้อยเพียงใด
เมื่อมี กสทช. ช่อง ThaiPBS ได้ประโยชน์ที่สูงขึ้นคือ ตำแหน่งช่องถูกจัดให้อยู่ที่เลข 3 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ดี เพียงแต่ช่องก่อนหน้าคือช่อง 1 และ ช่อง 2 จะเรียกคนให้มากด Remote เครื่องรับโทรทัศน์ที่เลข 1,2 แล้วต่อมาที่เลข 3 ของ ThaiPBS ได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบัน ประชาชนน่าจะไปเริ่มกดที่เลข 30-36 เพราะเป็นช่องรายการบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูง หากพึ่งช่อง 1,2 ไม่ได้ ช่อง ThaiPBS ก็ต้องพึ่งตัวเอง โดยจำเป็นต้องผลิตรายการที่ดี มีคุณภาพสูง มีประโยชน์ต่อสังคม จนประชาชนจะต้องตั้งใจเข้ามากดเลข 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารอย่างมาก
หากจะมาดูค่า Rating ในปัจจุบัน ช่อง ThaiPBS ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 16 ซึ่งก็ถือว่า เป็นตำแหน่งที่ดีพอสมควร สำหรับช่องที่มีข้อกำหนดพิเศษในการผลิตรายการ เพราะยังดีกว่าช่อง 5 และช่องข่าวของทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ของเอกชนอีกหลายช่อง
การเกิดขึ้นของ กสทช. ทำให้ช่อง ThaiPBS ได้ประโยชน์หลายอย่าง คือ 1) ไม่ต้องเสียค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอล เพราะถูกจัดให้เป็นช่องทีวีสาธารณะ 2) สามารถให้บริการความคมชัดระบบ HD ได้ 3) ถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งเลข 3 4) ได้สิทธิจาก กสทช. ให้เอาโครงข่ายเสาขยายสัญญาณที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไปหารายได้จากการให้กลุ่มทีวีดิจิตอลเช่า โครงข่าย (MUX) ในลักษณะกึ่งผูกขาดได้อีกต่างหาก จึงต้องบอกว่า การเกิดขึ้นของ กสทช. ช่อง ThaiPBS เป็นอีกช่องหนึ่งที่ได้รับประโยชน์
1.2) ผู้ประกอบกิจการช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1) กลุ่มช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมที่ผลิตขึ้นในประเทศ แบ่งออกเป็น
1.1) กลุ่มช่องรายการที่หารายได้ค่าโฆษณาจาก Agency แบ่งออกเป็น
1.1.1) กลุ่มช่องทีวีผ่านดาวเทียมเดิม ที่ย้ายไปทำช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ
กลุ่มช่องเหล่านี้ ประกอบด้วยช่อง Workpoint TV , Nation Channel , RS 8 , One , New TV , Spring News , Voice TV , NOW เป็นต้น เดิมเคยเป็นช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม และเคยมีความสุขที่ได้ทำช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม แต่เมื่อได้เข้าไปรับฟังข้อเสนอการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ที่ กสทช. ได้อธิบายให้ฟังว่า จะแจกคูปอง 690 บาทให้กับประชาชน 22.9 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถรับชมช่องทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลได้ จะบังคับให้ทุกโครงข่ายต้องนำช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ไปเผยแพร่ (Must Carry) จะบังคับให้ทุกโครงข่ายจะต้องจัดเรียงตำแหน่งช่องตามที่ กสทช. กำหนด จนทำให้ผู้ประกอบกิจการช่องดาวเทียมเหล่านี้มองเห็นโอกาสที่จะสามารถขยายฐานสมาชิกผู้รับชมช่องรายการ จากเดิมที่สามารถรับชมได้เฉพาะในโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น จะสามารถขยายการรับชมไปสู่กลุ่มประชาชนที่รับชมทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลได้ด้วย ซึ่งจะทำให้มีฐานสมาชิกผู้รับชมไกล้เคียงกับช่อง 3,5,7,9 (ช่องเหล่านี้ยังมีฐานสมาชิกรับชมมากกว่าในส่วนของผู้รับชมภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อค) จะได้สามารถแข่งขัน เพื่อแย่งส่วนแบ่งรายได้จากการโฆษณามาได้บ้าง กลุ่มช่องเหล่านี้จึงได้เข้าไปร่วมประมูลช่องรายการ และเสนอราคาประมูลรวม 24 ช่อง จากราคาตั้งต้น ประมาณ 15,000 ล้านบาท ไปเป็น ประมาณ 50,000 ล้านบาท
การประมูลช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง ความจริงคือการประมูลเพื่อให้ช่องรายการของตนเอง ได้รับสิทธิให้ไปเผยแพร่บนโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลเท่านั้น โดยโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลในวันที่ กสทช. เปิดประมูลนั้น กสทช. ยังไม่มีฐานสมาชิกผู้รับชมเลย กสทช. จึงอธิบายแผนการขยายโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลว่า
1) จะขยายเสาส่งสัญญาณให้ครอบคลุม 95% ของประเทศในปี 2560
2) จะแจกคูปองมูลค่า 690 บาทให้กับประชาชนทุกครัวเรือนในประเทศไทย (22.9 ล้านครัวเรือน) เพื่อให้นำไปแลกซื้อกล่อง DVB-T2 เพื่อมารับชมช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 36 ช่องได้แบบ "ฟรี"
การทำเช่นนี้ จะเป็นการเปลี่ยนวิธีการรับชมช่องโทรทัศน์ของประชาชนในประเทศไทย จากเดิมที่คนส่วนใหญ่รับชมผ่านโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี รวมทั้งโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อค ให้เปลี่ยนมารับชมในระบบทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ผ่านกล่อง DVB-T2 เพียงกล่องเดียวทั่วประเทศ หาก กสทช. สามารถทำได้ และทำให้ประชาชนรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านกล่อง DVB-T2 ได้ครบทุกครัวเรือน จะทำให้ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง มีฐานสมาชิกผู้รับชมเท่ากันทุกช่อง และหากทุกช่องผลิตรายการที่มีคุณภาพเท่ากัน เม็ดเงินโฆษณา 60,000 ล้านบาท/ปีในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ จากเดิมที่เคยแบ่ง 4 ส่วน ก็จะถูกแบ่งออกเป็น 24 ส่วน ช่องรายการแต่ละช่องของทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ก็จะได้เม็ดเงินโฆษณาเฉลี่ยช่องละ 2,500 ล้านบาท/ปี (โดยไม่ต้องแบ่งเม็ดเงินโฆษณาให้กับช่องดาวเทียม และช่องเคเบิลทีวีเลย) และถ้าเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทในปี 2560 ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมที่แต่ละช่องน่าจะได้คือ 4,166 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากเพียงพอที่จะเสนอราคาประมูลรวม 50,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้สัญญา 15 ปี
แต่เมื่อมีการดำเนินการจริง ในช่วงแรก กสทช.จะต้องอาศัยโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ให้นำช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องมาเผยแพร่ร่วมด้วย (ในระหว่างทีเสาโครงข่ายทีวีดิจิตอลยังไม่เรียบร้อย และการแจกกล่อง DVB-T2 ยังแจกได้ไม่ครบ) การที่ กสทช "จะขอร้อง" ให้โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น นำช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องมาเผยแพร่บนโครงข่ายของตนเองให้ครบทุกช่อง แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทั้ง 2 โครงข่ายมองว่า ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง เป็นช่องทีวีทางธุรกิจที่สามารถมีโฆษณาได้ 12 นาทีครึ่ง/ชั่วโมง ซึ่งเป็นคู่แข่งในการหารายได้จากากรโฆษณาเช่นเดียวกับช่องดาวเทียม และช่องเคเบิลทีวี ที่สามารถมีโฆษณาได้เพียง 6 นาที/ชั่วโมง
