"ล้มโต๊ะแล้วเริ่มใหม่" ข้อเสนอพูดคุยดับไฟใต้ของ "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ"
มีมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรัฐบาลกำลังตั้งโต๊ะพูดคุยอยู่กับกลุ่มมารา ปาตานี โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
มุมมองนี้เป็นของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ว.นครราชสีมา และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
สาเหตุที่บอกว่าน่าสนใจก็เพราะ อาจารย์ไกรศักดิ์ เคยจัดกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเขาเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยด้วย โดยมี ดร.มารค ตามไท เป็นหัวหน้าทีม
แน่นอนว่าอาจารย์ไกรศักดิ์ไม่ได้ค้านการพูดคุยเจรจา เพราะตัวเองก็เคยจัดกระบวนการเช่นกัน และลงมือพูดคุยเองด้วย แต่สิ่งที่เขาตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ก็คือ “ตัวบุคคล” หรือ “กลุ่ม” ในขบวนของผู้เห็นต่างที่รัฐบาลไทยเลือกคุย รวมถึง "วิธีการพูดคุย" ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือลดเหตุรุนแรงได้จริง และมองเห็นแนวโน้มของสันติภาพ
แม้หลายคนจะพยายามพูดว่า เมื่อเริ่มพูดคุยเจรจา ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงต้องลดลงทันที แต่ในทางกลับกันความรุนแรงยังต้องมีต่อไป บางคนถึงขนาดบอกว่า “ยิ่งคุยยิ่งระเบิด” ด้วยซ้ำ
แต่ในมุมมองของอาจารย์ไกรศักดิ์ดูจะสวนทาง โดยมีเหตุผลรองรับคือเรื่องของ “ตัวบุคคล” ที่เลือกคุย และ “วิธีการ” ที่เลือกใช้
แม้บทสัมภาษณ์นี้จะเกิดขึ้นก่อนการนัดหมายพูดคุยเที่ยวล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.59 ระหว่างคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยกับกลุ่ม มารา ปาตานี แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว มีการพยายามสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการพูดคุยเหมือนการนัดหมายพูดคุยครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า ฉะนั้นมุมมองของอาจารย์ไกรศักดิ์ จึงยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อยู่
“กระบวนการเจรจา (เป็นคำที่อาจารย์ไกรศักดิ์เลือกใช้) ที่ทำกันปัจจุบันนี้ รัฐบาลชุดนี้ได้สืบนโยบายการเจรจามาจากรัฐบาลชุดคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้มีการเจรจาอย่างค่อนข้างเป็นทางการกับทางฝ่าย กระบวนการมาเลย์ (หมายถึงกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ) ซึ่งการเจรจาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นการเจรจาที่ไม่เป็นจริงตั้งแต่แรก”
อาจารย์ไกรศักดิ์ เปิดประเด็นแบบฟันธง ก่อนจะอธิบายต่อ
“ที่บอกว่าไม่เป็นจริงตั้งแต่แรก เพราะเป็นการเจรจาที่เข้าใจตรงกันหมดแล้วว่า คุณทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกฯยิ่งลักษณ์ ไปขอให้รัฐบาลมาเลเซียช่วยดำเนินการ แต่ไม่เป็นจริงเพราะกลุ่มที่มาเจรจาไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือตัวแทนของอาร์เคเคในปีกทหารของกระบวนการมาเลย์ แต่เป็นอดีต เป็นคนเก่าที่ออกมาจากกระบวนการมาเลย์แล้ว และกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้เขาไม่เอาแล้ว แต่รัฐบาลมาเลเซียไปจัดสรรมา เพื่อให้มาเจรจากับไทย”
อาจารย์ไกรศักดิ์ มองว่า หากเจรจาถูกตัว และถูกวิธี การโหมก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่มีการเจรจาไม่ควรเกิดขึ้น
“จะสังเกตได้ว่าในวันที่ประกาศเจรจา มีการระเบิดหลายสิบจุดในวันเดียวกัน มันเป็นสัญลักษณ์แล้วว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่จัดขึ้น ผิดกับในสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และทำต่อเนื่องมา การโจมตีลดลงมาก เดือนหนึ่งจะมีสักครั้ง”
นัยแห่งความหมายเรื่องสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงมากในทัศนะของอาจารย์ไกรศักดิ์ ก็คือปริมาณการโจมตีในบางพื้นที่ที่คู่เจรจากำหนดร่วมกันว่าจะลดเหตุรุนแรง หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น “พื้นที่หยุดยิง” ซึ่งมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน และได้รับการยืนยันตรงกันจากหลายฝ่าย (เช่น กองบัญชาการตำรวจสันติบาลในยุคนั้น) ว่า การพูดคุยในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งดำเนินการในทางลับ เดินหน้าไปถึงขั้นกำหนดพื้นที่หยุดยิงร่วมกันจริง แต่ทุกอย่างต้องล้มเลิกไปเมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ดังที่เกริ่นตั้งแต่ต้นว่า อาจารย์ไกรศักดิ์ ไม่ได้คัดค้านการพูดคุยเจรจา เพียงแต่ต้องมีความชัดเจนเรื่อง “ตัวบุคคล” และ “วิธีการ” ฉะนั้นเขาจึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาลคสช.
“ผมคิดว่าทางฝ่ายข่าวกรองของรัฐ และฝ่ายความมั่นคง ควรเลิกการประชุมที่ทำอยู่ (หมายถึงการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับกลุ่มมารา ปาตานี) แล้วเริ่มใหม่ การเจรจาที่จะเริ่มใหม่ควรมีจุดประสงค์คือลดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย และต้องให้ความปลอดภัยกับผู้ที่เข้ามาเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก”
ข้อเสนอแรกเรื่องลดความรุนแรง ดูท่าทีของรัฐบาลคสช.กำลังเร่งผลักดันอย่างขะมักเขม้น แต่เรื่องให้ความปลอดภัยกับผู้เห็นต่างที่ร่วมโต๊ะเจรจา ดูจะยังไม่มีความคืบหน้า และเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลคสช.ยอมรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่อาจารย์ไกรศักดิ์เห็นว่ามีความสำคัญ และเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน
ล้มโต๊ะแล้วเริ่มใหม่...ข้อเสนอนี้แรงเกินไป หรือสายเกินไปแล้วหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
1 *ญาดา จักรไชย เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
2 บทสัมภาษณ์นี้เรียบเรียงโดยทีมข่าวอิศรา