"รับได้หรือไม่อยู่ที่ชดเชย?" เสียงสะท้อนจากทุ่งรับน้ำ!
ภายหลังเผยหน้าตาแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งกำหนดพื้นที่รองรับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ตรวจสอบความคิดเห็นคนบางส่วนใน 20 ทุ่งรับน้ำ
....................
เสียงจากทุ่งรับน้ำนครสวรรค์
นครสวรรค์ จุดเริ่มต้นเส้นทางไหลแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ แต่ละปีชาวบ้านร้านช่องแทบกระอัก เพราะต้องทนกับสภาวะน้ำท่วมซ้ำซากมาชั่วนาตาปี ครั้งนี้ กยน.ขีดปากกาลงบนแผนที่กำหนดให้7 ทุ่งให้มีการผันน้ำเข้าจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน บึงบอระเพ็ด ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ลุ่มโกรกพระฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 559,289 ไร่ ความจุน้ำ 2,124 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)เป็นพื้นที่รับน้ำ
สันติ จันทร์เผิบ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครสวรรค์ กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่รับน้ำ จ.นครสวรรค์ ต้องระบายน้ำลงทุ่งพื้นที่ราบลุ่มเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านท้องถิ่นกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว เพียงไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ไม่สนับสนุนให้ระบายน้ำลงพื้นที่ราบสูง เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
สันติ กล่าวต่อว่า การจัดทำพื้นที่รับน้ำให้มากขึ้นนั้น จำเป็นต้องบูรณะเพิ่มเติม โดยอาศัยหลักความเป็นจริงของสภาพพื้นที่ เชื่อว่าสามารถทุเลาเรื่องน้ำท่วมได้ เพราะหากมีการปล่อยน้ำไปตามธรรมชาติ แม้น้ำจะไหลลงทะเลรวดเร็ว แต่ความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจอาจเพิ่มสูงขึ้น ส่วนเรื่องค่าชดเชยนั้น ภาครัฐควรไตร่ตรองเบิกจ่ายอย่างรอบคอบและตรงตามสภาพความเสียหายจริง หากทำได้ไม่มีชาวบ้านคนใดโวยรัฐบาลแน่นอน
“ขณะที่กระแสการเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาทำพื้นที่รับน้ำนั้น คงมีชาวบ้านคัดค้านและเห็นด้วย ภาครัฐว่าจะสื่อสารอย่างไรกับคนในท้องถิ่นให้เข้าใจและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน แต่สำหรับตนเห็นว่า การเวนคืนจำเป็นในพื้นที่บางจุดเท่านั้น ซึ่งต้องศึกษาให้ดีและไม่จำเป็นต้องรีบร้อน” หัวหน้า ปภ. อบจ.นครสวรรค์กล่าว
เสียงจากทุ่งรับน้ำอ่างทอง
อ่างทองเมืองพระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ปีที่ผ่านมาชาวบ้าน 35,327 รายได้รับความเดือดร้อน พื้นที่การเกษตรเสียหายหลายพันไร่ ครั้งนี้ กยน.ประกาศจะใช้พื้นที่ 2 ทุ่ง คือ ทุ่งลาดกระเทียม/ห้วยจระเข้ และทุ่งวิเศษชัยชาญ 66,900 ไร่ ความจุน้ำ 107 ล้าน ลบ.ม.ทำเป็นพื้นที่รับน้ำ
สุรเชษฐ นิ่มสกุล นายก อบจ.อ่างทอง แสดงความเห็นว่าพื้นที่ในอ่างทองปกติน้ำท่วมทุกปี แต่ปีที่ผ่านมารุนแรง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจะทำแก้มลิง อบจ.ไม่ขัดข้องและเชื่อว่าชาวบ้านจะเห็นด้วยถ้าแก้ปัญหาได้จริง แต่รัฐบาลต้องแจ้งรายละเอียดให้ทราบ เพื่อเกษตรกรจะได้เตรียมตัวหรือปรับตัวในการทำการผลิตได้ทันท่วงที อีกทั้งต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่ไหน ขนาดเท่าไหร่และอย่าให้มีผลกระทบกับชาวบ้านและพื้นที่การเกษตร
เสียงจากทุ่งรับน้ำสิงห์บุรี
สิงห์บุรีถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำ 2 ทุ่ง คือ ทุ่งดอนกระต่ายและทุ่งบางระจัน 164,374 ไร่ ความจุน้ำ 394 ล้าน ลบ.ม.