กสทช. จึงเลือกใช้วิธี นำเอาประกาศ Must Carry เรื่องการให้ช่อง 3,5,7,9,Nbt และ ThaiPBS ที่ให้บริการในโครงข่ายภาคพื้นดินระบบแอนะล็อค ให้เป็นช่องรายการที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาจอดำ ในกรณีฟุตบอลยูโร ในปี 2556 โดยเอามาประกาศเพิ่มเติมว่า ให้ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง และทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง เป็นช่องที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไปด้วย ทั้งๆที่ การประกาศ Must Carry ในครั้งแรก เป็นการประกาศ เพื่อแก้ปัญหาจอดำ ในระบบฟรีทีวีเท่านั้น
การลักไก่ ประกาศให้ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 36 ช่องให้เป็นช่อง Must Carry จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร แต่ กสทช. ก็อาศัยกฎ Must Carry มาบังคับให้โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น จะต้อง Must Carry ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องเข้าไปด้วย ทั้งๆที่ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องเป็นคู่แข่งกับช่องรายการอื่นๆ หากโครงข่ายใดไม่ทำตามคำสั่ง จะต้องถูกยึดใบอนุญาต
ความจริงการประกาศ Must Carry อย่างเดียวก็แย่แล้ว แต่ กสทช. ทำได้มากกว่านั้น โดยออกประกาศเพิ่มเติม เรื่องการจัดเรียงลำดับช่อง โดยกำหนดให้ทุกโครงข่ายจะต้องนำช่องรายการของกลุ่มช่อง Must Carry ทั้ง 36 ช่อง ไปจัดเรียงในลำดับที่ 1-36 ตามที่ กสทช. กำหนด โดยไม่สนใจว่า โครงข่ายอื่นๆ เดิมจะมีการจัดเรียงช่องใด ไว้อย่างไร และสมาชิกจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และไม่มีการชดเชยใดๆให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเลย
การประกาศ Must Carry และประกาศเรียงลำดับช่องดังกล่าว แม้โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นจะต่อต้านอย่างไร กสทช. ก็ไม่รับฟัง เพราะ กสทช. ถือว่าตนเองเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นจะต้องสนใจเรื่องการแข่งขันระหว่างโครงข่าย การแข่งขันระหว่างช่องรายการ หรือการกระทำนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย กสทช. ก็สามารถบังคับให้โครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น จะต้องนำช่องทีวีธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ไปจัดเรียงในโครงข่ายของตนเองตามที่ กสทช. กำหนด จึงทำให้ในวันแรกที่ช่องทีวีดิจิตอลออกอากาศ สามารถทำให้ประชาชนรับชมได้ โดยผ่านทั้ง 2 โครงข่าย ส่วนการให้บริการผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ก็จะทะยอยเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการแจกกล่อง DVB-T2 หากกล่อง DVB-T2 ได้รับการแจกครบ และประชาชนเปลี่ยนมาใช้กล่อง DVB-T2 จริงๆ แสดงว่า ประชาชนได้ยกเลิกการรับชมโทรทัศน์ผ่านระบบจานดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่นแล้ว ในวันนั้น ช่องทีวีดิจิตอล ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งการเผยแพร่ผ่านทั้ง 2 โครงข่ายแล้ว เพราะทั้ง 2 โครงข่ายคงต้องปิดกิจการไปแล้ว ตามแผนที่ได้คาดหวังเอาไว้
หากมาพิจารณา ฐานสมาชิกผู้รับชม ในกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องว่า การเผยแพร่ในแต่ละโครงข่ายจะเป็นอย่างไร สามารถดูได้ดังนี้
1) โครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอล
หากประชาชนรับชมผ่านโครงข่ายนี้ ช่องรายการทั้ง 24 ช่องจะมีโอกาสให้ประชาชนได้รับชมช่องรายการดังกล่าว ตามที่ กสทช. ได้ให้สัญญาไว้กับทุกๆช่อง เพราะ กสทช. สามารถกำกับดูแลได้เอง 100% และในโครงข่ายนี้จะมีเพียง 36 ช่องให้ประชาชนเลือกรับชม ประชาชนจะไม่สามารถระบชมช่องรายการอื่นๆได้เลย ทำให้ผลประโยชน์จากการโฆษณา จะเกิดกับช่องทีวีดิจิตอลในทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องแบบเต็มๆ
2) โครงข่ายจานดาวเทียม
เนื่องจากโครงข่ายดาวเทียม เดิมเป็นโครงข่าย Free To Air ต่อมาถูกคำสั่งเปลี่ยนให้เป็นโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก ซึ่งทุกโครงข่ายตกอยู่ภายใต้คำสั่งกฎ Must Carry และกฎการเรียงตำแหน่งช่องของ กสทช. ทำให้จำเป็นต้องจัดเรียงตำแหน่ง 1-36 ให้กับช่องทีวีดิจิตอลตามที่ กสทช. กำหนด ส่วนตำแหน่งอื่นๆตั้งแต่ช่อง 37 เป็นต้นไป จึงจะจัดเรียงช่องดาวเทียมอื่นๆเข้าไปได้
ในโครงข่ายดาวเทียม จะมีช่องรายการเกือบ 200 ช่องให้สมาชิกเลือกรับชม เพียงแต่ตำแหน่งช่องที่ 1-36 เป็นช่องทีวีดิจิตอลเท่านั้น ดังนั้นสมาชิกที่รับชมผ่านระบบดาวเทียม จึงมีโอกาสเลือกรับชมช่องรายการต่างๆได้มากกว่า 36 ช่อง ดังนั้นค่า Rating ที่วัดช่องทีวีดิจิตอล จากระบบจานดาวเทียม จึงถูกแบ่งไปยังช่องทีวีผ่านดาวเทียมด้วย ทำให้ค่าที่ใช้วัด Rating จากระบบจานดาวเทียม ของช่องทีวีดิจิตอล จะต่ำกว่าการวัดจากกล่อง DVB-T2 ในระยะยาว จึงมีความพยายามที่จะให้ประชาชนยกเลิกการรับชมผ่านระบบจานดาวเทียม เพื่อให้เปลี่ยนไปรับชมในระบบ DVB-T2 เพียงระบบเดียว
อย่างไรก็ตามการวัดความนิยมในการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ ก็ยังใช้ค่า Rating จาก AGB Neilsen เป็นดัวชี้วัดว่าช่องรายการใด ประชาชนนิยมรับชมมากกว่ากัน เพื่อเป็นฐานในการลงโฆษณาสินค้าของ Agency
ผลจากการวัดค่า Rating สามารถแบ่งกลุ่มช่องที่ได้รับความนิยมออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 ค่า Rating เกินกว่า 1.0 มี 3 ช่องคือ ช่อง 7 , 3 , workpoint tv
กลุ่มที่ 2 ค่า Rating เกินกว่า 0,6 มี 3 ช่องคือ ช่อง MONO , ONE , CH8
กลุ่มที่ 3 ค่า Rating เกินกว่า 0,3 มี 2 ช่องคือ ช่อง Thairath TV , 3SD , MCOT
กลุ่มที่ 4 ค่า Rating เกินกว่า 0.1 มี 9 ช่องคือ ช่อง MCOT , True4U , Amarin TV , NOW , GMM Channel , PPTV , Nation TV , ThaiPBS , 3Family
กลุ่มที่ 5 ค่า Rating ต่ำกว่า 0.1 มี 8 ช่องคือ ช่อง New TV , CH 5 , Spring News , Voice TV , TNN24 , Bright TV , NBT , MCOT Family
หากพิจารณาความนิยมการรับชมช่องรายการของประชาชน โดยเอาค่า Rating เป็นตัวชี้วัด จะสามารถแบ่งความนิยมในการรับชมช่องรายการของประชาชนได้เป็น 5 กลุ่มดังกล่าว จะพบว่า
หากผู้บริหารช่องรายการแต่ละช่อง ไม่ปัดความรับผิดชอบในการสร้างความนิยมของประชาชน ในการรับชมช่องรายการของตนเอง ไปให้ กสทช. หรือ โครงข่ายใด คงต้องยอมรับว่า ช่องรายการที่ตกอยู่ในกลุ่มที่ 5 จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ช่องรายการของตนเอง สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะหากค่า Rating ยังต่ำกว่า 0.1 ฝ่ายขายโฆษณาก็คงมีความลำบากใจที่จะไปหารายได้ค่าโฆษณาจาก Agency เพื่อเอามาหล่อเลี้ยงบริษัท และช่องที่ตกอยู่ในกลุ่มที่ 4 คงจะต้องขับเคี่ยวกันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อให้สามารถขยับช่องของตนเองให้สามารถขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 3 ให้ได้ เพราะนั้นจะหมายถึงทางรอด ที่จะทำธุรกิจช่องทีวีดิจิตอลต่อไปได้
หากมองในมุมของ Agency ที่มีทางเลือกในการลงโฆษณามากมาย จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะจะต้องผ่าฟันกับการขอร้อง และร้องขอจากฝ่ายขายโฆษณาของแต่ละช่อง เพื่อขอแบ่งเงินค่าโฆษณามาบ้าง แต่หากไม่มองด้านอื่น โดยมองเฉพาะในด้านการทำธุรกิจอย่างเดียว เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ Agency น่าจะพิจารณาลงโฆษณาเฉพาะในช่องที่อยู่ในกลุ่มที่ 1,2 และ 3 เท่านั้น หรือถ้าจะมากกว่านั้นก็คงเป็นกลุ่ม 4 ส่วนกลุ่ม 5 คงเป็นไปได้ยาก ถ้ารายการบางรายการในช่องนั้นๆไม่มีความโดดเด่นจริงๆ
ด้วยต้นทุนค่าประมูลช่องที่สูง เพื่อให้ได้มีโอกาสได้ฐานผู้ชมผ่านโครงข่ายระบบทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ผ่านกล่อง DVB-T2 เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ค่าRating สูงขึ้น แต่เมื่อผลค่า Rating ออกมาเช่นนี้ คงต้องบอกว่า ผู้ลงทุนประมูลช่องทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในกลุ่ม 4,5 เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลย หากจะให้คำแนะนำ ก็อยากจะบอกว่า กลับไปอยู่ช่องดาวเทียมเหมือนเดิม ยังจะสบายใจกว่า เพราะมีต้นทุนค่าช่องที่ต่ำกว่ามาก และยังสามารถเผยแพร่ในโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นได้เช่นเดียวกับช่องทีวีดิจิตอลด้วย แม้ไม่ได้เผยแพร่บนโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ก็น่าจะไม่มีผลมากนัก เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ผู้ลงทุนในกลุ่มช่องดาวเทียม หากกล้าที่จะทุมเงินเพื่อเพิ่มคุณภาพช่องรายการเพิ่มขึ้น บางที่ค่า Rating ของช่องดาวเทียม ที่ให้บริการเฉพาะบนโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น อาจสูงกว่าช่องทีวีดิจิตอลบางช่องอีกต่างหาก เพราะมีช่องดาวเทียมบางช่องที่ทำสำเร็จมาแล้วเช่น ช่อง Boomerang , Cartoon Club , Toonami , Gang Cartoon , CH 2 , You , Fan Music , JKN , Media 84 , Mono Plus , Money Channel , SMM TV และช่องอื่นๆอีกหลายช่อง ที่อยู่ในผังดาวเทียม หากเอาเงินที่จะต้องจ่ายค่าประมูลช่อง มาปรับปรุงช่องรายการให้ดีขึ้น ต่อไปค่า Rating น่าจะสูงกว่าช่องทีวีดิจิตอล ที่มีแต่เอาเงินไปจ่ายค่าประมูลช่องที่มีราคาแพง แต่ไม่มีเงินมาปรับปรุงคุณภาพช่องรายการ
คงต้องสรุปให้ได้ว่า เงินค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอล เพื่อให้ได้สิทธิ เผยแพร่ผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ผ่านกล่อง DVB-T2 คุ้มค่าจริงหรือไม่ จะมีประชาชนสักกี่คน ที่ยอมถอดจานดาวเทียมที่ดูช่องรายการกว่า 200 ช่อง เพื่อเปลี่ยนมาดูช่องทีวีดิจิตอล 36 ช่อง ผ่านกล่อง DVB-T2 ตามที่ทุกคนฝัน หรือหวังว่าจุดขายคือช่อง HD จะทำให้คนดูมากขึ้น เมื่อดูค่า Rating ของช่องที่มีความคมชัดในระบบ HD จะพบว่า มีผลต่อค่า Rating น้อยมาก คุณภาพช่องรายการที่ผลิตออกมา ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนต่างหาก ที่มีความสำคัญมากกว่า นั้นแสดงว่า ผู้ที่ประมูลช่องระบบ HD ในปัจจุบันที่มีอยู่ 7 ช่อง น่าจะเป็นการจ่ายค่าความคมชัดแบบ HD ที่แพงเกินความจำเป็น และถ้าเป็นช่อง HD ที่มีค่า Rating ตกไปอยู่ที่กลุ่ม 4 ก็จะยิ่งเจ็บปวดกว่าช่อง SD อีกหลายเท่า แต่ถ้าเป็นช่อง SD แล้วได้อยู่ในกลุ่ม 1,2 ผู้บริหารช่องก็ควรมีความภูมิใจ ว่าได้ใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่าแล้ว
1.1.2) กลุ่มที่ยังอยู่กับจานดาวเทียม
กลุ่มช่องเหล่านี้ เช่น YOU , RS 2 , สบายดีทีวี , เพลินทีวี , Fan Music , Bang , GTH , JKN , และช่องอื่นๆอีกกว่า 30 ช่อง โดยกลุ่มช่องเหล่านี้ เป็นกลุ่มผู้ผลิตช่องรายการที่มีคุณภาพขนาดกลาง ทึ่มุ่งมั่นที่จะหารายได้จากงบโฆษณาของ Agency เพื่อแข่งกับช่องฟรีทีวี 3,5,7,9 โดยก่อนที่จะเกิด กสทช. กลุ่มช่องเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะสามารถประกอบกิจการไปได้ดี โดยอาศัยการเผยแพร่ผ่านโครงข่ายฟรีทีวีผ่านดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่น ทุกรายต่างคาดหวังไว้ว่า จะสามารถมีช่องทางในการผลิตรายการที่มีคุณภาพสู่ประชาชนได้ และสามารถเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต
เมื่อเกิด กสทช. ขึ้น จากนโยบาย การบังคับให้ช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม กลายเป็นช่องบอกรับสมาชิก ทั้งๆที่ Model ทางธุรกิจของช่องเหล่านี้ ต้องการเป็นช่อง Free To Air เพื่อให้มีคนดูมากๆ และกฎ Must Carry และกฎการบังคับจัดเรียงตำแหน่งช่อง เพื่อให้กลุ่มทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ได้อยู่ในลำดับที่ 1-36 ของผังช่องรายการในทุกโครงข่าย ทำให้ตำแหน่งช่องรายการของช่องดาวเทียมเหล่านี้ ซึ่งเดิมเคยอยู่ในตำแหน่งเดิม ต้องถูกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งอื่นๆ กระทบกันเป็นลูกโซ่ ทำให้สมาชิกหาตำแหน่งช่องไม่พบ หรือบางช่องถูกถอดออกจากผังช่องรายการเนื่องจากโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ Analog มีจำนวนช่องเพียง 60 ช่อง ไม่เพียงพอที่จะจัดช่องลงผังได้ เพราะต้องจัดสรรช่อง 1-36 ให้กับช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช.ก่อน ผลที่เกิดขึ้นคือ มีผู้สามารถรับชมช่องดาวเทียมได้น้อยลง ค่า Rating จึงตก คู่แข่งในการหารายได้จากการโฆษณามีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ที่อยู่ในกลุ่มที่ 4,5 ที่ไม่สามารถแข่งกับกลุ่ม 1,2,3 ได้ก็จะหันมาลดราคาค่าโฆษณาลง เพื่อแย่งโฆษณาจากกลุ่มช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม ทำให้ส่งผลกระทบกับช่องดาวเทียม ที่มีรายการบางรายการไปตรงกับกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลดังกล่าว ทำให้ช่องดาวเทียมไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีฐานสมาชิกผู้รับชมน้อยกว่า และตำแหน่งช่องด้อยกว่า กลุ่มช่องทีวีดิจิตอล
โดยสรุป
ช่องรายการในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนดี ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของ กสทช. มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้ช่องรายการบางช่องจำเป็นต้องปิดตัวเองลง เพราะไม่สามารถแข่งขันในตลาดที่ไม่เป็นธรรม ตามกฎที่ กสทช. กำหนดได้ และหากสถานะการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข คุณภาพช่องรายการของกลุ่มนี้จะลดลงเพราะไม่มีเงินมาสนับสนุน ทำให้ฐานคนดูลดลง การหารายได้จากการโฆษณาตามปกติจะทำไม่ได้ สุดท้ายอาจต้องปิดตัวเองลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจาก กสทช.