บุญแทน สว่างเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่บางกระบือโตมากับแม่น้ำ เรื่องน้ำท่วมไม่หนักใจ ถ้ารัฐบาลจะนำพื้นที่ไปใช้ ชาวบ้านไม่คัดค้าน แต่ต้องทำทั้งระบบ ทำทุกพื้นที่ อย่าให้ไปหนักจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง เพราะจะไม่ต้องเสียงบประมาณมากมายมาแก้ปัญหาภายหลัง
“ผมเห็นด้วยกับแก้มลิง มันลดความรุนแรงกระแสน้ำ มีที่ทางให้ไหลไปหาแม่น้ำลำคลอง น้ำท่วมมาเพียงช่วงระยะเวลาเดียว ความเสียหายก็มีน้อย ไม่มีน้ำท่วมขัง พืชบางชนิดที่สามารถจะทนน้ำได้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็มีชีวิตอยู่ได้ รัฐบาลต้องประกาศเรื่องการปลูกข้าวให้เป็นเรื่องเป็นราวว่าช่วงไหนทำได้ ช่วงไหนควรหยุด ถ้าทำได้รับรองว่ากรุงเทพฯไม่เดือดร้อน เพราะน้ำจะถูกรีดลงแม่น้ำลำคลองในเวลาไม่นาน”
เสียงจากทุ่งรับน้ำลพบุรี
ลพบุรี เมื่อปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะสะบักสะบอมไม่น้อยไปกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะอำเภอท่าวุ้งที่ผืนนาเฉียดหมื่นไร่ต้องกลายเป็นทะเลสาบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ครั้งนี้ กยน.กำหนดให้ 2 ทุ่งรับน้ำ คือ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 101971 ไร่ ความจุน้ำ 176 ล้าน ลบ.ม. แต่คงไม่ง่ายนักเพราะชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวต่อฝันร้ายที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่เดือน
เพ็ญศรี ทรัพย์ทวี ประธานชุมชนเพชรพัฒนา เทศบาล ต.ท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ทุ่งท่าวุ้งเป็นพื้นที่รับน้ำ เนื่องจากประสบการณ์ปลายปี 54 ชาวบ้านเดือดร้อนจากอุทกภัยมากจนไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ บ้านเรือนเกิดความเสียหาย อันเกิดจากสาเหตุกักการระบายน้ำตามนโยบายภาครัฐ
“ควรระบายน้ำตามธรรมชาติ เพราะสามารถช่วยให้น้ำไหลเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดพื้นที่รับน้ำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ที่สำคัญชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ แม้จะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐก็ไม่คุ้ม แต่หากจำเป็นจริงก็ต้องยอม จะได้ป้องกันพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งนายกฯต้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเอง และกำหนดแผนการชดเชยความเสียหายอย่างชัดเจน เพื่อมาพัฒนาพื้นที่รับน้ำ” ประธานชุมชนเพชรพัฒนา กล่าว
เสียงจากทุ่งรับน้ำอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุดท้ายที่เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถูกกำหนดให้มีพื้นที่รับน้ำ 6 ทุ่ง คือ ทุ่งกุฎี-ผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งเสนาเหนือ-ใต้ ทุ่งเชียงราก ทุ่งลาดบัวหลวง-ทุ่งไผ่พระ ทุ่งมหาราช 118,636 ไร่ ความจุน้ำ 447 ล้าน ลบ.ม.
กาญจนา ธุววิทย์ปลัด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อ.บางบาลเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว ซึ่งชาวบ้านท้องถิ่นรับรู้และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตลอด แต่หากมีกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำถาวร น้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ จนสร้างความเดือดร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงควรทำสัญญาประชาคมระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้าน เพื่อกำหนดหลักการบริหารจัดการ รวมถึงขั้นตอนการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม จะได้ไม่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลัง
………………
คือเสียงสะท้อนจากคนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สะกิดเตือนรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย ว่าถึงที่สุดแล้วคนที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม หรือผลกระทบของอภิมหาโปรเจคจัดการน้ำ คือชาวบ้านไม่ใช่รัฐมนตรีหรือ กยน. เพราะที่นี่คือบ้านของเขา!!