แต่ถ้า กสทช. จะแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะต้องแก้ที่ช่องทีวีดิจิตอลที่อยู่ในกลุ่ม 4,5 แม้จะลดราคาค่าโฆษณา เพื่อให้ได้โฆษณาเพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่ได้ก็จะยังไม่เพียงพอที่จะเอาไปจ่ายเป็นค่าผลิตรายการ หรือค่าประมูลช่อง สุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี หรือ กสทช. จะให้แบ่งทะยอยจ่ายค่าประมูลช่องออกไปเป็น 10 ปี ช่องรายการเหล่านี้ก็ยังไม่มีทางรอด เพราะปัจจุบัน รายรับ กับรายจ่าย โดยไม่เอาเงินค่าประมูลช่องรายการมาเกี่ยวข้องก็ยังไปไม่รอด การดึงเวลาออกไป รังแต่จะสร้างความเสียหายให้เกิดกับอุตสาหกรรมมากขึ้น กสทช. จึงไม่ควรให้ช่องทีวีดิจิตอลในกลุ่มนี้มาดึงกลุ่มช่องดาวเทียมให้ตายตามไปด้วย
งานนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า ช่องทีวีดิจิตอลที่อยู่ในกลุ่ม 4,5 หลายช่องอยากจะปิดตัวเอง เพราะไม่เห็นหนทางที่จะฝืนสู้ต่อไป แต่ กสทช ไม่ยอมให้ปิด เพราะกฎที่ กสทช. สร้างขึ้นมาเองไม่ยอมให้ปิด ดังนั้น การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กสทช. จะต้องยอมให้ช่องที่อยากปิดกิจการ ให้สามารถปิดกิจการได้โดย กสทช. จะไม่ตามไปเช็คบิลต่อ เพราะเมื่อปิดช่องในระบบทีวีดิจิตอลแล้ว ยังสามารถเอาช่องไปเปิดในระบบดาวเทียมได้เหมือนที่เคยทำในอดีต เพราะต้นทุนจะต่ำกว่า และเหมาะกับกำลังที่มีมากกว่า และจะทำให้เป็นการแข่งขันในกลุ่มช่องดาวเทียม ที่มีความเสมอภาคกัน ด้วยความเป็นธรรม ทุกรายก็จะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ดังนั้น ม. 44 ของ คสช. จึงควรเอามาทำในเรื่องนี้ เพื่อแก้ปัญหาวงการทีวีทั้งระบบ ที่กำลังอยู่ในภาวะ Over Supply โดยการยอมให้ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ที่ต้องการปิดตัวเอง สามารถทำได้ ตามสภาวะความเป็นไปที่แท้จริงของตลาด
1.2) กลุ่มหารายได้จากการขายสินค้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
1.2.1) กลุ่มช่องรายการที่มีรายได้จากการขายสินค้ามีปัญหา
กลุ่มช่องเหล่านี้ เป็นกลุ่มช่องรายการที่มีรายการคุณภาพต่ำกว่าช่องดาวเทียมทั่วไป และ Agency ไม่สนใจที่จะมาลงโฆษณาด้วยเพราะทำให้เสียภาพลักษณ์ของสินค้า กลุ่มช่องเหล่านี้ จึงหันไปหารายได้จากสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป ซึ่งสินค้าเหล่านั้น ยังต้องการช่องทางในการเผยแพร่ ซึ่งปกติ โฆษณาสินค้าที่มีปัญหาเหล่านี้ จะโฆษณาอยู่ตามสถานีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด หรือการขายตรง แต่เมื่ออัตราค่าโฆษณาในช่องดาวเทียมเหล่านี้ต่ำลง จนไกล้เคียงกับการโฆษณาทางช่องวิทยุชุมชน หรือการขายตรง จึงเปลี่ยนมาโฆษณาสินค้าผ่านช่องดาวเทียม จึงเป็นทางออกที่ตรงกันพอดี
กลุ่มช่องเหล่านี้ จึงเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับ กสทช. มากที่สุด เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นของช่อง ไม่ใช่รายได้ที่ได้จากการขายโฆษณาให้กับ Agency แต่เป็นรายได้ที่เกิดจาก ผู้ให้บริการช่องรายการ หรือขายเวลาให้กับผู้ผลิตรายการรายเล็ก ให้เอาช่วงเวลาที่ได้ไปผลิตรายการเพื่อขายสินค้าตรงให้กับประชาชน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขายสินค้าในรายการ ซึ่งเป็นสินค้าตามความเชื่อ หรือ สินค้าที่โฆษณาหลอกลวง หรือเกินจริง เพื่อให้ประชาชนสั่งซื้อโดยตรง ซึ่ง กสทช. จำเป็นต้องคุ้มครองผู้บริโภค จึงต้องออกกฎกติกาต่างๆออกมา โดยอาศัย อย. หรือ สคบ. เพื่อช่วยในการกำกับดูแล ทั้งเจ้าของช่อง และผู้ร่วมผลิตรายการ ให้มีการดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
กลุ่มช่องรายการเหล่านี้ เป็นผู้ลงทุนรายเล็กแบบ SME ที่ต้องการเป็นเจ้าของช่องรายการเหมือนรายใหญ่ๆบ้าง อาจมีเนื้อหารายการที่เหมาะกับผู้ประกอบกิจการในระดับท้องถิ่น หรือกลุ่มคนเฉพาะบางประเภท ซึ่งน่าจะเข้าข่ายโทรทัศน์ชุมชนประเภทธุรกิจ หาก กสทช. มีนโยบายที่จะให้ช่องโทรทัศน์ทุกช่องมีมาตรฐานเดียวกัน ผลิตรายการขึ้นมาเพื่อหารายได้จาก Agency เหมือนๆกัน เพื่อให้กำกับดูแลง่าย ความหลากหลายของรายการก็จะไม่มี หรือ ความเป็นอิสระในการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนก็จะไม่มี ความเป็นสังคมที่มีความแตกต่างจะหมดไป ทุกช่องจะต้องจัดประกวดร้องเพลง จัดเกมส์โชว์ จัดชกมวย หรือสร้างละคร เหมือนๆกับช่องทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน เชื่อว่า กสทช. คงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ช่องรายการเหล่านี้ หากมองให้ดี ยังเป็นช่องรายการที่เป็นประโยชน์กับสังคม และเป็นประโยชน์กับชุมชน แต่อาจไม่มีความทันสมัย การผลิตรายการอาจไม่ได้มาตรฐาน แต่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับท้องถิ่นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ช่องทางในการหารายได้ อาจยังไม่ถูกต้องและเป็นปัญหากับสังคม แต่ กสทช. ก็ควรจะอดทน ที่จะกำกับดูแลให้ทุกช่องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
หากเมื่อเปรียบเทียบช่องรายการเหล่านี้ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา กสทช. สามารถจัดระเบียบช่องรายการเหล่านี้ ให้ดำเนินการได้ถูกต้อง ดีกว่าในอดีตมาก ทุกช่องเข้าใจแล้วว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เหลืออย่างเดียวทำอย่างไร จะให้สินค้าที่ไม่สามารถจ้าง Agency โฆษณาได้ ให้มาติดต่อช่องรายการเหล่านี้ จัดการเรื่องโฆษณาให้ เพราะสินค้าที่ขายในประเทศไทย มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีการโฆษณาผ่าน Agency อีก 90% ยังไม่เคยโฆษณา หรือโฆษณาผ่านช่องทางอื่นๆ หาก กสทช. สามารถเชื่อมต่อการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ได้ สินค้าระดับ SME หรือ สินค้า OTOP ก็ยังสามารถมาโฆษณาผ่านช่องทางนี้ได้ ในราคาที่เจ้าของสินค้ารายเล็ก สามารถรับได้ ช่องรายการเหล่านี้ก็จะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ด้วยความถูกต้อง
ช่องดาวเทียมรายเล็กที่ต้องการเติบโตโดยใช้การขายโฆษณาผ่านช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ในช่วงแรกที่มีเงินทุนน้อย ไม่สามารถหารายได้จาก Agency ได้ ก็จำเป็นต้องหาช่องทางในการประกอบกิจการ เพื่อให้ช่องรายการสามารถอยู่ได้ ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ที่ผู้ประกอบกิจการรายเล็กก่อนที่จะโต ก็จำเป็นต้องต่อสู้ในทุกช่องทาง แต่เมื่อ กสทช. มองว่าเป็นปัญหาที่ต้องปราบให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว มาตรการต่างๆที่ออกมา จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ต้องปิดตัวเองลง ก่อนที่จะมีความเข้มแข็งจนสามารถที่จะต่อสู้แย่งเม็ดเงินโฆษณาจากผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ระดับชาติได้ ขอเพียงแต่ กสทช. อย่ามีนโยบาย ""ปิด" ช่องรายเล็กเหล่านี้เท่านั้น แม้จะมีรายที่เกเรบ้าง แต่รายดีๆ ที่ต้องการทำดี ก็ยังมี
1.2.2) กลุ่มช่องขายสินค้าไม่มีปัญหา
เป็นกลุ่มช่องขายสินค้ามืออาชีพ เช่น TVD Shop , O Shopping , High Shopping , Shop Channel , True Select เป็นต้น กลุ่มช่องรายการเหล่านี้ ก่อนที่จะมี กสทช. มีการเจริญเติบโตได้ดี มียอดขายรวมกันมากกว่า 6,000 ล้านบาท/ปี เพราะได้อาศัยการวางตำแหน่งช่องให้อยู่ระหว่างช่องฟรีทีวีที่ประชาชนนิยมดู ทำให้โอกาสในการเห็นรายการของประชาชนมีมากขึ้น ทำให้ขายสินค้าได้มาก
แต่เมื่อ กสทช. มีการออกกฎ Must Carry และกฎการจัดเรียงตำแหน่งช่อง 1-36 ทำให้ช่องรายการเหล่านี้ไม่สามารถไปแทรกอยู่ระหว่างช่องรายการที่ประชาชนนิยมดูได้ ทำให้โอกาสในการเห็นสินค้าน้อยลง จึงทำให้ยอดขายตกลงไป จนหลายรายไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้
ดังนั้น นโยบายการออกกฎ Must Carry และกฎการเรียงตำแหน่งช่อง จึงเป็นปัญหากับกลุ่มช่องรายการเหล่านี้ ซึ่งในต่างประเทศ ช่องรายการเหล่านี้สามารถเติบโตได้ดี เนื่องจาก ภาครัฐไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการจัดเรียงตำแหน่งช่อง รัฐเพียงแต่ควบคุมไม่ให้มีช่องประเภทนี้มากเกินไปจนรบกวนการรับชมทีวีของประชาชนเท่านั้น ทางออกที่มองเห็นในเวลานี้คือ การขายสินค้าของช่องเหล่านี้ ได้เริ่มมีการตัดเป็นรายการ เข้าไปซื้อเวลาโฆษณาอยู่ในผังช่องทีวีดิจิตอลหลายช่อง แม้จะเป็นผลเสียกับช่องบ้าง แต่ช่องก็ยังต้องการเงินเพื่อไปหล่อเลี้ยงทีมงาน ซึ่งเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าช่องทีวีดิจิตอลไม่อยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ
1.2.3) กลุ่มช่องที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ
เป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเช่น ช่องการเมือง ช่องศาสนา ช่องการศึกษา เป็นต้น ช่องรายการเหล่านี้ จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่ไม่ว่าช่องรายการจะอยู่ที่ตำแหน่งใด สมาชิก ก็จะตามไปดู ส่วนการหารายได้ ก็มักจะมีงบประมาณจากภายนอกมาสนับสนุนเป็นหลัก การหารายได้จากการโฆษณาเป็นไปได้ยาก แต่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของช่อง เจ้าของช่องคงต้องหารายได้จากภายนอกมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายของช่องเอง โดยไม่ต้องมาหวังพึ่งรายได้จากการโฆษณา
2) กลุ่มช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมที่เป็นช่องต่างประเทศ
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มช่องรายการภาษาต่างประเทศ ที่มีการเผยแพร่แบบ Free To Air จะได้รับผลกระทบจาก การทึ่ กสทช. กำหนดให้ช่องรายการแบบฟรีทีวีผ่านดาวเทียม จะต้องมาลงทะเบียนเป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิกกับ กสทช. ก่อน จึงจะสามารถนำไปเผยแพร่ได้ ดังนั้น โครงข่ายต่างๆ ทั้งโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ที่ถูกกำหนดให้เป็นโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิกด้วย จึงไม่สามารถนำช่องรายการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไปเผยแพร่ได้ ทำให้ช่องรายการต่างประเทศหลายช่องที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับ กสทช. จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโลก มีคนจากทั่วโลกมาเที่ยวเมืองไทย การมีช่องรายการของแต่ละประเทศเพื่อบริการคนของแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะสามารถรับชมช่องรายการได้จากระบบจานดาวเทียมแบบ Free To Air อยู่แล้ว และเจ้าของช่องก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แถมยังยินดีที่จะให้ช่วยเผยแพร่อีกด้วย ดังนั้นช่องรายการเหล่านี้ กสทช จึงไม่ควรปิดกัน หากต้องการสนองนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย
3) กลุ่มช่องรายการลิขสิทธิ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
3.1) กลุ่มผู้ผลิตช่องลิขสิทธิ์ในประเทศ
เป็นกลุ่มผู้ผลิตช่องรายการที่ผลิตช่องรายการขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ให้กับสมาชิกแบบ Pay TV เป็นการเฉพาะ เช่น กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น กลุ่ม True Vision กลุ่ม CTH และกลุ่ม GMMZ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
3.1.1) กลุ่มผู้ผลิตช่องรายการขนาดเล็ก
เช่น ช่อง Sun Movie , Samurai , Sanook , สำรวจโลก , Mysci , ของดีประเทศไทย , Z หนัง , AC 1 Chinese Movie , AC2 Korea Film , AC3 India Movie , AC4 Hollywood Film เป็นต้น ช่องรายการในกลุ่มนี้ ยินดีจะขายลิขสิทธิให้กับผู้ให้บริการทุกโครงข่ายโดยไม่เลือกปฎิบัติ ซึ่งกลุ่มช่องรายการเหล่านี้ ยังมีปัญหาเรื่องผลประกอบการว่า จะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้อีกนานเท่าใด หรือจะต้องเปลี่ยน Model การทำธุรกิจในอนาคต เพราะรายได้ จะได้มาจากการขายช่องรายการ แต่ถ้ามีผู้ซื้อช่องรายการน้อยราย ก็จะมีรายได้ไม่คุ้มกับค่าลิขสิทธิ์ที่ซื้อมา
3.1.2) กลุ่มผู้ผลิตช่องรายขนาดกลาง
เช่น ช่อง GMM Club Channel , GMM Football Euro , GMM Football Extra , GMM Football Plus , GMM Sport Extreme , GMM Sport Plus , Smile เป็นต้น กลุ่มช่องรายการเหล่านี้ เดิมก็ยินดีขายลิขสิทธิให้กับผู้ให้บริการทุกโครงข่ายโดยไม่เลือกปฎิบัติ แต่ในปัจจุบันได้ปิดตัวเองลงไปแล้ว เนื่องจากต้นสังกัดเปลี่ยน Model การทำธุรกิจเป็นแบบใหม่ เพราะรูปแบบการขายลิขสิทธิ์ช่อง ไม่สามารถมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
3.1.3) กลุ่มผู้ผลิตช่องรายขนาดใหญ่
เช่นช่องลิขสิทธิ์ของ True Vision ที่ผลิตขึ้นมาเอง เพื่อให้บริการบนโครงข่ายของ True Visionเอง ช่องรายการบางส่วนก็เลือกที่จะเอามาขายลิขสิทธิ์ต่อให้กับเคเบิลท้องถิ่น "บางราย" และจะไม่ขายให้เคเบิลท้องถิ่น "บางราย" โดยมีจำนวนช่องที่นำมาขายประมาณ 40 ช่อง เช่น ช่อง Golf Channel , SiamSport Football , SiamSport Live , SiamSport News , True Sport 1-7 , Foxไทย , True Asian , True Film , True Film Asia. , True Movie Hits , True Series , True Thai Film , True Spark , True X-Zyte , True Inside , True Explore 1-3 เป็นต้น
ช่องรายการเหล่านี้ กลายเป็นจุดสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นแต่ละราย ว่ารายใดจะมีช่องรายการลิขสิทธิ์ที่แตกต่างจากรายอื่น ในพื้นที่เดียวกัน จนทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นด้วยกัน ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่า True Vision กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในการกำหนดว่า ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นรายใด ควรจะขายลิขสิทธิ์ช่องรายการใดให้ เพื่อให้ได้เปรียบรายอื่น รวมทั้งสามารถเลือกได้ว่าจะนำ Package ใดของ True Vision ไปขายในสมาชิกแบบใด ที่จะทำให้ได้เปรียบผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ที่สำคัญเงื่อนไขในการขายช่องลิขสิทธิ์ดังกล่าว ยังกำหนดอีกว่า สามารถแจ้งยกเลิกการขายลิขสิทธิ์ช่องรายการเมื่อใดก็ได้โดยแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ทำให้เคเบิลท้องถิ่นที่ซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการจาก True Vision อาจกลายเป็นผู้ถูกควบคุมผ่านช่องทางการบอกเลิกนี้ได้อย่างง่ายดาย
3.2) ผู้ผลิตช่องลิขสิทธิ์ต่างประเทศ
เป็นกลุ่มช่องรายการที่ผลิตในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
3.2.1) กลุ่มที่เลือกขายลิขสิทธิ์ช่องให้กับทุกโครงข่าย
โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มช่องรายการที่บริษัทแม่ มีนโยบายไม่ต้องการขายลิขสิทธิ์แบบผูกขาด (Exclusive) ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ช่อง Universal Channel , SyFy , fyi , Crime Investigation (ci) , Sony TV , itv Choice , Travel Channel , Fashion TV , Fight Sport , Da vinci Learning , Animex , Ginx , food Network , Asian Food Channel (AFC) เป็นต้น ในปัจจุบัน ช่องเหล่านี้มีการเปิดขายลิขสิทธิ์ให้กับทุกโครงข่ายที่ต้องการซื้อช่องรายการไปเผยแพร่
3.2.2) กลุ่มที่เลือกขายลิขสิทธิ์ช่องให้กับบางโครงข่าย
กลุ่มช่องเหล่านี้ บางรายก็จงใจที่จะเลือกขายลิขสิทธิ์แบบผูกขาด (Exclusive) บางรายก็จะตั้งเงื่อนไขสูงจน ทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นที่มีขนาดเล็กไม่สามารถจะซื้อได้ ซึ่งเป็นการขายแบบผูกขาดในทางอ้อม เช่น กลุ่ม HBO กลุ่ม FOX กลุ่ม bein Sport , CNN , BBC , CNBC , Bloomberg , Discovery , National Geography , Cartoon Network เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน ช่องรายการเหล่านี้มีให้บริการเฉพาะในระบบ Pay TV ของ True Vision เท่านั้น โครงข่ายขนาดเล็กอื่นๆไม่สามารถซื้อมาให้บริการได้
การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทำได้วิธีเดียวคือ กสทช. ต้องออกกฎบังคับให้ต้องขายลิขสิทธิ์ให้กับรายอื่นด้วยโดยจะต้องไม่ตั้งเงื่อนไขที่จะกีดกันไม่ให้รายอื่นสามารถซื้อได้ หรือออกกฎ Wholesale Must Offer ซึ่งในประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทุกรายจะสามารถเจรจาซื้อช่องลิขสิทธิ์ช่องได้อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก เพราะ กสทช. ของประเทศเขาได้วางหลักเกณฑ์ให้ช่องรายการที่ต้องการเผยแพร่ในประเทศเขา จะต้องปฎิบัติตาม มิฉะนั้นจะไม่สามารถขายให้กับโครงข่ายใดๆได้เลย ทำให้ทุกรายสามารถแข่งขันกันได้ด้วยความเป็นธรรม
4) กลุ่มผู้ประกอบกิจการช่องโทรทัศน์รายใหม่
แม้ กสทช. จะเปิดช่องรายการใหม่ออกมาอีก 36 ช่อง ประกอบด้วย ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง และช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง แต่ในทางปฎิบัติ จะมีช่องทีวีที่เกิดขึ้นใหม่เพียง 12 ช่อง เป็นช่องที่มีอยู่เดิม 13 ช่อง ช่องที่ยังไม่เกิด 11 ช่อง คือ
4.1) ช่องที่มีอยู่เดิม จำนวน 16 ช่อง ประกอบด้วย
1) ช่องทีวีสาธารณะ 4 ช่อง
คือ ช่อง 5 , ช่อง 11 , ช่อง ThaiPBS และช่อง รัฐสภา
2)ช่องทีวีธุรกิจ 9 ช่อง
เคยเป็นช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว แต่ต้องการฐานสมาชิกผู้รับชมเพิ่มเติม และต้องการรับสิทธิการจัดเรียงช่องจึงต้องไปเสียเงินประมูลช่องรายการให้กับ กสทช. เพิ่มเติม (เดิมที่เป็นช่องดาวเทียมไม่ต้องเสีย) เช่น ช่อง Workpoint TV , Nation Channel , RS 8 , One , New TV , Spring News , Voice TV , NOW , TNN 24
3) ช่องฟรีทีวีเดิม 3 ช่อง คือ ช่อง 3 , ช่อง 7 และช่อง MCOT (ช่อง 9)
4.2) ช่องที่เกิดขึ้นใหม่จริงๆ
มีเพียง 12 ช่อง เช่น ช่อง ไทยรัฐทีวี , Amarin TV , PPTV , CH 3 Family , MCOT Family , LOCA , ไทยทีวี , Bright TV , True4U , GMM Channel , CH 3 SD , Mono เป็นต้น ส่วนช่อง 3,7,9 เป็นช่องที่มีอยู่เดิมแล้ว ในจำนวนช่องที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มี 2 ช่องที่ปิดตัวเองไปแล้ว เพราะไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้ คือช่อง LOCA และช่อง ไทยทีวี ซึ่งทั้ง 2 ช่องยังมีปัญหาอยู่ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้ปิด แต่ต้องการให้เปิดต่อ หรือถ้าไม่เปิดต่อก็ต้องจ่ายค่าประมูลให้ครบ ถ้าจ่ายไม่ครบ ก็ต้องยึดหลักประกัน และฟ้องล้มละลาย
4.3) ช่องที่ยังไม่เกิด
เป็นช่องทีวีสาธารณะ 8 ช่อง รายละเอียด กสทช. ยังไม่ได้กำหนด
2) กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่าย ( PlatForm)
คือกลุ่มผู้ให้บริการระบบโทรทัศน์ในรูปแบบ เสาก้างปลา จานดาวเทียม สายเคเบิล เป็นต้น ผู้ให้บริการโครงข่าย สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
2.1) กลุ่มผู้ขายเสาก้างปลาระบบ Analog
ได้แก่กลุ่มบริษัท สามารถ และรายย่อยอื่น ที่เป็นผู้ผลิตเสาก้างปลาขายให้กับประชาชน ในปัจจุบันคงรับสภาพแล้วว่า การผลิตเสาก้างปลาเพื่อรับชมช่องฟรีทีวีในระบบ Analog 6 ช่องคงหมดยุคไปแล้ว ตั้งแต่มีจานดาวเทียม และเมื่อมีทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล รวมทั้ง กสทช. เข้ามาแจกฟรี กลุ่มผู้ผลิตเสาก้างปลาขนาดใหญ่ ก็น่าจะหมดไปในเร็วๆนี้
2.2) ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
2.2.1) กลุ่มผู้ขายจานดาวเทียมแบบ Free TV
เช่น PSI , Big4 , IPM และจานดาวเทียมอื่นๆ กลุ่มนี้เดิมถือเป็นโครงข่ายที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ในการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ เป็นโครงข่ายที่เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนการใช้เสาก้างปลา ที่รับชมช่องฟรีทีวี 6 ช่อง เติบโตขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 และสามารถครองตลาดผู้ชมส่วนใหญ่ได้ในช่วงปี 2550 เนื่องจากจานดาวเทียมมีราคาถูกลง และรับชมช่องรายการได้มาก
ด้วยฐานสมาชิกที่มาก และสามารถให้บริการได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว , พม่า , เขมร , เวียตนาม และจีนตอนใต้ ทำให้ตลาดเกิดการเติบโต ทั้งการขายจานดาวเทียม และยอดผู้รับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทำให้กลุ่มผู้ขายจานดาวเทียมเกิดอำนาจต่อรองในการจัดวางตำแหน่งช่องรายการ เพื่อความสะดวกของผู้รับบริการ จากเดิมที่เคยมีรายได้จากการขายจานดาวเทียมเพียงอย่างเดียว ต่อมาสามารถมีรายได้จากการจัดเรียงตำแหน่งช่อง รวมทั้งการผลิตช่องรายการขึ้นมาเองเพื่อขายโฆษณา ทำให้เกิดการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจานดาวเทียม ด้วยการลดราคาการติดตั้งจานดาวเทียมลงมาจนแทบไม่เหลือกำไร เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดที่สูงขึ้น จะได้มีรายได้จากการจัดเรียงตำแหน่งช่องมาทดแทนกำไรที่ลดลงจากการขายจานดาวเทียมได้
แต่เมื่อ กสทช. ออกกฎ Must Carry และกฎการจัดเรียงตำแหน่งช่อง 1-36 เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางใจกลุ่มผู้ขายจานดาวเทียม เพราะคำสั่งดังกล่าว เท่ากับเป็นคำสั่ง ม. 44 เพื่อยึดทรัพย์ (ตำแหน่งช่อง) ของกลุ่มจานดาวเทียม โดยที่กลุ่มจานดาวเทียมไม่ได้ทำอะไรผิด ทั้งๆที่โครงข่ายดังกล่าว กลุ่มดาวเทียมเป็นผู้ลงทุน เป็นผู้สร้างขึ้นมาด้วยตนเอง เพียงแต่ กสทช. เห็นว่า เมื่อกลุ่มจานดาวเทียมตกเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของ กสทช. แล้ว กสทช. จะทำอะไรก็ได้ เพราะหากไม่ยอม กสทช. ก็จะยึดใบอนุญาต ไม่ให้ประกอบกิจการอีกต่อไป
เงินค่าจัดเรียงตำแหน่งช่องดังกล่าว กสทช. อยากได้เป็นของตนเอง จึงมีคำสั่งยึดเอาไป ตามกฎ Must Carry และกฎการจัดเรียงตำแหน่งช่อง ทำให้กลุ่มจานดาวเทียมสูญ เสียรายได้ค่าจัดเรียงตำแหน่งช่องรายการไปให้กับ กสทช. โดย กสทช. เอาตำแหน่งช่องที่ยึดไปได้ ไปเปิดประมูลขายต่อให้กับกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลแทน โดยไม่ต้องเสียต้นทุนใดๆ ซึ่งเป็นที่มาของเงินค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ ที่เพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาทนั้นเอง เพราะ 35,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นทรัพย์สินของกลุ่มโครงข่ายจานดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่น ที่ กสทช. ยึดมาได้ดังกล่าว
เมื่อกลุ่มดาวเทียมไม่มีทางเลือก เพราะกำไรจากการขายกล่องดาวเทียมไม่มีแล้ว รายได้จากการจัดเรียงตำแหน่งช่องก็ไม่มี ทำต่อไปก็จะมีแต่ขาดทุน จึงต้องปิดโรงงาน ลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุน คงเหลือไว้แต่แผนกบริการเพื่อผลิตอุปกรณ์ที่เสื่อมคุณภาพตามเวลา ขายให้กับลูกค้าเก่า โดยไม่ต้องคิดทำตลาดใหม่ เวลาที่เหลือก็ไปทำใจ เข้าวัดฟังธรรม เพื่อทำจิตใจให้สงบ พายุ กสทช. ผ่านไปเมื่อไร ค่อยว่ากัน อีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เผื่อ กสทช. ชุดใหม่จะมีความยุติธรรมกว่าชุดเก่า คงต้องหวังน้ำบ่อหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนคนไม่มีจุดหมาย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร "เซ็ง"
2.2.2) กลุ่มผู้ขายจานดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิก
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มจานดาวเทียมที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังจากที่มี กสทช. คือกล่อง GMMZ และ กล่อง SunBox ซึ่งเป็นกล่องจานดาวเทียมแบบมีระบบ บริการขายช่องรายการให้กับสมาชิกเพิ่มเติม หลังจากที่รับชมช่องรายการแบบ Free To Air แต่โครงการนี้ไปไม่รอด ทั้งกล่อง GMMZ และกล่อง SunBox จึงกลายเป็นกล่องดาวเทียมธรรมดา และไม่น่าจะมีการทำตลาดเพิ่มเติม เหลือเพียงทำอย่างไรจึงจะขายของที่ค้าง Stock ให้หมดไป โดยเจ็บตัวน้อยที่สุด
2.3) ผู้ประกอบกิจการโครงข่าย Pay TV
2.3.1) กลุ่ม True Vision
ในช่วงแรกของการเกิด กสทช. ดูเหมือนว่ากลุ่ม True Vision น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะในอดีต การให้บริการเคเบิลทีวี True Vision เป็นเพียงผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติรายเดียวที่สามารถประกอบกิจการได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเกิด กสทช. ขึ้นจึงมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติออกมาโดยไม่จำกัด เพื่อเป็นคู่แข่งของ True Vision ซึ่งไม่มากก็น้อย ฐานสมาชิกเดิมของ True Vision จะต้องถูกแบ่งออกไปแน่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ CTH ที่เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติ ที่น่าจะมีกำลังภายใน และกำลังทรัพย์ไกล้เคียงกัน เข้ามาเป็นคู่แข่ง
แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดี เมื่อ CTH แย่งประมูลลิขสิทธิ์ Premier League ไปได้ในราคากว่า 10,000 ล้านบาท/3 ปี ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปจนทำให้ CTH ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ขณะที่ True Vision เคยมีต้นทุนเพียง 3,000 ล้านบาท/3ปี ซึ่งหากในทางกลับกัน หากในฤดูกาลที่ผ่านมา True Vision ประมูล Premier League ไปได้ในราคา 8,000-10,000 ล้านบาท โดย CTH ไม่สู้ สถานะการณ์ CTH อาจไม่เป็นเช่นทุกวันนี้ และสถานะการณ์ทางการเงินของ True Vision ก็น่าจะไม่ดีเช่นนี้
การแย่งซื้อลิขสิทธิ์ Premier League ของ CTH ได้ทำให้ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ของ True Vision ลดลงไปมาก ในขณะที่ฐานสมาชิกมีเท่าเดิม และเรียกเก็บค่าบริการได้เหมือนเดิม ประกอบกับคู่แข่งที่สำคัญคือ CTH และ GMMZ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในธุรกิจ Pay TV ทำให้เหลือ True Vision เพียงรายเดียวที่สามารถเลือกซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการจากต่างประเทศได้ อำนาจต่อรองในการเจรจาซื้อช่องลิขสิทธิ์จึงสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในปีนี้ True Vision สามารถต่อรองซื้อช่อง Premier League จากกลุ่ม bein Sport ได้ ซึ่งเชื่อแน่ว่า กลุ่ม bein Sport ต้องขายให้ True Vision ในราคาที่ต่ำกว่าที่ประมูลได้ อย่างแน่นอน และ True Vision ยังสามารถเอาช่อง bein Sport มาคิดค่าบริการจากสมาชิกเพิ่มได้อีกต่างหาก ทั้งๆที่ในอดีตมีรายการ Premier League อยู่ใน Package ของ True Vision อยู่แล้ว งานนี้หาก กสทช. มองว่า True Vision ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะสมาชิก True Vision หมดทางเลือกแล้ว จะเอาอย่างไรก็ต้องตามใจ True Vision ก็แล้วกัน
สถานะการณ์ของ True Vision ในช่วงนี้จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ จากการเกิดขึ้นของ กสทช. เป็นอย่างมาก แทนที่จะตกเป็นผู้เสียผลประโยชน์ตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น ทั้งนี้ยังไม่รวม ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ไม่ต้องแบ่งรายได้ 6% ของรายรับให้กับค่าสัมปทานที่ได้จาก MCOT โดยมาเสียให้กับ กสทช. เพียง 2% ทำให้ต้นทุนค่าสัมปทานลดลงไปอีก 3 เท่า
2.3.2) กลุ่ม CTH
ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เมื่อเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกันชา คำสุภาษิตนี้ น่าจะพอใช้ได้กับ CTH เพราะจากสถานะการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2555 เป็นสถานะการณ์ที่ CTH ได้เปรียบที่สุด เพราะสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ Pay TV ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แถมได้เคเบิลท้องถิ่นมาเป็นพันธมิตร ได้ไทยรัฐมาเป็นผู้ร่วมทุน สามารถประมูล Premier League ได้ สามารถหาแหล่งเงินทุน 14,000 ล้านจากธนาคารกรุงเทพ และสามารถซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการระดับโลกได้อีกหลายช่อง ทำให้โอกาสในการทวงแชมป์กิจการ Pay TV จากกลุ่ม True Vision มาได้อย่างไม่น่าจะยากเย็น จนในช่วงปี 2556 กลุ่ม True Vision ต้องรู้สึกหนาวเป็นครั้งแรก หลังจากที่ประกอบกิจการมานาน โดยไม่เคยรู้สึกว่าจะมีใครมาเป็นคู่แข่งอีก
แต่ด้วยบุญบารมี หรือด้วยเวรกรรมอะไรไม่ทราบ CTH กลับสะดุดขาตัวเองล้มปากแตก เมื่อไปหาหมอ ด้วยความเป็นคนประหยัดจึงไปหาหมดตี๋ หมอตี๋จึงให้กินแต่ยาพาราแก้ปวดอย่างเดียว โดยไม่ฉีดยาฆ่าเชื้อ ทำให้เกิดเป็นแผลติดเชื้อ ลุกลามเข้าไปในกระแสเลือด หมอจึงต้องทะยอยตัดแขน ตัดขา เพื่อรักษาชีวิต แต่สุดท้ายก็จำเป็นต้องยิงตัวตาย เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหวในวันที่ 1 กันยายน 2559 สิริอายุรวมได้ 5 ปี
การตายของ CTH เป็นการตายที่ True Vision ไม่ได้ทำอะไร เพียงแค่รักษารูปมวย เต้นไปรอบๆเวที แล้ว CTH ก็สะดุดขาตัวเองล้มปากแตกเอง งานนี้ CTH โทษใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น True Vision หรือ กสทช. ส่วน True Vision คงต้องไปขอบคุณ กสทช. ที่ส่ง CTH มาเป็นคู่แข่ง แม้ตอนแรกจะน่ากลัว แต่สุดท้าย True Vision ก็ได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้น และดับไปของ CTH แบบเต็มๆ
2.3.3) กลุ่ม เคเบิลท้องถิ่น (LCO)
เป็นกลุ่มผู้ประกอบกิจการ Pay TV ขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่ให้บริการในระบบ Analog ในอดีตก่อนที่จะมี กสทช. ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเคยได้รับผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มจานดาวเทียม ที่ให้บริการระบบ Digital ที่มีช่องรายการกว่า 200 ช่อง และไม่ต้องเสียค่าบริการเป็นรายเดือน แต่เคเบิลท้องถิ่นก็สามารถแข่งขันได้ เพราะการติดตั้งจานดาวเทียม ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,500-3,000 บาท และภาพหายเมื่อฝนตกหนัก และการแข่งขันเป็นไปอย่างเสรี ไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ ทำให้เกิดการประบตัว จนเคเบิลท้องถิ่น และจานดาวเทียมสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีผู้ใช้บริการเป็นผู้เลือก
แต่เมื่อเกิด กสทช. ประชาชนสามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอล 36 ช่องได้ด้วยความคมชัดในระบบ SD และ HD ที่สำคัญ กสทช. เข้ามาแทรกแซง โดยการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนเอาไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 ได้ฟรี งานนี้เคเบิลท้องถิ่นได้รับผลกระทบหนัก แต่ที่หนักกว่าคือ กฎ Must Carry ที่ กสทช. เข้ามาแทรกแซงโดยการ บังคับให้เคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ Analog 60 ช่อง จะต้องนำเอาช่องทีวีดิจิตอล 36 ช่องไปเผยแพร่ทั้งหมด ทำให้เคเบิลท้องถิ่นจำเป็นต้องถอดช่องรายการลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาเพื่อให้บริการกับสมาชิกเป็นการเฉพาะออกเพื่อเอาช่องทีวีดิจิตอลเข้าไปแทนที่ ทำให้คุณภาพช่องรายการของเคเบิลท้องถิ่นลดลง และที่หนักว่านั้นคือ บังคับให้เคเบิลท้องถิ่นจะต้องจัดผังตำแหน่งช่องรายการใหม่เพื่อให้ตรงตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งทำให้สมาชิกไม่สะดวก และไม่พอใจ ในการรับชมช่องรายการ ผลกระทบเหล่านี้ ทำให้สมาชิกเคเบิลท้องถิ่นยกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะช่องรายการที่ให้บริการแทบจะไม่แตกต่างจาก ทีวีดิจิตอล หรือทีวีผ่านดาวเทียม ที่ไม่ต้องเสียค่าบริการเป็นรายเดือน และไม่ได้รับความสะดวกในการรับชมเลขช่อง
กฎต่างๆ ที่ กสทช. ออกมาเพื่อบังคับให้เคเบิลท้องถิ่นปฎิบัติ เป็นการแทรกแซง เพื่อลดความสามารถในการแข่งขันของเคเบิลท้องถิ่นลง จนทำให้ผู้ประกอบกิจการหลายรายจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแข่งขันกับโครงข่ายประเภทอื่นๆได้ หากสถานะการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงเชื่อว่า ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบ Analog จะต้องหมดสิ้นไปจากประเทศไทยแน่ จากนั้นผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการระบบ Digital ก็จะทะยอยปิดกิจการตามไปด้วย เพราะไม่มีช่องรายการลิขสิทธิ์มาให้บริการกับสมาชิก และไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำมาสนับสนุนช่องข่าวท้องถิ่น ที่ไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้
2.4) กลุ่มผู้ผลิตกล่องทีวี Digital DVB-T2
กลุ่มนี้เมื่อเริ่มโครงการ น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะไม่ต้องทำการตลาด และประชาชนผู้ซื้อทีวีดิจิตอล DVB-T2 ก็ไม่ต้องใช้เงินของตนเองซื้อเพราะได้รับแจกคูปองมูลค่า 690 บาท จาก กสทช. เพื่อนำไปแลกซื้อจำนวน ถึง 22.9 ล้านกล่อง
ตามหลักทั่วไป หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ กสทช. กำหนด การขายกล่องทีวีดิจิตอล 22.9 ล้านกล่องไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ผู้ผลิตกล่องทุกรายน่าจะร่ำรวยไปตามๆกัน หลังจากนั้น ประชาชนจะต้องมาซื้อกล่องทีวีดิจิตอลเพิ่มเติมเพราะในบ้านน่าจะมีโทรทัศน์มากกว่า 1 เครื่อง ดังนั้นการขายกล่องทีวีดิจิตอลในทางปฎิบัติ น่าจะสามารถขายได้มากกว่า 30 ล้านกล่อง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ใครจะได้โควต้าขายกล่องได้มากกว่ากัน ใครได้มากน่าจะรวยมาก ใครได้น้อยก็น่าจะรวยน้อย
แต่เมื่อมีการทำในทางปฎิบัติกลับปรากฎว่า เมื่อประชาชนได้รับคูปองไปแล้ว กลับไม่นำไปแลกซื้อ ทั้งนี้เพราะกล่องดาวเทียมที่อยู่ที่บ้านสามารถรับชมช่องทีวีดิจิตอลได้ครบทุกช่องอยู่แล้ว และยังมีช่องดาวเทียมเดิมอีกนับร้อยช่อง ใครจะยอมเปลี่ยนเอากล่องดาวเทียมออกเพื่อไปติดกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 ของ กสทช. ด้วยเหตุผลว่า ได้มาฟรี ดังนั้นคนที่จะเอาคูปองไปแลกซื้อจึงมีเพียงคนที่ใช้เสาก้างปลาที่มีจำนวนประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ที่เหลือจึงไม่มีใครเอาคูปองไปแลก กล่องทีวีดิจิตอลที่ผู้ผลิต ผลิตขึ้นมาจึงขายไม่ออกเหลือเป็น Stock อยู่เต็มโกดัง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อได้คูปองมา กว่าจะนำไปขึ้นเงินกับ กสทช. ได้ต้องผ่านด่าน 18 อรหันต์ ผ่านได้แล้วก็ยังขึ้นเงินไม่ได้ เพราะติดขั้นตอนกระบวนการเบิกเงิน จนดิวการจ่ายเงินให้ Supplier เกินกำหนด ไม่มีเงินจ่าย Supplier เกิดการยืดเวลา คิดดอกเบี้ย รวมทั้งเบี้ยวการจ่ายเงิน หลายรายเสียเครดิต แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปตอแยกับ กสทช. ในกรณีที่ท่านยังไม่จ่ายเงินให้ เพราะท่านจะจ่ายเมื่อใดก็แล้วแต่ความกรุณาของท่าน หากไปโวยวายท่านมาก ท่านก็ตรวจเอกสารแบบละเอียด เงินก็จ่ายไม่ได้ กลายเป็นลูกไก่อยู่ในกำมือ กสทช. จะสังเกตุได้ว่า ใครๆก็ฟ้อง กสทช. แต่กลุ่มผู้ผลิตกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 ไม่ยอมฟ้อง ไม่ใช้เพราะไม่มีปัญหา แต่ไม่กล้ามีปัญหา เพราะถ้ามีปัญหา การจ่ายเงินเมื่อเอาคูปองไปเบิกเงิน ก็จะยาวมากขึ้น เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
2.5) กลุ่มดาวเทียมไทยคม
ในบรรดาคนที่โชคดี กลุ่มดาวเทียมไทยคม น่าจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของ กสทช. เพราะมีช่องรายการเพิ่มขึ้น 36 ช่อง ทุกช่องจะต้องมาเช่าดาวเทียมไทยคม แต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้บริการช่องทีวีดิจิตอลผ่านระบบจานดาวเทียม ทั้งระบบ Ku-Band และระบบ C-Band งานนี้ไม่ให้รวยวันนี้แล้วจะไปรวยวันไหน เพราะเป็นคนขายผูกขาดเพียงรายเดียวในประเทศไทย แถมเกิดการแข่งขันในกลุ่มจานดาวเทียมทั้ง True Vision , GMMZ และ CTH จะต้องมาแย่งเช่าช่องดาวเทียม จนไทยคมไม่มีช่องดาวเทียมให้เช่า จน CTH จำใจต้องหันไปเช่าดาวเทียม Venasat ของเวียตนามแทน
จากที่ได้อธิบายมา คงเป็นมุมมองเพียงสังเขปของผู้เขียนเอง อาจผิดหรือถูกก็ได้ ขอให้รับไว้เพื่อพิจารณาเป็นข้อมูลในทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นในภาพรวมในมุมมองของผู้เขียนว่า วงการโทรทัศน์ไทยในวันนี้ ยังสบายดีอยู่หรือเปล่า ใครสบายมาก ใครสบายน้อย ใครไม่สบาย ใครกำลังจะตาย และใครตายไปแล้ว เพื่อผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาวงการโทรทัศน์ไทยต่อไป หากบทความไปกระทบ หรือพาดพิงถึงท่านใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมบวก สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจเป็นความปรารถดีของ กสทช. ที่ตั้งใจจะทำการ Set Zero ให้กับวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย เพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่ เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต หลายคนคงอยากติดตามดูผลงานของ กสทช. ชุดนี้ว่า ในอนาคตวงการโทรทัศน์ไทย จะเป็นอย่างไร ภายใต้การทำงานของ กสทช. ชุดนี้ ขอเพียงอย่างเดียว อย่าให้ต้องรอดูผลงานของท่านนานเกินกว่า 30 ปี เพราะผู้เขียนอยากเห็นผลงานของท่านก่อนตาย และจะได้เขียนบทความขอบคุณท่าน ที่ได้สร้างคุณุปการดีๆ ไว้ให้กับวงการโทรทัศน์ไทย